The Imitation Game

1409

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

12 กุมภาพันธ์ 2015

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 020; ดู The Imitation Game ที่ลิโด โรงหนังขวัญใจคนยาก

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษถูกเยอรมันโจมตีหนักมาก สาเหตุหนึ่งที่ทำให้อังกฤษตกเป็นรองอยู่เสมอก็คือการที่กองทัพเยอรมันสื่อสารกันโดยใช้เครื่องอีนิกมา (Enigma) แปลงข้อความทั้งหมดให้เป็นรหัสลับ และเปลี่ยนการเข้ารหัสทุกวัน ทำให้การถอดรหัสเป็นไปได้ยากมาก แม้อังกฤษจะได้อีนิกมามาเครื่องหนึ่ง และตั้งทีมปฏิบัติการลับมาช่วยกันถอดรหัสจากสัญญาณวิทยุเพื่อจะได้รู้เท่าทันแผนการโจมตีของเยอรมันแต่ก็คว้าน้ำเหลว จนกระทั่งอัจฉริยบุคคลผู้หนึ่งของโลกได้รับการทาบทามให้เข้ามาร่วมทีม

บุคคลผู้นั้นคือ อลัน ทูริง (Alan Turing) ซึ่งสมัยเด็กๆ ดิฉันได้เรียนว่า “ทัวริง” มาโดยตลอด จนมาดูหนังเรื่องนี้ถึงได้รู้ว่าเขาออกเสียงว่า “ทูริง” เหมือนที่เพิ่งรู้ว่าชื่อ อับราฮัม ลินคอล์น ออกเสียงว่า “เอบราฮัม ลิงคอล์น” เมื่อไปดูหนังเรื่อง Abraham Lincoln: Vampire Hunter (หนังน่ากลุ้มใจมากแต่จะมีประโยชน์ก็ตรงนี้แหละ 555)

กลับมาที่อลัน ทูริง ท่านผู้นี้เมื่อเข้ามาร่วมทีมถอดรหัสอีนิกมา ก็ดำริว่าเราจะมามัวงมโข่งใช้แรงงานคนแข่งกับเวลาอยู่ทำไม ควรสร้างเครื่องถอดรหัสขึ้นมาเลยดีกว่า หลังจากผ่านความยากลำบากต่างๆ ท่านก็สร้างเครื่องถอดรหัสอีนิกมาได้สำเร็จ เครื่องใหญ่เท่าห้อง (ตามภาพ) และสามารถหาลักษณะร่วมของรหัสลับในแต่ละวัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นให้เครื่องประมวลผล จนในที่สุดการถอดรหัสลับดังกล่าวก็ง่ายกว่าปอกกล้วย และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม เครื่องถอดรหัสนี้แหละคือต้นแบบของเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน อลัน ทูริง จึงได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์” ในเวลาต่อมา

หนัง The Imitation Game สร้างจากหนังสือชีวประวัติของอลัน ทูริง เรื่อง Alan Turing: The Enigma เขียนโดยแอนดรูว์ ฮอดจิส ชื่อหนังสือเรื่องนี้สัมพันธ์กับคำโปรยของหนังอย่างมีนัยสำคัญ “The true enigma was the man who cracked the code.” ลองคิดเล่นๆ ก็เห็นเป็นสองนัยยะ ได้แก่

1) อีนิกมาที่แท้จริง ก็คือชายผู้ถอดรหัสมัน
2) ปริศนาที่แท้จริง ก็คือชายผู้ไขปริศนา (enigma แปลว่า ปริศนา)


เมื่อพิจารณาร่วมกับชื่อหนังสือต้นฉบับ จะเห็นได้ว่า คำว่า Enigma ไม่ใช่แค่ชื่อเครื่องเข้ารหัสลับของเยอรมันเท่านั้น แต่ยังสามารถตีความได้หลายระดับ แม้กระทั่งเป็นอุปลักษณ์ (metaphor) ของตัวทูริงเอง เพราะชีวิตเขาก็ ‘เป็นปริศนา’ พอสมควร และหนังก็พาคนดูเข้าไป ‘ถอดรหัสลับ’ อันเป็นปริศนานี้ จนเราเข้าใจบุคลิกภาพอันซับซ้อนและชะตากรรมอันย้อนแย้งของทูริงอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ผ่านการแสดงขั้นเทพของเบเนดิกต์คัมเบอร์แบตช์ ซึ่งฆ่าทุกคนตายหมด รวมทั้งฆ่าคนดูด้วย (T.T) 

หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดที่ท้าทายการตีความเหมือนเครื่องอีนิกมาที่ท้าทายการถอดรหัส ตั้งแต่ชื่อเรื่อง  The Imitation Game (เกมลอกเลียนแบบ) อันนำมาจากชื่อบทความที่ทูริงเขียนไว้ ก็เป็นชื่อที่นำเสนอคำถามสำคัญของเรื่อง ซึ่งผู้ที่จะตอบคำถามก็คือคนดูนั่นเอง และเมื่อตอบได้แล้ว หากจะตั้งคำถามต่อไปถึงสังคมและโลก ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โลกอันเต็มไปด้วยอคติและความไม่เข้าใจกันนี้ มีสันติสุขและเจริญก้าวหน้ายิ่งกว่าที่เป็นอยู่

the-imitation-game

ที่มารูป: https://freemini-hd.net

สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 140

หมายเหตุ: พอพิมพ์เสร็จ อ่านทวน รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองเขียนนี่ งงยิ่งกว่ารหัสลับอีนิกมา 555