หรือนี่จะเป็นทางแก้เจ็ตแล็ก?

711

12 กุมภาพันธ์ 2016

ร้อยกว่าปีที่แล้ว รัดยาร์ด คิปลิงเขียนว่า กำเนิดของเครื่องบินจะบ่งบอกถึงยุคที่ “ระยะทางที่อยู่ห่างกันแสนไกลที่สุดจะเชื่อมเข้าหากันได้ด้วยการเดินทางเพียงหนึ่งสัปดาห์ หรือหนึ่งร้อยหกสิบแปดชั่วโมงเท่านั้น” แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยีนำพาเราก้าวเกินจุดนั้นไปแล้ว ปัจจุบันนักออกแบบเครื่องบินคาดว่าผู้โดยสารนักธุรกิจจะสามารถเดินทางจากนิวยอร์กไปลอนดอนได้ในเวลาแค่ 11 นาทีหรือไปเซี่ยงไฮ้แค่ 24 นาทีเท่านั้น

นี่น่าจะช่วยย่นเวลาน่าเบื่อในเครื่องบินไปได้ แต่ความเร็วในการเดินทางแก้ปัญหาเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น นาฬิกาในร่างกายของมนุษย์เดิน 24 ชั่วโมงต่อวัน มีวงจรปกติที่มีทั้งความสว่างและความมืด การเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลาได้เร็วขึ้นยิ่งจะทำให้นาฬิกาชีวิตมนุษย์ปั่นป่วนมากขึ้นเมื่อเดินทางถึงจุดหมายปลายทาง

โชคดีที่นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเชื่อว่าได้ค้นพบวิธีแก้เมาเวลาเมื่อเดินทางแล้ว หรืออย่างน้อยก็บรรเทาไม่ให้อาการอ่อนเพลียเป็นปัญหามากนัก ไม่น่าแปลกใจนักที่วิธีแก้ปัญหานั้นเกี่ยวข้องกับแสง ซึ่งควบคุมจังหวะวงจร 24 ชั่วโมงของมนุษย์ นักวิจัยทดลองเปิดปิดไฟถี่ๆ ในห้องที่ผู้เข้าร่วมการทดลองนอนหลับอยู่ เพื่อดูว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนจังหวะธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ และหลอกให้ร่างกายคิดว่าตอนนี้เป็นช่วงเวลาอื่นได้หรือไม่

ดูเหมือนจะเป็นไปได้ นักวิจัยด้านการนอนหลับกล่าวว่า โดยปกติร่างกายใช้เวลาประมาณหนึ่งวันเพื่อปรับตัวกับการเปลี่ยนเวลาหนึ่งชั่วโมง ดังนั้น หากเราเดินทางจากลอนดอนไปมอสโคว ซึ่งต้องข้ามเส้นแบ่งเวลาสามเส้น เราจะใช้เวลาสามวันในการปรับตัวเข้ากับเวลาท้องถิ่น เพราะอย่างนั้น หากเดินทางไปทำธุรกิจสองหรือสามวัน คุณจะง่วงนอนตลอดเวลา แต่หากก่อนเดินทางหนึ่งคืน ลองเปิดปิดไฟเป็นช่วงๆ ภายในระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงขณะนอนหลับช่วงเช้ามืด ร่างกายจะถูกหลอกให้คิดว่าพระอาทิตย์ขึ้นมาแล้วสามชั่วโมงก่อนหน้านั้น พูดอีกนัยก็คือ ก่อนเดินทางไปมอสโคว ร่างกายปรับตัวให้เข้ากับเวลาของมอสโควเรียบร้อยแล้ว

ในการทดลองก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ทดลองใช้แสงไฟที่เปิดต่อเนื่องเพื่อปรับเปลี่ยนจังหวะของวงจรชีวิต แต่จากคำกล่าวของนักวิจัยจากสแตนฟอร์ด แสงต่อเนื่องช่วยปรับนาฬิกาชีวิตของมนุษย์ได้เพียง 36 นาทีเท่านั้น ตรงกันข้าม การเปิดไฟสองมิลลิวินาทีทุกๆ 10 วินาทีจะช่วยเร่งการปรับตัวของนาฬิกาชีวิตได้โดยเฉลี่ยเกือบสองชั่วโมง หรือบางครั้งก็มากกว่านั้น แน่นอนว่าคนที่ต้องเดินทางส่วนใหญ่ไม่สามารถมานอนในห้องทดลองได้ทุกครั้งก่อนบิน ดังนั้น คณะวิจัยสแตนฟอร์ดจึงกำลังพัฒนาหน้ากากที่สวมใส่ขณะนอนหลับ ติดตั้งด้วยหลอดไฟแอลอีดี ซึ่งสามารถสั่งการผ่านสมาร์ตโฟนได้

นักวิจัยตีพิมพ์รายงานผลการทดลองสัปดาห์นี้ ที่แน่ๆ ครั้งนี้ยังไม่ใช่บทอวสานของการต่อสู้ยาวนานกับอาการเมาเวลาเมื่อเดินทาง แต่หลังจากเห็นว่าวิธีแนะนำแบบอื่น เช่น “สวมแว่นกันแดด” หรือ “ใจเย็น ๆ ตั้งสติดี ๆ” ไม่ค่อยน่าประทับใจเท่าไรนัก นี่อาจเป็นอีกหนึ่งก้าวที่ทำให้เราเข้าใกล้อนาคต ที่นอกจากการเดินทางจะรวดเร็วแล้ว ยังไม่ทำให้เรารู้สึกอ่อนเพลียและสามารถเริ่มงานได้ทันทีที่เดินทางถึงได้อีกด้วย

ที่มาข้อมูล: www.economist.com