ภาคแรก: รุ่งเรือง โชติช่วงชัชวาล
โดย ช. คนไม่หวังอะไร
แม้ยังเติร์กจะจบ พลเอกอาทิตย์จะอัสดง ก็มิใช่ว่าพลเอกเปรมจะบริหารงานได้ราบรื่นและมีเอกภาพ ความไม่ลงรอยกันในพรรคกิจสังคมและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขัดแย้งกันในการเลือกหัวหน้าพรรค นำมาสู่การไม่ลงมติเห็นชอบในการแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาธิปัตย์บางส่วน แม้รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์จะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากรัฐมนตรี เพื่อให้ปรับคณะรัฐมนตรี แต่พลเอกเปรมกลับยุบสภา โดยอ้างว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนไม่ได้รับรู้ความเห็นของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ ทำให้ญัตติที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีตกไปด้วย หลังจากการยุบสภา และมีการเลือกตั้งใหม่ปี พ.ศ. 2531 พรรคประชาธิปัตย์แตกออกไปตั้งพรรคประชาชนบางส่วน หลังการเลือกตั้ง พรรคชาติไทยได้รับเลือกตั้ง 87 คน พรรคกิจสังคม 55 คน พรรคประชาธิปัตย์ 51 คน พรรครวมไทย (นำโดยนายณรงค์ วงศ์วรรณ) 34 คน พรรคประชากรไทย 31 คน พรรคราษฎร (นำโดยพลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์) 21 คน พรรคประชาชน (นำโดยนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และนายวีระ มุสิกพงศ์) 19 คน พรรคปวงชนชาวไทย (นำโดยพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก) 17 คน พรรคพลังธรรม (นำโดยพลตรีจำลอง ศรีเมือง) 15 คน ซึ่งต่อมาจัดตั้งรัฐบาลโดยเชิญให้พลเอกเปรมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่พลเอกเปรมปฏิเสธ พร้อมกับการสิ้นสุดลงของบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งเหนือกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า แม้อำนาจในรัฐสภา วุฒิสมาชิกจะมากกว่า แต่ก็มิใช่ว่าอำนาจฝ่ายบริหารจะควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติได้เสมอไป ซึ่งพลเอกเกรียงศักดิ์ และพลเอกเปรมก็พ้นจากตำแหน่งด้วยกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติเช่นกัน
พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย ทายาทกลุ่มซอยราชครูรุ่นที่ 2 จัดตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมีนายพงส์ สารสิน นายพิชัย รัตตกุล พลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี นายกร ทัพพะรังสี ทายาทกลุ่มซอยราชครูรุ่นที่ 3 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุมพลังงาน ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุงเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุมองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท) นายประมวล สภาวสุเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายบรรหาร ศิลปอาชาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พลตรีประมาณ อดิเรกสารเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายมนตรี พงษ์พานิชเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุบิน ปิ่นขยันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พันโทสนั่น ขจรประศาสน์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยต่อมามีการปรับคณะรัฐมนตรี นายพิชัย รัตตกุลพ้นจากรองนายกรัฐมนตรี โดยมีนายชวน หลีกภัยรับตำแหน่งแทน นายบรรหาร ศิลปอาชาสลับตำแหน่งกับพลตรีประมาณ อดิเรกสาร และการปรับครั้งต่อมา นายพงส์ สารสินพ้นจากรองนายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัยสลับตำแหน่งกับพันโทสนั่น ขจรประศาสน์ พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลาพ้นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ โดยมีนายสุบิน ปิ่นขยันมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทน พลเอกชวลิต ยงใจยุทธลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดจากกองทัพ มารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอมเรศ ศิลาอ่อนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอกเป็นรองนายกรัฐมนตรี นายวีรพงษ์ รามางกูรเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยโยกนายประมวล สภาวสุไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี เหตุที่มีการปรับคณะรัฐมนตรีหลายครั้งเพราะมีความขัดแย้งกันมากในพรรค ประกอบกับความกดดันทางทหาร หลังจากนั้นพลเอกชวลิต ยงใจยุทธลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจากการโจมตีของรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ซึ่งพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณแก้ไขด้วยการปรับร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุงจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้แต่งตั้งพลเอกอาทิตย์ กำลังเอกเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง
การบริหารราชการภายหลังเริ่มสิ้นสุดสงครามเย็น เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รัฐบาลยอมรับพันธะข้อ 8 ของกองทุน IMF เพื่อเปิดเสรีดำเนินการซื้อขายและโอนเงินเพื่อการชำระสินค้าและบริการระหว่างประเทศ กับดำเนินนโยบายต่างประเทศจากเผชิญหน้าไปสู่นโยบายเศรษฐกิจสู่ความมั่นคง เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ประสานงานให้เจรจากันระหว่างเขมร 4 ฝ่าย ยุติการสู้รบ และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ประเทศออสเตรเลียให้การช่วยเหลือแบบให้เปล่าในการสร้างสะพานไทย-ลาว จังหวัดหนองคายเชื่อมกับนครเวียงจันทน์ อีกทั้งพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณได้เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเจรจาการค้าและการลงทุนกับประธานาธิบดีจอร์จ บุช การบริหารงานภายในพรรคร่วมรัฐบาล พลเอกชาติชายมักจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระทรวงที่บริหารโดยพรรคการเมืองอื่น ด้านความมั่นคง แม้พลเอกชาติชายจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ก็ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการโยกย้ายนายทหาร ทุกอย่างปล่อยไปตามครรลอง ด้านการต่างประเทศ แม้ช่วงแรกจะมีความขัดแย้งระหว่างทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก (นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย, นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์, นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ) กับกระทรวงการต่างประเทศ แต่ก็ปรับท่าทีและรอมชอมกัน
มิติภาพรวมในยุคประชาธิปไตย พลเอกชาติชายดำเนินการให้มีนิคมอุตสาหกรรมในทุกภูมิภาค พร้อมๆ กับโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและภาคใต้ โครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจในภาคเหนือ นำไทยสู่ยุคอุตสาหกรรม ขยายถนนทั่วประเทศ รถไฟฟ้า และสนามบินนานาชาติ จัดทำโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย โครงการสัมปทานดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร การส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 3 แสนล้านบาทเป็น 8 แสนล้านบาท ราคาที่ดินสูงขึ้น ตลาดหุ้นบูม เศรษฐกิจขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ 11.4% นอกจากนั้น ยังยกเลิกคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 (ปร. 42) อันเป็นคำสั่งของคณะปฏิวัติในการควบคุมสื่อสารมวลชน มีการนิรโทษกรรมผู้ก่อกบฏ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 กับออกกฎหมายประกันสังคม และคืนเงินอายัดของขบวนการนักศึกษาที่รัฐบาลยึดไว้ เมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งต่อมาได้นำเงินส่วนนี้มาเป็นกองทุนเริ่มต้นสำหรับโครงการสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
การผ่อนคลายการควบคุมเพื่อช่วยให้เงินทุนเข้าออกได้สะดวกขึ้นสร้างความมั่นใจแก่ผู้ลงทุน เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว การส่งออกขยายตัวจากถัวเฉลี่ยปีละ 8.19% (2525-2529) เติบโตสูงขึ้น 36.01% ในปี 2531 การขยายตัวของการลงทุนภายในประเทศจากถัวเฉลี่ยเดิมปีละ 4.61% เพิ่มขึ้น 32.28% ในปี 2531 ส่วนการก่อสร้างในภาคเอกชนจากเดิมถัวเฉลี่ย 8.5% เติบโตขึ้น 31.9% ในปี 2531 และในปี 2532 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 35.4% มูลค่าเงินลงทุนกว่า 125,000 ล้านบาท มีเศรษฐกิจหน้าใหม่จำนวนมาก การซื้อขายที่ดินเพื่อเก็งกำไรขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2529 มี 32,201 ล้านบาท ปี 2531 เพิ่มเป็น 109,541 ล้านบาท การลงทุนสุทธิจากต่างประเทศถัวเฉลี่ยปี 2526-2529 ปีละ 8,200-9,500 ล้านบาท เพิ่มเป็น 38,820 ล้านบาท ในปี 2532 พร้อมกับเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนด้วยการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ลดราคาน้ำมัน ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และปรับเงินเดือนข้าราชการ
จากการดำเนินนโยบายการคลังแบบรัดเข็มขัดในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง ระบบทุนนิยมโลกฟื้นตัวจากภาวะถดถอย พลเอกชาติชายปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจใหม่ สร้างความนิยมในหมู่นายทุนพาณิชย์และทุนอุตสาหกรรม ซึ่งแย่งชิงอำนาจกันทางสังคมระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจของกลุ่มอำมาตย์กับกลุ่มการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จากเดิมกลุ่มอำมาตย์ยึดกุมวุฒิสมาชิกซึ่งมาจากข้าราชการ ทหาร และพลเรือนกว่า 80% แต่กลับมีการแต่งตั้งนายวรรณ ชันซื่อ ซึ่งสนิทสนมกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นประธานวุฒิสภาโดยขณะนั้น ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง การครอบงำกระบวนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจลดลงระดับหนึ่ง ทำให้พลเอกชาติชายไม่ยอมอ่อนข้อต่อข้อเรียกร้องและกดดันของประเทศสหรัฐอเมริกาในการแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ยอมทำสัญญาจำกัดการส่งออกมันสำปะหลังโดยไม่เรียกร้องสิทธิประโยชน์ภายใต้ GATT (ความตกลงทั่วไประหว่างประเทศว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า) ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่
เกือบ 3 ปีเต็ม ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบ ธุรกิจ-การเมืองเติบโตควบคู่กันไป กระทรวงคมนาคมมีห้าเสือกรมทาง ปูนซีเมนต์ขาดแคลน ต้องนำเข้าและให้ใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานใหม่ การสื่อสารโทรคมนาคมที่ยังไม่พอเพียง ทำให้มีโครงการโทรศัพท์พื้นฐาน 3 ล้านเลขหมายและโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ เช่น ดีแทค เอไอเอส จัสมิน และเทเลคอมเอเซีย (ทรูในปัจจุบัน) เริ่มงาน โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและภาคใต้ ดอนเมืองโทลล์เวย์และโฮปเวลล์ล้วนแล้วแต่เพิ่งเริ่ม แต่ต้องชะงักเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพภายใต้การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก ขณะที่ จปร.7 พลตรีจำลอง ศรีเมือง ขึ้นเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย 2 สมัยซ้อน ในปี พ.ศ. 2528 และพ.ศ. 2533