ภาค 2 ยังเติร์กห้าว เปรมกล้า
โดย ช. คนไม่หวังอะไร
14 ธันวาคม 2559
ที่มาของคำว่า “ยังเติร์ก” มาจากชื่อของมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก นายทหารหนุ่มผู้ปลดปล่อยประเทศและก่อตั้งประเทศตุรกี ดำเนินการปฏิรูปประเทศตุรกีให้เป็นประเทศสมัยใหม่ที่เน้นประชาธิปไตยและไม่อิงศาสนา สำหรับยังเติร์กไทยนั้น เริ่มก่อตัวทางความคิดจากนายทหารหลายรุ่นที่ร่วมรบในสงครามเวียดนาม สงครามลับที่ลาวและเขมร ประกอบกับในยุคจอมพลถนอม-จอมพลประภาสนั้น พันเอกณรงค์ กิตติขจร แกนนำ จปร. รุ่น 5 มีอำนาจและศักยภาพมาก ครั้นเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นายทหารจากจปร. รุ่น 5 เริ่มอับแสง และนายทหารจากจปร. รุ่น 7 เริ่มฉายแสง โดยได้เข้าสู่ตำแหน่งระดับผู้บังคับกองพัน อันเป็นหน่วยกำลังระดับสำคัญในกองทัพ ซึ่งนายทหารรุ่นนี้และรุ่นต่อมามีแนวความคิดไม่ต้องการให้ประเทศมีสภาพเช่นประเทศเพื่อนบ้าน จึงเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงตั้งแต่การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 แกนนำกลุ่มยังเติร์กได้แก่ พันโทมนูญ รูปขจร พันโทจำลอง ศรีเมือง และพันโทประจักษ์ สว่างจิตร วีรบุรุษตาพระยา
อาจต้องทำความเข้าใจก่อนว่าแนวความคิดต่อสังคมของทหารมีที่มาอย่างไร จากเดิมที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงดำเนินนโยบายตามแนวทางของสหรัฐอเมริกาในทฤษฏีโดมิโน (หมายถึง ถ้าประเทศในทวีปเอเชียใช้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ประเทศข้างเคียงก็จะถูกครอบงำและกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย) จึงได้ใช้กำลังทหารไทยเข้าร่วมสงครามลับที่ลาวและเขมรเพื่อต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ ผู้ปกครองในยุคจอมพลถนอม-จอมพลประภาสก็มีแนวทางการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในสองทิศทาง กล่าวคือ พลเอกแสวง เสนาณรงค์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พลตำรวจตรีอารีย์ กรีบุตร และพันเอกหาญ พงศ์สิฏานนท์ ต้องการใช้แนวทางการเมืองแบบสันติวิธีสายพิราบ ขณะที่พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์และพลตำรวจตรีชัช ชยางกูร ต้องการใช้แนวการเมืองแบบใช้ความรุนแรงสายเหยี่ยว ทั้งสองกลุ่มขัดแย้งอย่างรุนแรงมาตลอด ผู้นำในสายพิราบมีการสร้างแนวร่วมทางความคิดสันติวิธี โดยกระทำเป็นสองด้าน โดยสายพิราบทำแนวร่วมระดับสูงในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และกองบัญชาการตำรวจสันติบาล กับขยายตัวแบบจัดตั้งในระดับนายทหารคุมกำลัง นักวิชาการ สื่อมวลชนที่ไม่สะดวกต่อการรับฟังการบรรยายโดยตรง เพราะเกรงต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งการขยายตัวนี้รวมไปถึงสหภาพแรงงาน นิสิตนักศึกษา และระดับประชาชน
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งคุมพื้นที่ภาคอีสาน ทหารม้าผู้มีบุคลิกพูดน้อย หน้ายิ้ม ใจเย็น ใช้นโยบายการเมืองนำการทหารตามรอยพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก้าวสู่ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อปี 2520 และในปีถัดมา ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมีพลตรีชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายทหารคนสนิท มีพลตรีหาญ ลีนานนท์ เป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก และในปี 2523 พลเอกเปรมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่งตั้งให้พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และมีนายทหารยังเติร์กจากจปร. รุ่น 7 เข้าสู่ตำแหน่งสำคัญเป็นจำนวนมาก ได้แก่ พันเอกมนูญ รูปขจร เป็นผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ พันเอกประจักษ์ สว่างจิตร ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ พันเอกชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล ผู้บัญชาการกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ พันเอกแสงศักดิ์ มงคละสิริ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ พันเอกบวร งามเกษม ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 11 รักษาพระองค์ พันเอกสาคร กิจวิริยะ ผู้บังคับการกองพันสารวัตรทหารที่ 11 มณฑลทหารบกที่ 11 พันโทพัลลภ ปิ่นมณี ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 19 พล 9 และพันเอกชูพงศ์ มัทวพันธุ์ ผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ขณะเดียวกันมีนายทหารอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีแนวความคิดให้นำระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาของชาติ โดยมีพลตรีระวี วันเพ็ญ พลตรีหาญ ลีนานนท์ พลตรีชวลิต ยงใจยุทธ พันเอกสุบรรณ แสงพันธ์ พันเอกประสิทธิ์ นวาวัตน์ เป็นแกนนำ เรียกกันว่ากลุ่มทหารประชาธิปไตย
ภารกิจของรัฐบาลกึ่งทหารและการเมืองที่นำโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2521 ที่กำหนดให้อำนาจวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งมีอำนาจเหนือกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา ซึ่งครั้งแรกที่พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น พลอากาศเอกหะริน หงสกุล ประธานวุฒิสภาและประธานรัฐสภาในขณะนั้นเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยมีคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายอำนวย วีรวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายตามใจ ขำภโตเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พลตรีจำลอง ศรีเมือง ทหารยังเติร์ก เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมามีการปรับคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง มีการแต่งตั้งพลเอกประจวบ สุนทรางกูรเป็นรองนายกรัฐมนตรี นายสมหมาย ฮุนตระกูลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พลเอกสิทธิ จิรโรจน์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชวน หลีกภัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พลตรีสุตสาย หัสดิน ผู้ก่อตั้งกลุ่มกระทิงแดง เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลุ่มทหารยังเติร์กเน้นการบริหาร กลุ่มทหารประชาธิปไตยเน้นการเมือง และให้กอ.รมน. กับศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) เป็นฝ่ายปฏิบัติการ การจัดตั้งและการขยายแนวร่วมเป็นไปอย่างเข้มข้น มีนักวิชาการหลายคนเข้าร่วมในกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ รวมถึงสื่อมวลชนและนักศึกษา
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเติบโตมากหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ทั้งนิสิต นักศึกษา นักวิชาการ และผู้นำสหภาพแรงงาน เข้าร่วมอุดมการณ์กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในป่าเป็นจำนวนมาก รัฐบาลและทหารจึงใช้นโยบายทางการเมืองนำการทหารเพื่อคนออกจากป่าสู่เมือง ด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ซึ่งกลุ่มทหารประชาธิปไตยโดยพลตรีชวลิต ยงใจยุทธเป็นผู้ยกร่าง พร้อมกับเปิดยุทธการทางทหารที่ภูหินร่องกล้า อันเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก กับยุทธการทางทหารที่เขาช่องช้าง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และการปะทะกับกองกำลังเวียดนาม ซึ่งให้การสนับสนุนเฮง สัมรินและฮุนเซนในการเข้ายึดเขมรจากการถูกปกครองโดยเขมรแดง เมื่อกรุงพนมเปญแตก เขมรแดงได้ถอยร่นมาตามแนวชายแดนไทย กองกำลังเวียดนามจึงรุกต่อเนื่องจนเกิดการปะทะกันตามแนวชายแดนจังหวัดอุบลราชธานี-ตราด-ปราจีนบุรี-จันทบุรี
ความอึมครึมมีทั่วๆ ไปแม้ว่าจะมีการเลือกตั้ง กลุ่มการเมืองต่างเริ่มมีความชัดเจนทางการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นฐานที่มั่นของขุนนางศักดินาที่ดิน พรรคกิจสังคมเป็นฐานของกลุ่มทุนธนาคารและพาณิชย์ ส่วนพรรคชาติไทยเป็นฐานให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมและภูธร แต่ทหารไม่มีความเป็นเอกภาพ มีนายทหารระดับสูงหลายคนออกมาเตือนกลุ่มทหารหนุ่มว่าอย่านอกแถว พร้อมกับมีประชุมสังสรรค์เฉพาะจปร.รุ่น 1 ถึง 8 ยกเว้นรุ่น 7 ขณะที่บางส่วนผลักดันการต่ออายุราชการให้พลเอกเปรม ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกไปอีก 1 ปี ก่อให้เกิดการขัดแย้งในกองทัพมากขึ้นจนมีการย้ายพลตรีอาทิตย์ กำลังเอกไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 พลตรีหาญ ลีนานนท์ขึ้นเป็นพลโทในตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ พลตรีชวลิต ยงใจยุทธจากนายทหารคนสนิทไปเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก หลังจากนั้นไม่กี่เดือน กลุ่มทหารหนุ่มหรือยังเติร์กก็กระทำการปฏิวัติในวันที่ 1 เมษายน 2524 ตามความเชื่อในทัศนคติที่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิวัติ ซึ่งมีข้อมูลบางด้านระบุว่า พลเอกเปรมไม่ปฏิเสธในรอบแรก แต่พอเริ่มปฏิบัติการกลับไม่เห็นด้วย พันเอกประจักษ์ สว่างจิตรและพันเอกมนูญ รูปขจรจึงขอให้พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ โดยมีพันเอกมนูญเป็นเลขาธิการคณะปฏิวัติ แม้กองกำลังจะมีถึง 42 กองพัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นการใช้กองกำลังมากที่สุดในการปฏิวัติ แต่กลับไม่ได้เตรียมความพร้อมมาก่อน คำสั่งและประกาศของคณะปฏิวัติบางส่วนเป็นการนำเสนอโดยกลุ่มทหารประชาธิปไตย ด้วยความชะล่าใจ แม้จะทำการยึดสถานที่สำคัญต่างๆ ไว้หมด แต่พลเอกเปรมก็สามารถกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา แล้วตั้งกองบัญชาการตอบโต้ ปลดผู้กระทำการปฏิวัติออกจากตำแหน่งทางทหาร และให้พลตรีอาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นผู้บัญชาการในการปราบปราม