ขึ้นชื่อว่าอินเดีย หลายคนคงนึกภาพประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ตามถนนมีผู้คนเดินเบียดเสียดยัดเยียด มีขอทานชุกชุม สาธารณูปโภคอยู่ในขั้นเลวร้าย และกิตติศัพท์ในด้านลบอื่นๆ อีกมาก จนอาจทำให้ใครหลายคนนึกขยาดที่จะไปเยือนประเทศนี้ ถึงกระนั้นก็มิอาจทำให้นักท่องเที่ยวผู้หาญกล้าและรักการผจญภัยทั้งหลายถอดใจได้ รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยสี่คนที่รวมตัวกันสร้างทริปไปเยือนประเทศนี้อย่างกระตือรือร้น ที่สำคัญ นี่ไม่ใช่ทริปอินเดียทั่วไป แต่พวกเขายังเลือกไปราชาสถาน รัฐที่แห้งแล้งและยากจนที่สุดในอินเดียอีกด้วย โดยมีจุดประสงค์หลักคือการตามรอยภาพยนตร์เรื่อง The Fall (2006) ภาพยนตร์แฟนตาซี/ผจญภัยของผู้กำกับ Tarsem Singh อันมีฉากงดงามอลังการที่ผู้กำกับยืนยันว่า ไม่ได้ใช้เทคนิคพิเศษในการสร้างแต่อย่างใด ซึ่งแน่นอนว่าโลเกชันในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ หลายที่ก็อยู่ที่ราชาสถานนี่เอง โดยธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข ช่างภาพของนิตยสาร Human Ride และเป็นผู้ริเริ่มสร้างทริปครั้งนี้ ก็ได้บันทึกการเดินทางสู่ราชาสถานและเรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือ “ราชาสถาน นิทานตื่นนอน” เล่มนี้นี่เอง

ธีรพันธ์เล่าประสบการณ์ของตนอย่างออกรสออกชาติ รายละเอียดการเดินทางตั้งแต่วางแผนจนถึงเดินทางกลับ ที่แม้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคและความกังวลนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจากับแท็กซี่ ปัญหาการใช้โทรศัพท์และสามจี อาหารท้องถิ่นที่แปลกทั้งรูปและกลิ่นรส หรือไม่ก็การเดินทางจากเมืองหนึ่งสู่อีกเมืองหนึ่งด้วยระยะทางอันไกลแสนไกล ทว่าก็เป็นการท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยสีสัน (จริงๆ เพราะมีทั้งเมืองสีทอง สีฟ้า สีชมพู) ที่ทำให้ผู้อ่านคอยลุ้นเอาใจช่วย หัวเราะ โกรธขึ้ง ทึ่ง มองบน ยิ้มอ่อน ฯลฯ กับชะตากรรมที่เกินความคาดหมายของพวกเขาไปด้วย ราวกับกำลังดูรายการ Amazing Race: Rajasthan อยู่ก็ไม่ปาน อย่างไรก็ดี การเดินทางอันแสนยาวนานและทรหดของพวกเขาทั้งสี่ก็น่าจะคุ้มค่า เมื่อเทียบกับจุดหมายปลายทางแต่ละที่ที่ตั้งใจไปเยี่ยมชม ไม่ว่าจะเป็นจันบาวรี บ่อน้ำมหัศจรรย์กลางทุ่งแล้ง ป้อมแอมเบอร์ที่ใหญ่โตอลังการและวิจิตรประณีตด้วยลวดลายตกแต่งภายใน พระราชวังสีหวานซานริโอ้ที่ชัยปุระ วิวจากดาดฟ้าเมืองพุชการ์ที่เมืองด้านล่างและท้องฟ้าเบื้องบนเชื่อมต่อกันได้อย่างลงตัว หรือภาพพระอาทิตย์ตกเลียบแนวสันทราย ความมืดสนิทของท้องฟ้าเหนือทะเลทรายที่ทำให้มองเห็นดวงดาวระยิบและทางช้างเผือกได้ชัดเจน ความงามทั้งหลายนี้ ธีรพันธ์ถ่ายทอดออกมาให้ผู้อ่านรับรู้ได้อย่างดีผ่านภาพถ่ายระดับมืออาชีพและตัวหนังสือที่เรียงร้อยกันอย่างมีจังหวะจะโคน

ธีรพันธ์ออกตัวว่าตนเองเป็นเพียงนักเขียนมือสมัครเล่น ทว่าตัวหนังสือของเขาแสดงถึงการใช้ภาษาได้อย่างลื่นไหลและมีเสน่ห์ ใช้สำนวนที่ชวนอ่าน น่าติดตามและมีอารมณ์ขัน เห็นได้ชัดจากการตั้งชื่อแต่ละบทด้วยการเล่นเสียงเล่นคำ อย่างเช่น “ไปบ่อ บ่ไป” “ศักดิ์สิทธิ์อัลไล” “ปราการไรว้า” “เมืองชมพู FORT” หรือไม่ก็สร้างคำขึ้นมาใหม่ เช่น “บังริสต้า” ทั้งหมดนี้เป็นสีสันของตัวอักษรที่สร้างความเพลิดเพลินไม่น้อยระหว่างการอ่าน ในขณะเดียวกันยังแทรกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เป็นภูมิหลังของแต่ละสถานที่ และข้อสังเกตส่วนตัวบางประการที่ชวนให้คิดตามได้อย่างน่าสนใจ

นอกจากความงดงาม ยิ่งใหญ่ อลังการ และความประณีตวิจิตรของสถาปัตยกรรมในราชาสถานแล้ว สิ่งหนึ่งที่ธีรพันธ์รู้สึกประทับใจอีกเรื่อง ได้แก่ผู้คนในราชาสถานนี่เอง เมืองใดก็ตามในโลกคงไร้เสน่ห์หากขาดผู้อยู่อาศัย อันเป็นองค์ประกอบที่โดดเด่นไม่ซ้ำใครและไหลเลื่อนไปตามภูมิประเทศและวัฒนธรรมของที่แห่งนั้น ในฐานะช่างภาพ ธีรพันธ์พบว่าเขาเพลิดเพลินไปกับการถ่ายรูปคนไม่แพ้ทิวทัศน์และอาคารบ้านเรือนเลยทีเดียว และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้คนในเมืองนี่เองที่ส่งผลให้เมืองมีสภาพเป็นอย่างที่เห็น “หลายคนบอกว่าอินเดียถ่ายรูปสวย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเซนส์ในการใช้คู่สีของคนที่นี่ก็ได้ ผ้าสีชมพูบนฉากหลังสีเหลือง เมืองสีชมพูกับส่าหรีสีเทอร์ควอยซ์ ผนังบ้านสีเขียวกับประตูสีเหลืองสด…” (“เมืองทองธานี” หน้า 297)

แน่นอนว่า “ราชาสถาน นิทานตื่นนอน” ไม่ใช่นิทาน และยิ่งไม่ใช่ไกด์บุ๊กที่นำเสนอแต่ด้านสวยงามของสถานที่ เชิญชวนให้ทุกคนไปเที่ยวกัน แต่เป็นบันทึกการเดินทางเล่มหนึ่งที่แสดงให้เห็นมุมมองชีวิตและการทบทวนตนเองของผู้เขียน ข้าพเจ้าเชื่อว่า การเดินทางสามารถเปลี่ยนคนได้ (ส่วนจะถาวรหรือไม่นั่นก็อีกเรื่อง) และการเขียนก็เป็นขั้นตอนหนึ่งในการกรองความคิดของผู้เขียนให้ตกตะกอนเป็นตัวหนังสือ ดังนั้นหากจะกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกการก้าวข้ามวัย (coming-of-age) ของคนวัยทำงาน ก็คงจะไม่ผิดมากนัก

8.5/10 ครับ

โดย Average Joe

1 มิถุนายน 2560

 

ป.ล. ขอร่วมไว้อาลัยกล้องถ่ายรูปประจำตัวของผู้เขียน ที่ยอมพลีชีพเพื่อทริปนี้กันเลยทีเดียว

????? #abookpublishing

(ขอบคุณภาพปกจาก pixabay.com)