โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
17 กรกฎาคม 2016
ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 068; เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดงาน “เมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรภาพยนตร์” นำภาพยนตร์ 7 เรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรที่โรงภาพยนตร์ มาฉายที่โรงหนังสกาลา โดยฉายเดือนละเรื่อง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงธันวาคมปีนี้ (เดือนธันวาจะฉาย 2 เรื่องในวันที่ 4 กับวันที่ 5 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา) ตั๋วราคา 100 บาททุกที่นั่ง ดิฉันผู้เบี้ยน้อยหอยน้อยแต่ชอบดูหนังและมีโรงหนังสกาลาเป็นบ้านหลังที่สองและรักพระเจ้าอยู่หัวที่สุดในชีวิต ย่อมไม่พลาดงานนี้ค่ะ #เกิดมาเพื่อสิ่งเน้!!!
ภาพยนตร์ที่ได้ฉายเปิดงาน ก็คือเรื่อง สันติ-วีณา ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2497 ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ ตรงปากคลองตลาด (เดี๋ยวนี้กลายเป็นอาคารอะไรไปแล้วสักอย่าง)
หนังเรื่องนี้ดิฉันเคยได้ยินแต่ชื่อ ไม่เคยคิดฝันว่าจะได้ดู เพราะว่าฟิล์มหนังไม่ได้อยู่ในเมืองไทยฮ่ะ เรื่องมันมีอยู่ว่า ตอนที่ผู้อำนวยการสร้างนำหนังไปประกวดที่ญี่ปุ่นนั้น พอเสร็จงาน จะนำฟิล์มต้นฉบับกลับมาไทย ปรากฏว่าต้องเสียภาษีนำเข้าฟิล์มภาพยนตร์ #เออะ!! ผู้สร้างก็เลยจำเป็นต้องทิ้งฟิล์มไว้ที่โน่น สุดท้ายฟิล์มก็หายสาบสูญไป เวลาผ่านไป 60 กว่าปี จนกระทั่งปี 2555 ก็มีผู้ไปพบฟิล์มต้นฉบับที่ห้องสมุดสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ พอปี 2556 พบฟิล์มสำเนาที่หอภาพยนตร์แห่งชาติรัสเซีย และปี 2557 ก็พบอีกก๊อปปี้หนึ่งที่หอภาพยนตร์สาธารณรัฐประชาชนจีน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณะภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยใช้ทั้งสามก๊อปปี้มาประกอบและเทียบเคียงกัน เริ่มโครงการตั้งแต่ปลายปี 2557 แล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2559 พอเสร็จปุ๊บก็ได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองกานส์เมื่อเดือนพฤษภาคม ในสาย Cannes Classics (ไม่รู้ชมพู่อารยาได้ไปดูหรือเปล่า) และหลังจากบูรณะก็ได้มาฉายในเมืองไทยเป็นครั้งแรกในวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม ที่เพิ่งผ่านมานี้เอง
หนังสันติ-วีณา ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างมากในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เพราะเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี 35 มม. ตามมาตรฐานสากลในการผลิตภาพยนตร์ (ก่อนหน้านี้หนังไทยใช้ฟิล์ม 16 มม.) และเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ ได้แก่ รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม และกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม จากงานภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งยังได้รับรางวัลพิเศษจากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกา ในฐานะภาพยนตร์ที่แสดงวัฒนธรรมของเอเชียได้อย่างดีเด่นด้วย #กราบงามๆ
ผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้ และทำหน้าที่ถ่ายภาพจนได้รับรางวัลดังที่เล่ามาข้างต้น ก็คือ รัตน์ เปสตันยี ดิฉันรู้จักชื่อท่านมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่รู้ได้ยินมาจากไหน เหมือนพ่อจะเคยพูดถึง ที่จำได้แม่นเพราะนามสกุลท่านแปลก เนื่องจากบรรพบุรษของท่านเป็นชาวเปอร์เซีย ท่านเป็นโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้เขียนบท ผู้กำกับภาพ คนสำคัญของไทย เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างสรรค์และพัฒนาภาพยนตร์ไทยในยุคบุกเบิก สำหรับเรื่องสันติ-วีณา ท่านเลือกทีมงานระดับสุดยอดมาเลย ผู้กำกับศิลป์คือ อุไร ศิริสมบัติ ฝีมือเฉียบขาดมากจนคว้ารางวัลจากการประกวดที่ญี่ปุ่นมาได้ ผู้เขียนบทมีสองคน ได้แก่ ครูวิจิตร คุณาวุฒิ ผู้ซึ่งต่อมาเป็นผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างมือรางวัล และเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) ประจำปี พ.ศ.2530 (ดิฉันเคยดูหนังเรื่อง “คนภูเขา” กับ “ลูกอีสาน” ที่ท่านกำกับและโปรดิวซ์ มันเลิศมากกกก) อีกท่านหนึ่งที่เขียนบทสันติ-วีณา คือ ทวี ณ บางช้าง หรือครูมารุต ผู้กำกับหนังดังหลายเรื่อง เช่น “พันท้ายนรสิงห์” และ “ชั่วฟ้าดินสลาย” (ไม่ใช่เวอร์ชันอนันดานะฮะ อิๆๆ) เป็นผู้แต่งเพลง “น้ำตาแสงไต้” กับ “ชั่วฟ้าดินสลาย” (กรี๊สสสสส) และในเรื่องสันติ-วีณา ท่านรับหน้าที่ผู้กำกับด้วย
ที่จริงดิฉันมีโอกาสได้ดูหนังไทยเก่าๆ บ่อยครั้ง เขาเอามาฉายทางทีวี แต่ดูไม่ได้ตลอดรอดฝั่งเท่าไหร่ ไม่ใช่เพราะหนังไม่สนุก แต่เพราะภาพมันลายมาก ดูแล้วปวดลูกกะตาจนต้องเปลี่ยนช่องหนี พอมาดูสันติ-วีณาซึ่งผ่านการบูรณะแล้ว แทบจะกรี๊ดสลบ ภาพเนี้ยบมากกกก มีความคมชัด สีสวย และดูเป็นธรรมชาติ หนังมีโครงเรื่องที่เรียบง่าย เป็นเรื่องราวของสันติ หนุ่มตาบอดผู้ใสซื่อบริสุทธิ์ กับวีณา สาวสวยผู้ก๋ากั่นแก่นเซี้ยว ทั้งสองรักกันแต่ถูกกีดกัน พล็อตก็ธรรมดาประมาณนี้ แต่บทแน่นเปรี๊ยะและแม่นยำมาก ส่วนงานด้านภาพนั้น แค่ฉากแรกปรากฏบนจอ น้ำตาก็จะไหลแล้วฮ่ะ ทำให้ดิฉันรู้ซึ้งเลยว่า การที่หนังเรื่องหนึ่งจะเป็นหนังดี หรือที่ดิฉันนิยามว่า “หนังสนุก” ได้นั้น ปัจจัยสำคัญคือบท กับการเล่าด้วย “ภาษาหนัง” ซึ่งการถ่ายภาพและกำกับศิลป์จะมีบทบาทสำคัญมาก ปัจจัยอื่นๆ เป็นเรื่องรองลงมา อย่างนักแสดงในเรื่อง อาจจะไม่ได้แสดง “ดี” ตามมาตรฐานของปัจจุบัน เสียงพากย์ก็ฮาๆ อยู่ แต่ก็ไม่ได้ทำลายความดีงามของหนังเลย ความ “ไม่เป๊ะ” บางอย่างอาจจะทำให้ดูเชยหรือล้าสมัย แต่ในขณะเดียวกันหนังก็มีความร่วมสมัย และบางสิ่งยังล้ำสมัยเกินหน้าหนังไทยปัจจุบันไปอีก ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ภาพยนตร์ “สันติ-วีณา” คือมรดกอันล้ำค่าของประเทศไทยอย่างแท้จริง
สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 190
ภาพ: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทอดพระเนตร “สันติ-วีณา” รอบปฐมทัศน์ ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ (จากภาพปกจดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 34, กรกฎาคม – สิงหาคม 2559)