โดย Average Joe
15 เมษายน 2017
ความพยายามในการนำวรรณคดีไทยมาเล่าใหม่ด้วยสำนวนที่ทันสมัยกว่าเดิม แม้จะไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ยิ่งในสมัยนี้ที่คนไทยอ่านหนังสือกันน้อยลงทุกวันๆ ขนาดโฆษณาหรือประกาศในเฟซบุ๊ก สั้นๆ ง่ายๆ แค่สองสามบรรทัดยังไม่อ่านเลย มาถึงก็เมนต์ๆๆ “เท่าไหร่ค่ะ” (ของแท้ต้องสะกดผิด) “มีกี่สี” “มีงานวันไหนบ้าง” ฯลฯ อ่านสิครัชชช (อ่อ ขออภัยของขึ้น) เอ้า กลับมาๆ การนำวรรณคดีต้นฉบับที่เป็นร้อยกรองมาเรียบเรียงเป็นร้อยแก้ว และจับบางประเด็นตามความสนใจของคนรุ่นใหม่ ก็อาจจะทำให้หลายคนมองวรรณคดีด้วยใจที่เปิดกว้างขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้
หนังสือ “วรรณคดีไทยไดเจสต์” ที่เขียนโดยชนัญญา เตชจักรเสมา เล่มนี้ ได้มาจากงานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด (๒๙ มีนาคม – ๙ เมษายน ๒๕๖๐) เป็นหนึ่งในสองเล่มที่ได้จากบูธของอะบุ๊ก และเป็นหนึ่งในไม่กี่เล่มที่ตั้งใจไปซื้อ (แต่ได้กลับมาเต็มกระเป๋าลากนี่มันอะไร) เพื่อไม่ให้ใครครหาได้ว่าเป็นพวกซื้อหนังสือมาดองไว้แล้วไม่อ่าน เลยรีบหยิบหนังสือที่ซื้อคราวนี้มาอ่านและจบไปแล้วสามเล่ม (เนี่ยยยย – แต่ของครั้งก่อนก็อีกเรื่องนะ อ่อ)
ชนัญญา (หรือที่เธอแทนตัวเองว่า “วิว” ในหนังสือ) นำวรรณคดีไทยทั้งเรื่องที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น รามเกียรติ์ พระอภัยมณี อิเหนา ขุนช้างขุนแผน (โดยน้ำหนักส่วนใหญ่ในเล่ม ก็เทมาที่สี่เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน) และเรื่องที่เป็นที่รู้จักในวงแคบกว่า เช่น มัทนะพาธา สาวิตรี นิทราชาคริต (ในหนังสือสะกดว่า ‘นิทราชาคริช’) มาเล่าและเรียบเรียงใหม่โดยการแบ่งเป็นบทตามหัวข้อต่างๆ เช่นเรื่องกำเนิดมหัศจรรย์ของตัวละคร ความขัดแย้งระหว่างเมียหลวงกับเมียน้อย เรื่องอื้อฉาวของตัวละคร ความโหดร้ายและความสยองขวัญในวรรณคดี นางเอกปากจัด พระเอกแต่งหญิง และอื่นๆ อีกมากมาย การเรียบเรียงเช่นนี้น่าจะทำให้ผู้ที่คุ้นกับวรรณคดีไทยอยู่แล้ว (หรือเคยผ่านตา) ได้ทบทวนและนึกเรื่องราวตามสิ่งที่เคยเรียนมา (หากยังพอจำได้) รวมทั้งเพลิดเพลิน (?) ไปกับสำนวนสวิงสวายของผู้เขียน ส่วนผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับวรรณคดีไทยก็อาจจะเห็นแล้วเอ๊ะ คนโบราณเขามีอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ ที่แน่ๆ เชื่อว่าหลายคนหากได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วอาจจะไปลองหาต้นฉบับวรรณคดีเรื่องดังกล่าวมาอ่านซ้ำอีก เพื่อย้ำให้มั่นใจอีกทีว่า มีเรื่องราวพิสดารเหล่านี้จริงๆ ด้วยนะเออ
จุดเด่น (ซึ่งอาจจะเป็นจุดด้อยในอีกมุม) ของหนังสือเล่มนี้ก็คือ การใช้สำนวนภาษาทันสมัยในการเล่าเรื่อง (นัยว่ามีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้อ่านช่วงอายุ ๑๘-๓๐ ปี) ไม่ว่าจะเป็นสำนวนที่ใช้แพร่หลายในอินเทอร์เน็ต ในสื่อบันเทิง หรือสแลงในเกม ซึ่งอย่างเราที่ไม่เล่นเกม เจอศัพท์เฉพาะบางตัวเข้าไปก็อาจจะนึกภาพไม่ค่อยออก หากแต่ยังพอเดาจากบริบท ถูไถไปได้บ้าง เมื่อได้อ่านงานของชนัญญา ก็พลันนึกไปถึงสาวอักษรฯ อีกคนอย่าง พัณณิดา ภูมิวัฒน์ ที่นำภารตนิยายมาเล่าใหม่ด้วยสำนวนของตัวเองที่จี๊ดจ๊าดโดนใจวัยรุ่น เคยแนะนำให้แม่ลองอ่านงานของพัณณิดา ปรากฏว่าแม่อ่านได้ไม่กี่เรื่องก็วาง บอกว่าแม่มึนสำนวนเหลือเกิน ๕๕๕ เป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่า สำนวนภาษาเช่นนี้อาจไม่เหมาะหรือต้องจริตกับกลุ่มผู้อ่านบางกลุ่มก็ได้
นอกจากการทำให้วรรณคดีไทยกลายเป็นเรื่อง “สัมผัสง่าย” แก่ผู้อ่านทั่วไปแล้ว เรื่องหนึ่งที่น่าชมเชยผู้เขียนก็คือ การนำวรรณคดีเรื่องเดียวกันจากหลายต้นฉบับมาเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของทั้งตัวบท วัฒนธรรม และยุคสมัย เช่นเรื่องรามเกียรติ์ที่นอกจากจะอ้างอิงทั้งฉบับพระราชนิพนธ์ ร.๑ และ ร.๒ แล้ว ยังนำฉบับรามายณะของอินเดียมาอธิบายเพิ่มเติมอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่สมบูรณ์แบบ หนังสือสำหรับอ่านเพลินๆ เล่มนี้ก็เช่นกัน ข้อตำหนิที่จะมีให้ก็คือ มีที่พิมพ์ผิดที่ไม่น่าให้อภัยอย่างน้อยสี่แห่ง (เท่าที่เห็น) ได้แก่ หน้า ๙๖ “เย็บเจี๊ยบ” (เย็นเจี๊ยบ) หน้า ๑๑๘ “พิศเนศ” (พิฆเนศ) หน้า ๑๑๙ “ทำเนียม” (ธรรมเนียม) และหน้า ๑๒๙ “ไกลลาส” (ไกรลาส) อันแรกยังพอเข้าใจได้ว่า บ กับ น อยู่ใกล้กัน แต่สามอันหลังนี่ไม่น่าผิดขนาดนี้ได้เลย ไม่แน่ใจว่าการพิมพ์ผิดเหล่านี้เกิดจากขั้นตอนใดกันแน่ ได้แต่หวังว่า หากมีการพิมพ์ซ้ำ (เนื่องจากขายดี) ก็ขอให้สำนักพิมพ์รับผิดชอบการพิสูจน์อักษรให้รอบคอบกว่านี้ด้วย
๗/๑๐ ครับ
ป.ล. สงสัยเรื่องเดียวว่า หนังสือเล่มนี้มีการแบ่งเนื้อหาเป็นบทๆ แต่ทำไมไม่มีหน้าสารบัญ?