ทำไมพระราชดำรัสต้องมีจุด (.)

3322

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

เรื่องนี้ดูจะเป็นข้อสงสัยของผู้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทไปเผยแพร่มาโดยตลอด แม้เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็ยังสอบถามกันว่าตัดจุดออกได้ไหม บางรายไม่เสียเวลาสอบถาม ตัดออกโดยพลการเลยก็มี ด้วยความเข้าใจว่าจุดไม่มีความหมายอะไร ใส่ไปก็รุงรังเปล่าๆ ทั้งยังเป็นเครื่องหมายวรรคตอนที่ไม่มีในภาษาไทยด้วย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่ให้วุ่นวาย

แท้ที่จริงแล้ว จุดในพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทไม่ใช่สิ่งที่ใส่มาเล่นๆ ให้เราตัดได้ตามอำเภอใจ แต่เป็นเครื่องหมายวรรคตอนที่มีความสำคัญ เพราะเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้รู้ว่าจบประโยค ตามที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า full stop (แปลตรงตัวว่า การยุติอย่างสมบูรณ์) หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า มหัพภาค (แปลตรงตัวว่า ภาคใหญ่ หมายถึงประโยค คือข้อความที่จบสมบูรณ์แล้ว)

การที่เราต้องรู้ว่าแต่ละประโยคจบตรงไหน มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการอ่านพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท เพราะพระราชดำรัสที่พระราชทานโดยไม่มีการยกร่างไว้ก่อนนั้น กว่าจะสามารถเผยแพร่ให้ทุกคนอ่านได้ จะต้องผ่านการถอดพระสุรเสียงจากเครื่องบันทึกเสียง แล้วนำมาเรียบเรียง คือแบ่งวรรคตอน แบ่งประโยค แบ่งย่อหน้า และปรับปรุงให้สละสลวย ตามหลักของการเรียบเรียงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้สำหรับอ่าน หากถอดพระสุรเสียงต่อเนื่องไปโดยไม่ใส่เครื่องหมายจบประโยค ผู้อ่านอาจจะแบ่งประโยคผิด ซึ่งจะทำให้เข้าใจความหมายของพระราชดำรัสในตอนนั้นผิดไปด้วย

ขอให้ดูตัวอย่างพระราชดำรัสในภาพ ย่อหน้าแรก

ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่ได้มาในวันนี้ เพื่อให้พรโดยผ่านท่านนายกรัฐมนตรี. เป็นการให้กำลังใจในการงานทั้งปวง ทำให้มีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานต่อไป. ตามที่นายกฯ ได้กล่าว ก็กล่าวในทางที่ดีว่า ทำงานมาเป็นเวลากว่า ๔๗ ปี เป็นผลให้ประเทศชาติมีความเจริญ. ข้อนี้ก็เป็นการยกย่องและเป็นการให้กำลังใจ. …”

หากไม่มีจุดจบประโยค เมื่ออ่านต่อเนื่องไป เราอาจจะแบ่งประโยคที่ ๒ กับ ๓ แบบนี้

“…เป็นการให้กำลังใจในการงานทั้งปวง ทำให้มีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานต่อไป ตามที่นายกฯ ได้กล่าว. ก็กล่าวในทางที่ดีว่า ทำงานมาเป็นเวลากว่า ๔๗ ปี เป็นผลให้ประเทศชาติมีความเจริญ. …”

กลายเป็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานต่อไปตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าว ส่วนประโยคถัดไป ก็จะกำกวมว่าใครเป็นประธานของประโยค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น การใส่จุดจบประโยค จึงเป็นการป้องกันความเข้าใจผิดและความกำกวมได้โดยตรง ไม่ให้มีปัญหาทั้งในทางไวยากรณ์และทางความหมาย

นอกจากนี้ จุดจบประโยคยังมีความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือช่วยเน้นข้อความที่ต้องการเน้นด้วย

ประโยคแต่ละประโยค ย่อมมีประเด็นหลักที่จะนำเสนอเพียงหนึ่งเดียว การจบประโยคด้วยคำหรือข้อความที่เหมาะสม จะช่วยเน้นประเด็นนั้นให้เด่นชัดขึ้นโดยอัตโนมัติ

แม้ว่าในการเขียนภาษาไทยโดยทั่วไป เราจะสามารถจบประโยคได้โดยไม่ต้องใส่จุด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้ามีจุด การเน้นก็จะเด่นชัดยิ่งขึ้น ผู้อ่านจะสามารถเข้าใจได้ทันที ว่าผู้เขียนต้องการเน้นประเด็นใด

ขอให้ดูตัวอย่างพระราชดำรัสในภาพ ย่อหน้าที่ ๒ บรรทัดที่ ๘

ทุกคนก็ทราบดีว่าในชีวิตของแต่ละคน ก็ผ่านเวลาที่เป็นสุขและบางทีก็มีความทุกข์. อันนี้ประเทศชาติก็เป็นเช่นเดียวกัน ก็มีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง. แต่ก็ขออย่าให้มากเกินไป เพราะว่าถ้ามากเกินไป แม้สุขมากเกินไป ก็ทำให้คนเราไม่สบายได้เหมือนกัน. …”

หากไม่มีจุดจบประโยค เราอาจจะแบ่งประโยคที่ ๒ กับ ๓ แบบนี้

อันนี้ประเทศชาติก็เป็นเช่นเดียวกัน ก็มีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง แต่ก็ขออย่าให้มากเกินไป. เพราะว่าถ้ามากเกินไป แม้สุขมากเกินไป ก็ทำให้คนเราไม่สบายได้เหมือนกัน. …”

การแบ่งประโยคเช่นนี้ แม้ไม่ผิดไวยากรณ์ และไม่ทำให้ความหมายเปลี่ยน แต่จะทำให้เกิดความเสียหาย ๒ ประการ

ประการแรก วรรณศิลป์ที่เกิดจากการล้อกันของประโยคที่ ๑ กับ ๒ จะหมดไป เพราะประโยค ๒ มีส่วนที่เกินมาในตอนท้าย

อีกประการหนึ่ง ประเด็นที่เน้นในประโยค ๒ จะเปลี่ยน กล่าวคือ การจบประโยคที่ “…มีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง.” เป็นการเน้นให้เห็นว่าสุขทุกข์ที่หมุนเวียนเปลี่ยนผันนั้นเป็นของธรรมดา แต่ถ้าจบประโยคที่ “…มีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้าง แต่ก็ขออย่าให้มากเกินไป.” ประเด็นที่เน้นจะย้ายมาอยู่ท้ายประโยค ทำให้ส่วนต้นที่กล่าวถึงลักษณะอันเป็นธรรมดาของสุขทุกข์ ลดความสำคัญลง ไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ของผู้พระราชทานพระราชดำรัส

สิ่งเหล่านี้จะไม่เป็นปัญหาหากเราได้ฟังพระราชดำรัสด้วยตัวเอง เพราะตามธรรมดา ในการพูดและการอ่านออกเสียง ผู้พูดและผู้อ่านสามารถเน้นเสียงหรือเว้นช่วงจังหวะ เพื่อให้ผู้ฟังรู้ว่าจบประโยคตรงไหนได้ แต่การจะอ่านพระราชดำรัสที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยไม่เคยฟังด้วยตัวเองมาก่อนนั้น ไม่มีสิ่งใดจะช่วยเราได้เลยนอกจากจุดจบประโยค ถ้าไม่มีจุด เราอาจรับสารผิดไปเลยทั้งในแง่ความหมายและการเน้น

ผู้ที่เคยเห็นพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทแต่เดิมมา คงจะทราบว่าไม่ได้มีการใส่จุดอย่างปัจจุบัน แต่ด้วยความสำคัญของจุดดังที่กล่าวมานี้เอง จึงทรงพระราชดำริว่าควรใส่จุดให้ชัดเจนว่าจบประโยคตรงไหน เพื่อให้ทุกคนที่อ่านสามารถเข้าใจได้ถูกต้องตรงกัน และเผื่อใครต้องการคัดตัดตอนพระราชดำรัสเพื่อเชิญไปเผยแพร่เฉพาะบางส่วน จะได้คัดให้จบประโยค ไม่ใช่ไปตัดกลางประโยค ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดเพี้ยน หรือหนักเข้าก็ถึงกับไม่รู้เรื่องไป

ด้วยเหตุนี้ พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทจึงต้องมีจุด ไม่ว่าจะเป็นพระราชดำรัสที่เรียบเรียงขึ้นจากการบันทึกพระสุรเสียง หรือพระราชดำรัสที่ยกร่างขึ้นเพื่อพระราชทานในโอกาสต่างๆ

ดังนั้น ผู้เชิญพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทไปเผยแพร่ จึงต้องรักษาจุดจบประโยคไว้ตามต้นฉบับทุกประการ หากตัดออกไป ก็จะเป็นการผิดหลักการคัดข้อความของผู้อื่นมาอ้างอิงหรือเผยแพร่ (Quotation) ซึ่งต้องคัดให้ตรงตามต้นฉบับ ไม่ใช่ดัดแปลงหรือบิดเบือนไปตามใจชอบ อันเป็นการกระทำที่ไม่สามารถยอมรับได้ ไม่ว่าในวงวิชาการหรือในหมู่ผู้มีสามัญสำนึกโดยทั่วไป

 

หมายเหตุ: พระราชดำรัสที่เชิญมาเป็นตัวอย่างนี้ เชิญมาจากเว็บไซต์สำนักราชเลขาธิการ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเรียบเรียงและปรับปรุงพระราชดำรัสองค์นี้ด้วยพระองค์เอง จากที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้