โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
7 มีนาคม 2015
ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 023; ดู Unbroken ที่ลิโด โรงหนังราคามิตรภาพ
ก่อนที่จะได้ดูหนังเรื่องนี้ ดิฉันได้มีโอกาสดูฟีเจอร์เบื้องหลังการถ่ายทำของหนัง ซึ่งลิโดเอามาฉายในช่วงหนังตัวอย่าง ฟีเจอร์นี้ทำได้น่าประทับใจมาก กล่าวถึงความชื่นชมของ ผกก.แองเจลินา โจลี ที่มีต่อ หลุยส์ แซมเพอรินี อดีตนักวิ่งโอลิมปิกและนายทหารทิ้งระเบิดประจำเครื่องบินรบแห่งกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินของเขาตกกลางมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เขากับเพื่อนผู้รอดชีวิตอีกสองคนต้องอยู่ในเรือชูชีพ 47 วัน ก่อนจะลอยไปเข้าเขตปกครองของทหารญี่ปุ่น แล้วถูกญี่ปุ่นจับเป็นเชลย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ใครตกเป็นเชลยญี่ปุ่นก็ถือว่าชีวิตบัดซบสุดๆ แล้ว แต่เขายังต้องผจญกับผู้คุมป่วยจิต ซึ่งสนใจที่จะจองเวรจองกรรมกับเขาเป็นพิเศษด้วย เขาต้องทนทุกข์ทรมานในค่ายเชลยถึง 2 ปีจนกระทั่งสงครามสิ้นสุด และเขาก็มีชีวิตรอดมา โดยที่ความโหดร้ายทารุณที่ได้รับไม่อาจทำลายจิตใจอันเข้มแข็งของเขาได้ เรื่องราวของเขามีผู้นำไปเขียนเป็นหนังสือชีวประวัติ เรื่อง Unbroken: A World War II Story of Survival, Resilience and Redemption (ฉบับแปลไทยชื่อ ไม่มีวันดับสูญ) ซึ่งเป็นบทประพันธ์ตั้งต้นของหนังเรื่องนี้ ฟีเจอร์มีสัมภาษณ์ หลุยส์ แซมเพอรินี ผู้อายุ 90 กว่าแต่ยังดูแข็งแรง สัมภาษณ์แองเจลินา โจลี ผู้กำกับ รวมทั้ง แจ็ค โอ’คอนเนลล์ ผู้รับบทแซมเพอรินี และ มิยาบิ ผู้รับบท มุทสึฮิโระ วาตานาเบะ หรือ “The Bird” ผู้คุมสุดสะพรึงแห่งค่ายเชลย จบด้วยวาทะของแซมเพอรินีที่ทำเอาน้ำตาซึมว่า “อย่ายอมแพ้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา มันมีคำตอบเสมอ”
ถ้าหนัง Unbroken จะสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างฟีเจอร์เบื้องหลังการถ่ายทำก็คงจะดีไม่น้อย แต่น่าเสียดายที่มันไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ หนังมันดูแห้งๆ พิกล ทั้งๆ ที่น้องโอ’คอนเนลล์กับมิยาบิก็แสดงได้ไม่เลว ดิฉันถกกับเพื่อนที่ไปดูด้วยกันว่าหนังมันขาดอะไร ทำไมดูแล้วไม่ค่อยอร่อย ได้คำตอบว่า เราเห็นแค่เหตุการณ์ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับแซมเพอรินีบ้าง แต่เราแทบไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไรหรือรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เขาพบเจอในชีวิต ดิฉันไม่ได้หมายถึงความรู้สึกพื้นๆ เช่น กลัว เหนื่อย เครียด ซึ่งหนังก็แสดงให้เห็นชัดเจนอยู่แล้ว แต่ควรมีรายละเอียดทางอารมณ์ที่ลึกซึ้งกว่านั้นที่จะสะท้อนให้เห็นว่าเขาสามารถผ่านความยากลำบากของชีวิตไปได้อย่างไร ถ้าดูจากชื่อบทประพันธ์ตั้งต้นของหนัง ซึ่งมีทั้ง survival (การอยู่รอด) resilience (การปรับตัว) redemption (การกอบกู้) แซมเพอรินีน่าจะต้องผ่านการต่อสู้ในจิตใจและมีการเติบโตทางความคิดมากทีเดียว แต่เราก็ไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นในหนัง นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะหนังมีวัตถุดิบที่ดีมาก เรื่องราวของแซมเพอรินีมีดราม่าอยู่ในตัว และเป็นเรื่องที่คนดูทั่วไปสามารถเชื่อมโยงกับตัวเองได้ไม่ยากนัก เนื่องจากชีวิตเราทุกคนก็ลำเค็ญกันไปคนละแบบ เมื่อได้มาเห็นคนที่ลำเค็ญสุดๆ ขนาดนี้ยังอุตส่าห์อดทนต่อสู้จนรอดพ้นมาได้อย่างสง่างาม เราน่าจะมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิตโดยไม่ท้อถอย แต่ปรากฏว่าดูหนังเรื่องนี้แล้ว แทนที่จะเชื่อมโยงกับตัวละคร เรากลับถอยห่างออกมา มันก็เลยกลายเป็นหนังที่ดูไม่สนุกไปโดยปริยาย
สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 80
หมายเหตุ: หลุยส์ แซมเพอรินี เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว สิริอายุ 97 ปี
ภาพ: บน-แจ็ค โอ’คอนเนลล์ /กลาง-มิยาบิ /ล่าง-โจลีกับแซมเพอรินี