ที่มารูป: http://metro.co.uk

2 มีนาคม 2016

เมื่อแปดปีที่แล้วลูกสาวของจูลี ดีนถูกรังแกที่โรงเรียน ในฐานะแม่ จึงเป็นหน้าที่ที่ต้องจัดการ เธอบอกลูกว่าไม่ต้องกลับไปที่โรงเรียนเดิมอีกต่อไป แต่จะหาโรงเรียนใหม่ที่ดีที่สุดให้ โชคดีที่มีโรงเรียนพิเศษในเมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีราคาแพงมาก ดีนต้องพร้อมจะจ่ายค่าเรียนของลูกๆ ที่แพงลิ่วนี้ให้ได้

จูลี ดีนคิดว่าเป็นโชคดีอีกเช่นกันที่เมื่อคนเรามีความมุ่งมั่น แต่กลับไม่มีตัวเลือกอื่นมากนัก ความมุ่งมั่นจึงผลักดันให้หาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้เธอไม่เคยคิดเลยว่า “จะกลายเป็นผู้นำกระเป๋าหนังคลาสสิกแบบอังกฤษกลับมาสู่แฟชั่นอีกครั้ง!” ความคิดในการทำธุรกิจเกิดขึ้นจากความจำเป็นล้วนๆ โดยเริ่มต้นด้วยเงินออมเพียง 600 ปอนด์ (หรือเทียบเท่ากับประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ) เธอรู้ตัวว่าจะต้องสร้างเงินที่มีอยู่ให้งอกเงยเพียงพอจะส่งลูกทั้งสองไปโรงเรียนเอกชนให้ได้ และในวันนี้: “ดิฉันคือประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเคมบริดจ์ซาท์เชลจำกัด ซึ่งทำยอดขายได้มากกว่า 15 ล้านเหรียญต่อปี”

k83

ที่มารูป: https://businessbites2012.wordpress.com

ที่แน่ๆ คือ ถ้าจูลี ดีนทำได้ ทุกคนก็ทำได้เช่นกัน และนี่คือบทเรียน 4 ข้อที่มีคุณค่ามากที่สุดที่เธอเรียนรู้ช่วงเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองจากศูนย์

1. ต้องชัดเจน และตกผลึกกับความคิด แล้วพร้อมมุ่งหน้าสร้างความคิดนั้นให้เป็นจริงและเกิดผล

จูลี ดีนเริ่มต้นจากความคิด 10 อย่างที่คิดว่าน่าจะสร้างรายได้ที่มากพอ แล้ววิเคราะห์แต่ละความคิดโดยทำตาราง จัดอันดับ และให้คะแนนความคิดแต่ละอย่าง โดยวิเคราะห์จากปัจจัยหลายๆ ด้าน เช่น ต้องใช้เงินทุนเท่าไร จะใช้ระยะเวลาการผลิตเท่าไรจนกว่าจะมีสินค้าพร้อมขาย แล้วจัดอันดับให้แต่ละความคิดทางธุรกิจเป็น “คะแนน” ในที่สุด “satchels” หรือกระเป๋าหนังแบบนักเรียนได้คะแนนสูงสุด จากนั้น เมื่อตัดสินใจได้แล้ว ก็ใส่พลังทั้งหมดที่มีเพื่อเดินหน้าต่อไป

2. กุญแจดอกสำคัญคืออดทน ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคใดๆ

จูลี ดีนยอมรับว่าตัวเองเป็นคนจุกจิกจู้จี้ และหากต้องการข้อมูลใดๆ เธอก็พร้อมจะจี้เอาคำตอบด้วยคำถามร้อยแปด ดูแล้วอาจเป็นบุคลิกที่น่ารำคาญ แต่ก็เป็นประโยชน์เพราะนี่คือจุดแข็งของเธอ ในช่วงแรกที่ดีนมองหาผู้ผลิต เธอโทรศัพท์หาร้านตัดเสื้อผ้าเครื่องแบบนักเรียนที่ขายกระเป๋านักเรียนด้วย แต่ทางร้านไม่ค่อยให้ความร่วมมือ และปฏิเสธที่จะบอกว่าผู้ผลิตกระเป๋าของทางร้านอยู่ที่ไหน แต่ดีนโทรหาที่ร้านทุกๆ 25 นาที แต่ละครั้งก็ถามคำถามทั่วไปเปลี่ยนไปเรื่อยๆ วันรุ่งขึ้นเธอก็โทรอีก จนในที่สุดทางร้านก็ให้หมายเลขผู้ผลิตแก่เธอ ถึงแม้ดีนยอมรับว่าเธอทำตัวน่ารังเกียจและตื้อไม่หยุดหย่อน แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากความอดทนและมุ่งมั่นก็คุ้มค่าจริงๆ 

3. มีทัศนคติที่เป็น “บวก” เสมอ

อย่าเพิ่งย่อท้อหรือถอดใจกับสิ่งที่คิดว่าทำไม่ได้ แต่ให้มุ่งเน้นไปยังเรื่องที่ต้องทำและวิธีการที่คุณจะทำ สำหรับดีนแล้ว เพื่อที่จะสร้างกำไรให้มากขึ้น เธอรู้ว่าการขายเฉพาะในเคมบริดจ์ที่เดียวไม่พอ ต้องมีการขายออนไลน์ด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องมีเว็บไซต์ แต่เมื่อเจ็ดหรือแปดปีที่แล้ว การค้าผ่านอี-คอมเมิร์ชหรือเว็บไซต์สมัยนั้นไม่ได้เป็นเหมือนทุกวันนี้ เวลานั้น ดีนเองก็ทำไม่เป็น แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคอีกเช่นกัน เธอไปเรียนการเขียนโปรแกรมขั้นพื้นฐานมาสามคืนจากหลักสูตรฟรีของไมโครซอฟท์ แน่นอนว่า เว็บไซต์ที่เขียนออกมาไม่ได้สวยงามเลย แต่ก็ใช้งานได้ดีระดับหนึ่ง

ที่มารูป: www.cambridgesatchel.com

4. อย่ากลัวที่จะนำเสนอผลงานออกสู่สาธารณชน   

ควรเตรียมตัวให้พร้อมเสมอสำหรับโอกาสที่อาจเกิดขึ้นในเวลาใดก็ตาม ในช่วงที่ภาพยนตร์เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ถ่ายทำในเมืองเคมบริดจ์ จูลี ดีนคิดว่า “ตัวละครยังเรียนหนังสือกันอยู่ ก็ควรจะมีกระเป๋านักเรียนหนังใช้สิ!” เธอจึงติดต่อไปที่ไพน์วูดสตูดิโอ “ฉันมานำเสนอกระเป๋านักเรียนหนังให้กับภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ภาคใหม่” เธอพูดด้วยความเชื่อมั่นจนพนักงานต่อสายไปยังเจ้าหน้าที่ดูแลอุปกรณ์ประกอบฉากแม้ว่าจะดูเหมือนไม่มีความจำเป็นในการใช้กระเป๋าหนังก็ตาม แต่ดีนก็เล่าธุรกิจของเธอให้ฟัง รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกระเป๋าในเรื่อง สุดท้าย เธอก็ได้ส่งภาพกระเป๋านักเรียนหนังไปให้ดู และลงเอยด้วยอีเมลขอกระเป๋านักเรียน 10 ใบเพื่อใช้ในการถ่ายทำ และนี่คือลูกค้าที่สั่งสินค้าเป็นชุดรายแรกของดีน

จูลี ดีนไม่มีความรู้ทางธุรกิจแม้สักนิดเมื่อเริ่มต้นทำบริษัท แต่ด้วยความจำเป็นและมุ่งมั่น เธอจึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า หากคนเรามีความจำเป็นและความต้องการที่ใหญ่เพียงพอ ก็จะจุดประกายให้เราเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากมายได้อย่างรวดเร็ว

ที่มา: motto.time.com