โดย ช. คนไม่หวังอะไร
โครงสร้างสังคมไทยเป็นสังคมที่น่าอยู่ มีความอบอุ่นและมีน้ำใจต่อกันดีในระดับหนึ่ง แต่ขาดการทำงานที่เป็นระบบ โครงสร้างการปกครองมีความสับสนกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ ภูมิศาสตร์กายภาพเราเกื้อหนุนต่อระบบเศรษฐกิจ เสมือนเป็นศูนย์กลางติดต่อตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ครั้นมีสงครามเวียดนาม-ลาว-เขมร เราก็มีฐานทัพของมหาอำนาจ ความมั่นคงเรามาก่อนเศรษฐกิจเสมอ นั่นคือความผิดพลาดในอดีต ความจริงเราอาจรุดหน้าไปกว่าสิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย หากเราไม่ขัดแย้งกันเองมาโดยตลอด ซึ่งหากยิ่งเป็นเช่นนี้ ต่อไปเราอาจตามหลังเวียดนาม อินโดนีเซีย ก็อาจเป็นไปได้ในอีก 10-20 ปีข้างหน้านี้ เพราะแม้แต่ในขณะนี้ อำนาจ คสช. โดยรัฐบาลทหารยังปกครองอยู่ ยังมีความขัดแย้งลึกๆ จนกระทั่งเกิดระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฎอันเป็นสถานรักษาพยาบาลของทหารเองได้
ความผิดพลาดที่ผ่านมาบางอย่างอาจเกิดจากระบบการบริหาร แต่บางอย่างอาจเกิดเพราะคนที่มีอำนาจฉ้อฉลเอง แต่ไม่สามารถจับผู้กระทำผิดมาลงโทษ และผู้มีอำนาจมิได้เกิดความละอายต่อสิ่งที่ตนเองปฏิบัติ เรื่องหลายเรื่องมีการดำเนินคดีไปอย่างไม่สิ้นสุด เช่น บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โฮปเวลล์ ทางด่วนบูรพาวิถี ทางด่วนดอนเมือง สินบนยาสูบ CT200 CTX สินบนภาษีนำเข้าสุรา คดีรถดับเพลิงกทม. และสินบนโรสส์รอย มีเพียงคดีสินบนเทศกาลนานาชาติที่ศาลพิจารณาแล้ว รวมถึงวิกฤตต้มยำกุ้งปี พ.ศ. 2540 ที่ก่อให้เกิดหนี้เน่า 1.4 ล้านล้านบาท คงเหลือในปัจจุบัน 9.5 แสนล้านบาท จะต้องจ่ายเงินต้นให้หมดภายใน 20 ปี โดยจ่ายดอกเบี้ย 40,000 ล้านบาทต่อปี จนมีผู้เปรียบเปรยเรื่องนี้ว่าดอกเบี้ยที่เราเสียไปนั้นเสมือนเราสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ได้ทุกปี เช่น สายลาดพร้าว-สำโรง 50,000 ล้านบาท แคราย-มีนบุรี 5.3 หมื่นล้านบาท และสร้างสนามบินภูเก็ตได้ปีละ 3 สนามบิน
ในสมัยปี พ.ศ. 2540 ระบบธนาคารมีการผูกขาด มีธนาคารใหญ่ๆ ไม่กี่ราย อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ต้องไปง้อทุนธนาคารเพื่อกู้เงิน การเข้าถึงเงินเพื่อขยายกิจการเป็นเรื่องยาก ทำให้ทุนอุตสาหกรรมพยายามเข้าไปเป็นผู้เล่นในทุนธนาคาร ส่งผลให้เกิดบริษัทหลักทรัพย์มากมาย และเกิดการให้กู้เงินไขว้ไปไขว้มา เจ้าของอุตสาหกรรมและเจ้าของบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน เวลาพังถึงพังทั้ง 2 ขา ในปี พ.ศ. 2559 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ครอบคลุมตลาดทุนมียอดขาย 10 ล้านล้านบาท และมีกำไร 900,000 ล้านบาท ธนาคารและบริษัททั่วไปค่อนข้างเข้มแข็ง เป็น “ยุคทองของทุนนิยม” มีเงินสดเยอะในระบบธนาคารที่ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ เพราะมีการปรับตัวหลังวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งขยาดกับการเป็นหนี้อยู่ การกู้เกินตัวจึงน้อยมาก วิวัฒนาการของบริษัทไทยมองว่า มีความหวาดกลัวหนี้อยู่ในใจลึกๆ
คนส่วนใหญ่อาจมองการคอรัปชันไปที่ส่วนราชการที่ได้รับงบประมาณจำนวนมาก ความจริงอาจไม่ใช่ เพราะการคอรัปชันมีหลายรูปแบบนอกจากงบประมาณปกติ เช่น สิทธิการอนุญาตในโครงการ สิทธิสัมปทาน สิทธิในการลงทุนต่างๆ นั้นมีมูลค่าสูงกว่ามาก ความรับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้มีหลายส่วน สำหรับหน่วยงานในส่วนราชการ เช่น กระทรวงพลังงานซึ่งควบคุมและสั่งการหน่วยงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) กระทรวงการคลังซึ่งควบคุมโรงงานยาสูบ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กับธนาคารของรัฐ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งควบคุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท แคท เทเลคอม จำกัด (มหาชน) กระทรวงคมนาคมซึ่งควบคุมการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) องค์การรถไฟฟ้ามหานคร การรถไฟแห่งประเทศไทย และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งควบคุมกรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงมหาดไทยซึ่งควบคุมการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งควบคุมการเคหะแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ซึ่งควบคุมกรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ และองค์การคลังสินค้า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งควบคุมกรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร เป็นต้น
จุดอ่อนและจุดเสียในระบบที่เราสูญเสียไปปีละแสนแสนล้านบาทกลายเป็นดินพอกหางหมู ปล่อยปัญหาให้คั่งค้างสะสม ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมทำให้ดีขึ้นจนยากจะสะสาง คล้ายกับคำถามที่ว่าคนไทยพร้อมแค่ไหนในวัยเกษียณ ซึ่งมีการสำรวจพบว่า แหล่งรายได้หลักสำหรับการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ 36.7% ได้จากบุตร 33.9 % ได้จากการทำงานของผู้สูงอายุเอง 14.87% ได้จากเบี้ยเลี้ยงชีพจากราชการ 4.9% ได้จากเงินบำเหน็จบำนาญ 4.3% ได้จากคู่สมรส 3.9% ได้จากดอกเบี้ยเงินออมและการขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ และ 1.5% ได้จากแหล่งอื่นๆ สรุปโดยเฉลี่ยคือ 55.8% ต้องพึ่งพิงรายได้จากผู้อื่น 34% ยังต้องทำงานหารายได้เอง นั่นคือให้อนาคตเป็นคนตอบและรัฐบาลเป็นผู้แก้ปัญหา
(ขอบคุณภาพปกจาก pixabay.com)