โดย ช. คนไม่หวังอะไร
นอกเหนือจากงบประมาณปกติซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ยังมีเงินนอกงบประมาณที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล และรับผิดชอบภายใต้นโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีวงจรงบประมาณมากกว่างบประมาณปกติถึง 2 เท่าตัว โดยมีองค์กรของรัฐและหน่วยงานของรัฐทำธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของเป็นหน่วยงานปฏิบัติ เรียกกันว่า รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง เป็นผู้กำกับดูแลและบริหาร ในปัจจุบัน มีรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มี 26 แห่งที่มีการจัดตั้งบริษัทลูก รวมกันเป็นจำนวน 120 แห่ง มีพนักงานและลูกจ้างกว่า 250,000 คน จากข้อมูลปี พ.ศ. 2554 สินทรัพย์รัฐวิสาหกิจ ซึ่งหักลบหนี้สินแล้ว มีดังนี้ 1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิต 246,599 ล้านบาท 2. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 113,380 ล้านบาท 3. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 107,297 ล้านบาท 4. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ 104,100 ล้านบาท 5. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 98,655 ล้านบาท 6. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 77,273 ล้านบาท 7. ธนาคารกรุงไทย 72,439 ล้านบาท 8. การไฟฟ้านครหลวง 61,480 ล้านบาท 9. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 44,433 ล้านบาท 10. การประปานครหลวง 40,470 ล้านบาท 11. การประปาส่วนภูมิภาค 39,134 ล้านบาท 12. องค์การรถไฟฟ้ามหานคร 30,802 ล้านบาท 13. การรถไฟแห่งประเทศไทย 28,342 ล้านบาท 14. โรงงานยาสูบ 20,968 ล้านบาท 15. การท่าเรือแห่งประเทศไทย 19,852 ล้านบาท 16. ธนาคารออมสิน 14,980 ล้านบาท 17. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 7,692 ล้านบาท 18. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 7,562 ล้านบาท เป็นต้น ในจำนวน 56 รัฐวิสาหกิจนี้ ในปี พ.ศ. 2554 มีกำไร 40 แห่ง (103,885 ล้านบาท) ขาดทุน 11 แห่ง (25,733 ล้านบาท) นำส่งรัฐ 76,901 ล้านบาท มีรายได้ 1,516,087 ล้านบาท รายจ่าย 1,437,936 ล้านบาท โดยมีรายจ่ายในการลงทุน 235,073 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 3,691,961 ล้านบาท หนี้สินรวม 2,429,493 ล้านบาท ส่วนของทุน 1,262,468 ล้านบาท มีเงินกู้ระยะยาว 782,688 ล้านบาท
รัฐวิสาหกิจที่มีรายได้นำส่งสูงสุดปี พ.ศ. 2554 10 อันดับแรก ได้แก่
หน่วยงาน | นำส่ง | |
1 | การไฟฟ้าฝ่ายผลิต | 17,075.00 ล้านบาท |
2 | บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) | 16,788.68 ล้านบาท |
3 | สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล | 14,636.30 ล้านบาท |
4 | ธนาคารออมสิน | 11,356.00 ล้านบาท |
5 | การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค | 7,533.00 ล้านบาท |
6 | บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) | 6,077.20 ล้านบาท |
7 | ธนาคารอาคารสงเคราะห์ | 3,175.75 ล้านบาท |
8 | การไฟฟ้านครหลวง | 3,126.74 ล้านบาท |
9 | การประปานครหลวง | 3,013.00 ล้านบาท |
10 | โรงงานยาสูบ | 2,818.00 ล้านบาท |
รวม | 85,599.67 ล้านบาท |
ส่วนในปี พ.ศ. 2559 นำส่งสูงสูด 10 อันดับแรก คือ
หน่วยงาน | นำส่ง | |
1 | สำนักงานสลากกินแบ่งแห่งประเทศไทย | 25,919.03 ล้านบาท |
2 | การไฟฟ้าฝ่ายผลิต | 22,607.24 ล้านบาท |
3 | บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) | 14,598.86 ล้านบาท |
4 | ธนาคารออมสิน | 12,922.00 ล้านบาท |
5 | การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค | 12,608.50 ล้านบาท |
6 | การไฟฟ้านครหลวง | 7,040.66 ล้านบาท |
7 | การประปานครหลวง | 6,106.45 ล้านบาท |
8 | ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ | 5,563.33 ล้านบาท |
9 | บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) | 5,000.00 ล้านบาท |
10 | โรงงานยาสูบ | 4,881.00 ล้านบาท |
รวม | 117,249.08 ล้านบาท |
การดำเนินการและการบริหารในรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งนั้นอาจแตกต่างกัน เพราะมีกฎหมายและข้อบังคับที่ไม่เหมือนกัน เช่น รัฐวิสาหกิจแบบเก่ากับแบบใหม่ และองค์การมหาชน หรือรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งใช้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจและกฎหมายที่เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งนั้น คณะรัฐมนตรีจะต้องให้ความเห็นชอบ หรือรับทราบตัวบุคคลที่จะเป็นกรรมการทั้งหมดหรือบางส่วนในคณะกรรมการ ตามสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจนั้น ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกันกับผลกำไรที่รัฐจะได้รับจากหน่วยงานตามสัดส่วนการถือหุ้น รวมไปถึงการประชุมและสิทธิในที่ประชุม เช่น ใน บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารกรุงไทย เป็นต้น เว้นแต่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ของรัฐ ในการทำหน้าที่ควบคุม กำกับ ออกใบอนุญาตกิจการกระจายเสียงโทรทัศน์และโทรคมนาคมที่เพิ่งก่อตั้งมาเพียง 5 ปี แต่หารายได้ให้รัฐได้ถึง 3.6 แสนล้านบาท
สังคมส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจและไม่ทราบถึงการบริหารงานในองค์กรของรัฐและหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของมากนัก การดำเนินการต่างๆ เป็นไปค่อนข้างอิสระ คล่องตัว เพื่อให้สามารถแข่งขันตามกลไกตลาดได้ รัฐบาลโดยผู้บริหารระดับสูงอาจแทรกแซงได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะเวลา เช่น ถ้าในคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นมี 15 คน ซึ่งใน 15 คน มาจากสัดส่วนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับว่าต้องมาจากกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานอัยการ นอกนั้นต้องแต่งตั้งจากผู้ทรงวุฒิ หรือมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ ผู้บริหารระดับสูงจึงสามารถแทรกแซงแต่งตั้งได้เพียง 4-5 คน การสั่งการเพื่อให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการตามวัตถุประสงค์เป็นไปอย่างค่อนข้างไม่สะดวกนัก เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการนั้นสิ้นสุดลงหรือใกล้ครบวาระ หรืออาจขอให้มีการลาออกและแต่งตั้งใหม่ทั้งคณะ
สำหรับทุนในการจดทะเบียนจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเบื้องต้น รัฐบาลจัดงบประมาณให้ แต่หลังจากดำเนินการแล้ว รัฐวิสาหกิจนั้นสามารถขอรับการอุดหนุนในโครงการและจัดหางบประมาณต่างๆ ได้ด้วยตนเอง บางส่วนอาจให้กระทรวงการคลังค้ำประกันในการกู้ยืม แต่บางแห่ง สามารถออกหุ้นกู้เองได้ โดยกระทรวงการคลังหรือรัฐไม่จำเป็นต้องค้ำประกัน ขณะเดียวกันก็มีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อมีผู้อำนาจ เพราะมีงบประมาณในการลงทุนสูง เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทุ่มงบลงทุน 1.9 แสนล้านบาท พัฒนาท่าอากาศยาน 6 แห่ง ได้แก่ หาดใหญ่ ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ โดยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิลงทุนก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ที่ 3) และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ตั้งงบลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2560 – พ.ศ. 2564) จำนวน 338,849 ล้านบาท เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 คลัง LNG การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศ 388,838 เมกะวัตต์ มีสายส่งไฟฟ้าความยาว 32,993 วงจร-กิโลเมตร สถานีไฟฟ้าแรงสูงรวม 213 สถานี มีโครงการสร้างสถานีไฟฟ้าขาดแคลน โรงไฟฟ้าแม่เมาะ บางปะกง ลำตะคอง โรงฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้เป็นที่ทราบกันว่าย่อมมีรายจ่าย ส่วนจะจ่ายอย่างไร อะไรนั้น คงเป็นความลับระยะหนึ่ง โดยผู้รับย่อมปฏิเสธข้อครหาเสมอ
(ขอบคุณภาพปกจาก pixabay.com)