The Theory of Everything

2761

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

17 กุมภาพันธ์ 2015

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 021; ดู The Theory of Everything ที่ลิโด ใช้บัตรสะสมแต้มดูฟรี

The Theory of Everything หรือทฤษฎีแห่งสรรพสิ่ง คือทฤษฎีที่ว่าเราสามารถอธิบายทุกสิ่งอย่างได้ด้วยสมการเพียงชุดเดียว ทฤษฎีนี้เป็นที่สนใจของนักฟิสิกส์ทฤษฎี (theoretical physicist) เป็นจำนวนมาก แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีการค้นพบทฤษฎีดังกล่าว มีแต่ทฤษฎีสัมพัทธภาพซึ่งอธิบายปรากฏการณ์ในระดับจักรวาล กับทฤษฎีควอนตัมซึ่งอธิบายปรากฏการณ์ในระดับอิเล็กตรอน และสองทฤษฎีนี้ก็ขัดแย้งกันอยู่ แต่ก็ยังมีความพยายามอยู่เสมอที่จะรวมทฤษฎีทั้งสองเข้าด้วยกัน เพื่อนำไปสู่การสรุปเป็นสมการเพียงหนึ่งเดียวนั้นให้ได้

บุคคลผู้หนึ่งที่เชื่อมั่นในทฤษฎีนี้อย่างยิ่ง คือ ศาสตราจารย์สตีเวน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์ทฤษฎี นักจักรวาลวิทยา นักเขียน และ ผอ.ฝ่ายวิจัย ศูนย์จักรวาลวิทยาเชิงทฤษฎีแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ชื่อของท่านผู้นี้ สมัยเด็กๆ ดิฉันเรียนมาว่า “สตีเฟน” แต่หนังเรื่องนี้ทำให้ได้รู้ว่า สตีเฟนเป็นสำเนียงอเมริกัน ถ้าสำเนียงอังกฤษจะต้องออกเสียงว่า “สตีเวน” ในเมื่อท่านเป็นคนอังกฤษ เราก็น่าจะอ่านชื่อท่านตามแบบอังกฤษนะดิฉันว่า

ศ.ฮอว์กิงท่านมีชื่อเสียงมากทีเดียว เพราะเป็นผู้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับหลุมดำที่ค่อนข้างสั่นสะเทือนวงการและเขียนหนังสือที่โด่งดังไปทั่วโลก คือ A Brief History of Time (ฉบับแปลไทยชื่อ ประวัติย่อของกาลเวลา) ซึ่งกล่าวถึงมิติเวลาของโลกและจักรวาล แต่ที่มหัศจรรย์ที่สุดคือ ท่านทำทุกสิ่งอย่างนี้ทั้งที่ป่วยเป็นโรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อมตั้งแต่อายุ 21 ปี ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลงเรื่อยๆ จนเป็นอัมพาตเกือบทั้งตัว หมอวินิจฉัยว่าท่านจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินสองปีหลังจากตรวจพบโรค แต่ปัจจุบันท่านก็ยังมีชีวิตอยู่ อายุ 73 แล้ว และยังคงทำงาน ดังนั้น นอกจากท่านจะได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกปัจจุบันแล้ว ยังเป็นแบบอย่างของผู้ไม่ยอมพ่ายแพ้แก่ชะตากรรมด้วย

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แรงผลักดันสำคัญของท่านมาจากอดีตภรรยา คือ เจน ไวลด์ ฮอว์กิง ทั้งสองแต่งงาน มีลูกด้วยกัน 3 คน และหย่าหลังจากใช้ชีวิตร่วมกัน 30 ปี เจนได้เขียนหนังสือ Travelling to Infinity: My Life with Stephen (ฉบับแปลไทยชื่อ สู่อนันตกาล: ชีวิตฉันและสตีเฟน ฮอว์กิง) ซึ่งเป็นบทประพันธ์ตั้งต้นของหนังเรื่องนี้

The Theory of Everything เป็นหนังที่ใช้องค์ประกอบและกลวิธีทางภาพสื่อความหมายถึง ‘เวลา’ อันเป็น keyword สำคัญของเรื่องได้อย่างน่าสนใจ การแสดงของนักแสดงนำชาย-หญิงก็เป็นที่น่าจดจำ น้องเอ็ดดี้ เรดเมย์น ผู้รับบท ศ.ฮอว์กิง น้องเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ แม้ร่างจะงอก่องอขิง คอเอียงไปข้าง พูดไม่ชัด จนสุดท้ายพูดไม่ได้ ต้องอาศัยเครื่องแปลงตัวอักษรเป็นเสียงพูด แต่เราก็ยังเห็นชีวิตชีวาและอารมณ์ขันเช่นเดียวกับที่เห็นความท้อแท้และความเจ็บปวด ฝ่ายเฟลิซิตี้ โจนส์ ผู้รับบทเจนนั้น ก็สามารถถ่ายทอด ‘วันเวลา’ แห่งชีวิตคู่ตั้งแต่แรกรักจนถึงร้างลาได้อย่างทะลุปรุโปร่ง นางแสดงออกไม่มาก แต่ดูก็รู้ว่าในใจกำลังกรีดร้อง นับว่าเล่นดีจนน่าตะลึง

แม้ชีวิตคนเราจะไม่ได้มีแต่แง่มุมที่งดงาม แต่ถ้าเราทำให้ดีที่สุดใน ‘ช่วงเวลา’ ที่ทำได้ มันก็จะให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าและไม่มีอะไรที่สูญเปล่า ดังนั้น ถึง ศ.ฮอว์กิงจะยังไม่พบ The Theory of Everything ที่แท้จริง แต่ท่านก็พบทฤษฎีที่สามารถอธิบายทุกสิ่งในชีวิตของท่านได้แล้ว และการที่เราได้เรียนรู้ทฤษฎีนั้นผ่านหนังเรื่องนี้ ก็เป็นประสบการณ์ที่แสนจะคุ้มค่ากับ ‘เวลา’ ที่เสียไป

สรุป: จ่าย 0 ได้กลับมา 120

ภาพ: ศ.ฮอว์กิงและเจนในวันแต่งงาน ซ้ายคือภาพจริง ขวาคือภาพยนตร์

 

hawkingendorsesredmayne

ที่มารูป: http://geeknation.com