โดย Average Joe

26 ตุลาคม 2015

“บาปหน้าตาเป็นยังไง ไม่เคยเห็น”
“เณรกลัวสิ่งที่เณรเห็น แล้วสิ่งที่เณรมองไม่เห็นล่ะ กลัวมั้ย”

%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b8%95%e0%b8%b43

ที่มารูป: http://www.adintrend.com

คำพูดสองประโยคข้างต้นของตัวละครสองคนในเรื่องเกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ใจความในสองประโยคดังกล่าวกลับมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน จากตัวอย่างหนังเรื่อง “อาบัติ/อาปัติ” ด้วยเนื้อหาของเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในผ้าเหลือง อาชญากรรมและความผิดบาป รวมไปถึงผีเปรต คงทำให้หลายคนนึกไปถึงตอน “หลาวชะโอน” ในหนังเรื่อง “ห้าแพร่ง” ได้โดยไม่ยาก ในขณะที่ “หลาวชะโอน” กล่าวถึงอาชญากรรมและการลงทัณฑ์ “อาบัติ/อาปัติ” ก็ได้ตั้งสมมติฐานต่อในประเด็นที่ใกล้เคียงกันว่า “หากโทษทัณฑ์ของการทำผิดไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน คนอาจจะกล้าทำผิดกันมากขึ้น”

ต่อให้เป็นคนที่ไม่ได้ใกล้ชิดศาสนามากนัก ก็เชื่อว่าตอนเด็กๆ ทุกคนคงได้รับการสั่งสอนมาคล้ายๆ กันว่าให้คิดดีทำดี อย่าเบียดเบียนหรือทำผิดต่อผู้อื่น มิฉะนั้นจะต้องถูกผลกรรมลงโทษ หากใครทำผิดก็จะเชื่อกันว่า คนคนนั้นก็จะได้รับผลร้ายจากการกระทำของตน อย่างเบาก็อาจจะทำให้ชีวิตเดือดร้อนไปบ้าง อย่างหนักคือตายไปก็จะตกนรก หรือในกรณีที่ทำผิดร้ายแรงมากก็จะไปเกิดเป็นเปรต (กี่ร้อยชาติก็ว่ากันไป) หนังสือหลายเล่มเขียนบรรยายถึงนรกแต่ละขุมอย่างละเอียด หรือลักษณะของผีเปรตที่น่ากลัวแกมน่าสังเวช เรื่องราวเหล่านี้แม้จะน่ากลัวขนาดเก็บเอาไปฝันร้ายได้ แต่ก็ถือว่าทำให้หลายคนรู้สึกเชื่อและเกรงกลัวบาปกรรมอยู่ครามครัน

ทว่าเมื่อโตขึ้น เราได้เห็นโลกในหลายแง่มุมมากขึ้น จึงรู้ความจริงว่า หลายครั้งกรรมก็ไม่ได้ตามทันอย่างที่เราเคยคิดไว้ โดยเฉพาะในสังคมที่กฎหมายอ่อนพอๆ กับกฎแห่งกรรม ส่งผลให้คนสมัยนี้ทำอะไรแบบไม่เกรงกลัวโทษทัณฑ์และบาปกรรมกันมากขึ้น เราจึงได้ยินสำนวนประเภท “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” กันอยู่เนืองๆ เมื่อมีตัวอย่างให้เห็นบ่อยขึ้นว่า คนทำผิดกลับไม่ได้ถูกลงโทษอย่างที่ควรจะเป็น ขนาดตัวบทกฎหมายซึ่งเป็นรูปธรรมมากกว่า ยังถูกลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ลงไปเรื่อยๆ นับประสาอะไรกับคำว่า บาปกรรม นรก หรือเปรต ซึ่งเป็นนามธรรมหรือเรื่องเล่าเชิงสัญลักษณ์ ก็ย่อมถูกลดสถานภาพเป็นเพียงนิทานปรัมปราที่แต่งขึ้นมาหลอกเด็กไปโดยปริยาย

“อาบัติ” คือโทษหรือความผิด แม้โดยทั่วไปคำนี้จะใช้เฉพาะกับพระสงฆ์ที่ทำผิดวินัย แต่หนังก็ชวนให้เราคิดถึงการทำผิดในกรณีอื่นๆ ด้วย ธรรมดามนุษย์เราเกิดมาย่อมเคยทำผิดพลาดมาแล้วทั้งนั้น แต่การรับมือกับความผิดพลาดของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป บ้างก็หลบหนีหรือพยายามปกปิด บ้างก็ยอมรับผิดแต่โดยดี ตัวละครหลักของทั้ง “หลาวชะโอน” และ “อาบัติ” ต่างก็ใช้ผ้าเหลืองเป็นที่หลบหนีความผิดที่ตัวเองเคยทำไว้ โดยหารู้ไม่ว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของผ้าเหลืองนั้นจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้สวมผ้าเหลืองต้องมีหิริโอตตัปปะครองไว้กับตนเองด้วย หากไร้ซึ่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดีแล้ว ผ้าเหลืองที่คลุมกายก็คงเป็นเพียงเศษผ้าธรรมดาๆ เท่านั้น

แม่หนูฝ้ายในเรื่องอยู่กับยายที่ชอบทำบุญ โดยเธอเองก็เป็นลูกมือช่วยยายเตรียมของใส่บาตรอยู่เป็นประจำ หากมองเพียงภายนอก ฝ้ายก็เป็นเด็กสาวต่างจังหวัดที่ดูเรียบร้อยว่าง่าย เข้าวัดเข้าวาเป็นประจำ ทว่าแม่หนูที่ดูแสนน่ารักคนนี้กลับกล้าเดินเข้าสู่พื้นที่สีเทาอย่างไม่กริ่งเกรงหรือลังเลใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะความไร้เดียงสาจริงๆ หรือเพราะความรั้นเยี่ยงวัยรุ่นทั่วไป ที่ทำให้เธอไม่ได้คำนึงถึงผลพวงที่จะตามมาสักเท่าไรนัก

มีคนเคยพูดให้ฟังว่า เรื่องผีนั้นที่จริงแล้วเป็นเพียงกุศโลบายของคนโบราณในการสอนเรื่องศีลธรรมให้กับลูกหลานและเยาวชน ผู้เล่าใช้วิธีบรรยายและแต่งเติมรายละเอียดความน่าสยดสยองให้ผีประเภทต่างๆ เพื่อให้คนฟังรู้สึกกลัวและคิดตามไปว่า หากทำอะไรไม่ดีไว้ตอนที่มีชีวิตอยู่ เมื่อตายไปแล้วก็จะกลายเป็นภูติผีที่หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว (หากทำแต่ความดี พอตายไปก็จะดูดีมีออร่า เป็นเทวดานางฟ้าอะไรก็ว่าไป) ผีที่มีรูปร่างน่ากลัว ก็เป็นภาพสะท้อนความชั่วร้ายเน่าเหม็นของบาปกรรมที่เคยทำไว้ในอดีตนั่นเอง แต่ทว่า ดูเหมือนคนสมัยนี้จะไม่มองว่าเรื่องผีกับบาปกรรมนั้นเป็นสิ่งเดียวกันเลยด้วยซ้ำ ดังนั้น การกลัวผีจึงกลายเป็นเพียงความบันเทิงกระตุ้นอะดรีนาลินของผู้รับฟัง/ชม โดยไม่มีบทบาทในการสอนหรือตักเตือนเรื่องบาปบุญคุณโทษเช่นที่เคยเป็นอีกต่อไป

อาบัติ/อาปัติ” อาจจะนำเสนอภาพด้านลบของบุคคลในวงการสงฆ์จนกลายเป็นประเด็นที่ถูกเพ่งเล็งตามที่เรารู้กัน ทว่าหากมองเลยเปลือกนอกนั้นมาแล้ว ก็จะพบว่าเนื้อหาที่แท้ของหนังคือการกระตุ้นให้เราได้ทบทวนตัวเองว่ามี “จิตสำนึก” ที่เป็นเกณฑ์การวัดความผิดชอบชั่วดีในตัวเองอยู่มากน้อยเท่าไร และเราจะรับมือกับความผิดของตัวเองอย่างไร บาปกรรมของแต่ละคนอาจจะเป็นสิ่งที่ผู้อื่นมองไม่เห็น แม้กฎหมายหรือกฎแห่งกรรมจะไม่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างชัดเจนนัก แต่ผีร้ายในใจของคนทำผิดทุกคนย่อมตามหลอกหลอนเขาไปตราบชั่วกัลปาวสานแน่นอน

8/10 ครับ

ป.ล. ตอนแรกที่รู้ว่ามีหนังเรื่องนี้ ยังคิดอยู่เลยว่าคงเป็นดราม่าอย่างเดียวแบบ “นาคปรก” พอมาดูตัวอย่างหนัง อ้าวเฮ้ย ผีมาเต็มๆ แล้วกรูดันดูคนเดียวหลังเที่ยงคืนซะด้วย… ฉิบ
ป.ล. 2 คนที่นั่งดูถัดไปเก้าอี้นึง มากันชายหนึ่งหญิงหนึ่ง ฝ่ายหญิงพูดไม่หยุดตั้งแต่ก่อนหนังฉาย จนหันไปมองด้วยสายตาเคืองๆ พอหนังเริ่มฉายก็เงียบไป (ซักที) แต่แล้วนางก็พึมพำออกมาอีกตอนท้ายๆ เรื่อง (คงคิดว่าเสียงตัวเบาแล้ว แต่คนใกล้ๆ ก็ได้ยินอยู่ดี) ได้แต่กลอกตาแล้วทำใจ ส่วนฝ่ายชายไม่พูดอะไรมาก แค่โน้มตัวไปขยับๆ ที่วางแขนของที่นั่งแถวหน้า (ไม่มีคนนั่ง) แล้วก็ถอดรองเท้า บรรจงเอาตรีนวาง นั่งดูสบายใจเฉิบ เจริญมั้ยประเทศไทย