โดย ช. คนไม่หวังอะไร
เมื่อระบบเศรษฐกิจเก่าล่มทั้งระบบ หลายประเทศพยายามกลับมาเน้นปรับปรุงระบบเศรษฐกิจภายในประเทศตนเองทั้งระบบการผลิตและการบริโภค ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน จากเดิมพึ่งพาตลาดส่งออกตะวันตก ก็หันเหสู่ตลาดใหม่ มีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ พร้อมกับปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อรองรับตลาดในอนาคต ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 กำหนดแนวที่ดินที่จะใช้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ 10 จังหวัด โดยระยะที่หนึ่ง 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา ระยะที่สอง 5 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย เชียงราย กาญจนบุรี นครพนม และนราธิวาส รวม 23 อำเภอ 90 ตำบล จังหวัดเหล่านี้จะเป็นประตูการค้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เชื่อมกับระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งแนวตะวันตก-ตะวันออกและแนวเหนือ-ใต้ โดยนิยามเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้ว่า “เป็นเขตพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ต่อการส่งเสริมสนับสนุน และอำนวยความสะดวกรวมทั้งให้สิทธิพิเศษบางประการในการดำเนินกิจการต่างๆ เช่น การอุตสาหกรรม การพาณิชยกรรม การบริการ หรือ กิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ รูปแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษมีหลายประเภท เช่น เขตการค้าเสรี เขตอุตสาหกรรมเสรี เขตปลอดภาษี เขตการค้าชายแดนเสรี และเขตพัฒนาการส่งออก (แปรรูป) เป็นต้น”
หากดำเนินการตามโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง คงจะเป็นจุดแข็งของประเทศในอนาคต จากข้อมูลสภาพัฒน์ กรมการค้าต่างประเทศ และ BOI ระบุว่ารัฐบาลได้เห็นชอบให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษนำร่องใน 5 พื้นที่ชายแดนของไทย ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา จังหวัดมุกดาหาร อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีการประเมินว่า 3 ใน 5 พื้นที่นำร่องนี้มีศักยภาพในการพัฒนาและขับเคลื่อนได้มาก คือ แม่สอด อรัญประเทศ และสะเดา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งมีฐานการผลิตในอุตสาหกรรมและการค้ารองรับอยู่แล้ว ในปัจจุบันทั้ง 3 พื้นที่ดังกล่าวมีมูลค่าการค้าชายแดนรวมกันสูงกว่า 6 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนรวม 65% ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมดของไทย โดยแม่สอดมีความพร้อมมากที่สุดในการรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ธุรกิจคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้เา และบริการด้านโลจิสติกส์ อีกทั้งยังเชื่อมโยงด้านการผลิตโดยตรงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีที่ห่างออกไปเพียงประมาณ 10 กิโลเมตรให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษคู่ขนานร่วมกันในอนาคต เช่นเดียวกับอรัญประเทศ ซึ่งมีศักยภาพเป็นประตูฝั่งตะวันออกของไทยบนระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้ สามารถเชื่อมต่อสู่กัมพูชาซึ่งมีเขตเศรษฐกิจพิเศษปอยเปต-โอเนียงและนิคมอุตสาหกรรมศรีโสภณ รวมทั้งยังสามารถเชื่อมต่อออกสู่ทะเลผ่านท่าเรือของเวียดนามใต้
ด้านสะเดา จังหวัดสงขลาเหมาะสำหรับการจัดตั้งโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร ยางพารา และอาหารทะเล รวมทั้งมีศักยภาพเป็นพื้นที่การค้า และเป็น gateway หลักเพื่อรองรับการส่งออกสินค้าไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้ท่าเรือปีนังและท่าเรือกลางของมาเลเซีย รวมทั้งอยู่ใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมฮาลาล และอุตสาหกรรมยางพาราของมาเลเซีย ขณะเดียวกันทราบว่า ภาคเอกชนในพื้นที่ได้เสนอให้จัดพื้นที่เขตปลอดภาษี (duty free) ขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเน้นพื้นที่ตามรอยตะเข็บชายแดน ซึ่งรูปแบบไม่ใช่แค่อาคารขายสินค้า แต่จะเป็นพื้นที่การค้าเชิงพาณิชย์และร้านอาหาร เพื่อดึงดูดให้คนไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์เข้ามาจับจ่ายใช้สอย
แต่หากใครติดตามข่าวสารหรือข้อมูลต่างๆ ขออย่าเพิ่งสับสน เพราะการเขียนหรือการพูดไม่ได้หมายถึงเค้าโครงเศรษฐกิจทั้งหมด ตอนนี้เป็นเพียงกรอบในเค้าโครงเศรษฐกิจที่กำหนดขึ้นใหญ่ จากรอบชายแดนสู่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นการต่อยอดจากอิสเทิร์นซีบอร์ดเป็นซุปเปอร์อิสเทิร์นซีบอร์ด ด้วยวงเงินลงทุนรัฐ-เอกชนในระยะ 5 ปี พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 200,000 ล้านบาท ท่าเรือมาบตาพุด 10,150 ล้านบาท ท่าเรือแหลมฉบัง 88,000 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูง 158,000 ล้านบาท รถไฟทางคู่ 64,300 ล้านบาท มอเตอร์เวย์ 35,300 ล้านบาท ท่องเที่ยว 20,000 ล้านบาท เมืองใหม่และโรงพยาบาล 400,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรม 500,000 ล้านบาท
นี่คืออนาคตประเทศ แต่สังคมกับการปกครองจะเป็นอย่างไรนั้น คงไม่มีใครประเมินได้มากนัก
ที่มาภาพ: thansettakij.com
(ขอบคุณภาพปกจาก Pixabay.com)