โดย ช. คนไม่หวังอะไร
เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้นและไม่ซับซ้อนมากในความหมายของคำต่างๆ ที่เขียน รัฐบาลคือองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินงานของรัฐในการปกครอง รัฐบาลเป็นองค์กรทางการเมืองที่รัฐขาดไม่ได้ รัฐคือดินแดนทางภูมิศาสตร์ที่มีอาณาเขตและประชากรแน่นอน อำนาจอธิปไตย คืออำนาจซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครอง ส่วนที่มาของอำนาจในการปกครองนั้นอาจแตกต่างกัน เช่น ในขณะนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาจากการรัฐประหารและตั้งรัฐบาลขึ้นเองให้มาเป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตย ซึ่งจะแตกต่างจากระบบเลือกตั้งที่ราษฎรเลือกผู้แทน แล้วผู้แทนมาเลือกคณะบุคคลเป็นรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็จะมาเป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตยแทนปวงชนที่เลือกมา สภาผู้แทนสามารถตรวจสอบการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลได้ แตกต่างจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเพราะราษฎรไม่สามารถตรวจสอบใดๆ ได้
การบริหารและการดำเนินการต่างๆ นั้น รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงาน โดยมีกลไกของรัฐคือ ข้าราชการ เป็นผู้ปฏิบัติ ซึ่งย่อมต้องมีงบประมาณในการใช้จ่าย รวมทั้งเงินเดือน สวัสดิการ และอื่นๆ ด้วย โดยรายได้ของรัฐนั้นมาจากภาษีทางตรง คือ เงินได้บุคคล นิติบุคคล ปิโตรเลียม ภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม การขายทั่วไป สรรพสามิต ธุรกิจเฉพาะ น้ำมันและผลิตภัณฑ์ ค่าภาคหลวง ภาษีสินค้าเข้า-ออก ฯลฯ รัฐพาณิชย์ ผลกำไรจากองค์การของรัฐ หน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ ตลอดจนรายได้อื่น เช่น ค่าแสตมป์ ฤชา ค่าปรับ ขายของและบริการ เป็นต้น หากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย รัฐบาลจะต้องกู้มาสมทบ เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่ายในแต่ละปีของวงรอบปีงบประมาณ คือ เดือนตุลาคม-กันยายนปีถัดไป
จากข้างต้นจะทราบได้ว่า รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายและทิศทางต่างๆ ของรัฐ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ทุกรัฐบาลติดหล่มเรื่องการตั้งงบประมาณรายจ่ายเป็นประจำทุกๆ ปี โดยกำหนดกรอบเป็นรายจ่ายประจำไว้สูง แต่กรอบรายจ่ายสำหรับการลงทุนน้อย พร้อมกับปล่อยปละละเลย และแทรกแซงการดำเนินการในรัฐวิสาหกิจ และองค์กรของรัฐที่รัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งรายจ่ายประจำในที่นี้หมายถึง เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน เบี้ยประชุม เบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าบ้าน สวัสดิการ ค่าใช้สอย วัสดุ และสาธารณูปโภค ส่วนรายจ่ายการลงทุนหมายถึง ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง อาคาร ถนน และแหล่งน้ำ เช่น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ได้ตั้งเป็นรายจ่ายประจำ 1,855,841 ล้านบาทหรือ 78% ของงบประมาณทั้งหมด แต่ตั้งงบลงทุนไว้เพียง 423,387 ล้านบาท ขณะเดียวกันปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ได้ตั้งเป็นงบรายจ่ายประจำ 2,103,422.2 ล้านบาทหรือ 77% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด โดยมีงบลงทุน 548,391 ล้านบาท หรือ 20% ของงบประมาณทั้งหมด ฉะนั้น การลงทุนส่วนใหญ่ของภาครัฐจะน้อยมาก เพราะในงบลงทุนของแต่ละปีงบประมาณนั้น รวมไปถึงงบผูกพันในโครงการของปีงบประมาณที่ผ่านมาแล้วสำหรับส่วนต่างๆ ที่ยังไม่แล้วเสร็จอีกด้วย
ที่มาภาพ: สํานักงบประมาณ
สำหรับการดำเนินการในรัฐวิสาหกิจและองค์กรธุรกิจของรัฐที่รัฐเป็นเจ้าของนั้น ส่วนใหญ่จะดำเนินการในกรอบวงเงินนอกงบประมาณที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล ซึ่งกรอบวงเงินนอกงบประมาณเหล่านี้จะมากกว่ารายจ่ายงบประมาณปกติถึง 2-3 เท่าตัว และไม่ได้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากงบประมาณปกติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ส่วนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 รัฐบาลตั้งไว้ 2,733,000 ล้านบาท คิดเป็น 18.4% ของ GDP โดยมีรายรับจากภาษีทางตรง ภาษีทางอ้อม รัฐพาณิชย์ การขายของและบริการ และรายได้อื่น 2,343,000 ล้านบาท กับเงินกู้อีก 390,000 ล้านบาท โดยมีรายจ่ายจำแนกตามกลุ่มเป็น 1. งบกลาง 340,918 ล้านบาท (ทั้งนี้ ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 60,000 ล้านบาท) 2. กลุ่มรายจ่ายกระทรวง/หน่วยงาน 1,445,956 ล้านบาท 3.กลุ่มรายจ่ายบูรณาการ 437,899.8 ล้านบาท 4. กลุ่มรายจ่ายพื้นที่ ภารกิจพื้นที่ ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด 264,343 ล้านบาท โดยแยกงบไปตามพันธกิจของส่วนราชการ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ 519,292.5 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 324,012 ล้านบาท กระทรวงการคลัง 218,633.1 ล้านบาท กระทรวงกลาโหม 214,347 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม 152,726.4 ล้านบาท ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง กรม 119,856.9 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจ 141,785 ล้านบาท กองทุนและเงินหมุนเวียน 139,357 ล้านบาท เป็นต้น ต่อมารัฐบาลมีความจำเป็นต้องตั้งงบประมาณเพิ่ม โดยเรียกว่า งบกลางปี พ.ศ. 2560 จำนวน 190,000 ล้านบาท ซึ่งเอารายได้มาจากภาษีและรายได้อื่น 27,078.3 ล้านบาทกับเงินกู้ 162,921.69 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการพัฒนากลุ่มจังหวัด 100,000 ล้านบาท และเป็นกองทุนหมู่บ้านแห่งละ 500,000 บาท กับชดเชยคงคลัง 27,078.3 ล้านบาท
ที่มาภาพ: komchadluek.net
การดำเนินการต่างๆ ในการใช้จ่ายก็ว่าไปตามระเบียบการคลังและงบประมาณ กับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมา ประสบผลสำเร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้น้อยมาก เพราะงบประมาณที่ตั้งไว้แต่ละโครงการนั้นมีการฉ้อฉลตั้งแต่ต้นทาง เมื่อไปถึงปลายทางประสิทธิผลมักจะน้อยลง เช่น เมื่อมีการกำหนดโครงการ ภาคเอกชนมักเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาของโครงการกับเจ้าหน้าที่และระดับนโยบาย เมื่อโครงการเริ่มดำเนินการกำหนดคุณสมบัติ TOR — ขั้นตอนประกวดราคา มักจะมีการแข่งขันน้อยลง แม้จะมีกฎหมายห้ามการสมยอมในการเสนอราคาก็ตาม เมื่อมีการแข่งขันกันน้อยราย เนื้อหาของงานย่อมด้อยประสิทธิภาพลงไปด้วย จนมีการเปรียบเปรยกันว่า งบประมาณเสมือนไอติมที่ใครๆ ก็ชอบรับประทาน แต่หากกลไกรัฐและฝ่ายนโยบายในระดับสูงร่วมมือกับภาคเอกชนแทะไอติมนั้นก่อน ราษฎรจะเหลือเพียงเศษเสี้ยวของไอติมที่มีความเย็นปลายแท่งไม้ไอติมเท่านั้นเอง