ฟองสบู่แตก เพราะการเมืองหรือความละโมบ
โดย ช. คนไม่หวังอะไร
รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2534 มีลักษณะครึ่งใบ สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมด แม้อำนาจในรัฐสภาจะน้อยกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีอำนาจกลั่นกรองกฎหมาย รวมไปถึงอำนาจหน้าที่บางส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยกร่างขึ้นภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจ และมีการใช้กว่า 6 ปี ระหว่างนั้นมีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 4 ครั้ง มีรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นไปแบบไม่ต่อเนื่อง นับแต่พลเอกสุจินดา คราประยูรเป็นนายกรัฐมนตรี 47 วัน นายอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง 3 เดือน นายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก 2 ปี 10 เดือน นายบรรหาร ศิลปอาชา 1 ปี 4 เดือน พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ 11 เดือน และนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในระหว่างนั้นได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม เช่น ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ซึ่งเดิมกำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา และกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเดิมมิได้กำหนดไว้
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปแต่ละครั้ง มีการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างดุเดือด ทุนกับนักการเมืองและพรรคการเมืองย่อมมีความสัมพันธ์กันโดยปริยาย เพราะการเลือกตั้งแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายมาก นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา กลุ่มทุนจากธุรกิจอุตสาหกรรม-พลังงาน-สถาบันการเงิน-รับเหมาก่อสร้าง-การเกษตร-อสังหาริมทรัพย์-ยานยนต์และธุรกิจสื่อสารมีบทบาทต่อพรรคการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนภูมิภาค มีผู้มากบารมีและมีอิทธิพลต่อการจัดตั้งและเลือกตั้ง โดยภาคเหนือ ได้แก่ นายณรงค์ วงศ์วรรณ ภาคกลาง นายบรรหาร ศิลปอาชาและนายเสนาะ เทียนทอง ภาคตะวันออก นายสมชาย คุณปลื้ม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ เป็นต้น การบริหารจัดการในพรรคการเมืองแต่เดิมจัดให้นักการเมืองในภูมิภาคที่เป็นแกนนำได้สิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหากพรรคการเมืองนั้นร่วมรัฐบาล มาภายหลังนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา การบริหารจัดการดังกล่าวเปลี่ยนไป เมื่อทุนขนาดใหญ่เริ่มเข้าสู่แกนกลางอำนาจในพรรคการเมืองโดยตรง การบริหารจัดการจะมีคณะผู้บริหารซึ่งได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้ดำเนินการแทน ผู้มากบารมีและอิทธิพลในภูมิภาคถูกลดอิทธิพลลงจากศูนย์กลางของพรรคโดยปริยาย ขณะที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่นั้นเริ่มมีอำนาจในพรรคการเมืองมากขึ้น ซึ่งเบื้องหลังในเรื่องนี้อาจจะดูได้ไม่ยากนัก เมื่อพรรคการเมืองใดเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมักจะมีการจัดบุคคลที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุนดำรงตำแหน่งสำคัญในทางการเมือง รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐที่เป็นรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน
คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ปี พ.ศ. 2535- พ.ศ. 2537 มีนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีนายศุภชัย พานิชภักดิ์ นายอำนวย วีรวรรณ และนายบุญชู โรจนเสถียรเป็นรองนายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอุทัย พิมพ์ใจชนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นาวาตรีประสงค์ สุ่นศิริเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการปรับคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง และเกิดความอื้อฉาวในการแจกส.ป.ก. 4-01 จนมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคพลังธรรมลาออกจากการร่วมรัฐบาล จนมีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 16 คน ที่เรียกกันว่ากลุ่ม 16 ย้ายเข้าพรรคชาติไทย ผลการเลือกตั้ง พรรคชาติไทยได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด 90 คน นายบรรหาร ศิลปอาชาเป็นนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งสร้างความขัดแย้งขึ้นในพรรคชาติไทย เมื่อนายเสนาะ เทียนทองต้องไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายมนตรี พงษ์พานิชเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงข้อสงสัยต่อชาติตระกูลของนายกรัฐมนตรี พร้อมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อภิปรายด้วยถ้อยคำที่รุนแรงต่อนายบรรหาร ศิลปอาชา พร้อมกับมีการข่มขู่จากพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะไม่ยกมือไว้วางใจ นายบรรหาร ศิลปอาชาจึงยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ กลุ่มนายเสนาะ เทียนทองย้ายออกจากพรรคชาติไทย เข้าพรรคความหวังใหม่ที่มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นหัวหน้าพรรค ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคความหวังใหม่ได้รับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด 125 คน พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายเสนาะ เทียนทองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอำนวย วีรวรรณเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุขวิช รังสิตพลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายกร ทัพพะรังสีเป็นรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
คณะรัฐมนตรีชุดพลเอกชวลิต ยงใจยุทธบริหารราชการแผ่นดินได้เพียง 11 เดือน ต้องพบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ฟองสบู่แตก พลเอกชวลิตจึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยมีการช่วงชิงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคประชากรไทยจนเกิดกลุ่มงูเห่า เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งของพรรคประชากรไทยฉีกตัวออกไปร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ในที่สุดนายชวน หลีกภัยได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยมีนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเช่นเดิม พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุเทพ เทือกสุบรรณทะยานขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งในครั้งนี้ นายชวน หลีกภัยควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย นับได้ว่าเป็นพลเรือนคนที่สองที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นผู้แต่งตั้งพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นผู้บัญชาการทหารบก
ระบอบการปกครองแม้ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบและมีข้อครหาเรื่องการคอรัปชัน แต่การบริหารราชการหลากหลาย มีการแข่งขันกันที่ค่อนข้างเสรี ไม่จำกัดเหมือนในระบอบการปกครองที่มาจากการยึดอำนาจ นายชวน หลีกภัยเป็นลูกชาวบ้าน มารดาเป็นแม่ค้าขายของในตลาด บิดาเป็นข้าราชการเล็กๆ นายบรรหาร ศิลปอาชาเป็นนักธุรกิจภูธรที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นนักการทหารที่ได้ชื่อว่าเป็นขงเบ้งแห่งกองทัพ แต่ละคนขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในการปกครอง เป็นนายกรัฐมนตรีโดยผ่านการเลือกตั้งและคัดกรองจากสภาผู้แทนราษฎร การสิ้นสุดจากอำนาจก็เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย
การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 มีหลายสาเหตุประกอบกัน การส่งออกเดิมเติบโตมากในปีพ.ศ. 2529-พ.ศ. 2534 แต่เริ่มชะลอตัวลงในปี พ.ศ. 2535-พ.ศ. 2538 และคงที่กับทรุดตัวปี พ.ศ. 2539-พ.ศ. 2543 จากเดิมรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณยอมรับพันธะข้อ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อเปิดเสรีการซื้อขายการโอนเงินและบริการระหว่างประเทศ ทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัว รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุนเปิดวิเทศธนกิจ BIBF ก่อนหมดอายุรัฐบาล รัฐบาลนายชวน หลีกภัยออกใบอนุญาตให้สถาบันการเงิน 46 แห่ง ทำให้ระบบการเงินขยายตัวมากขึ้น นักลงทุนต่างเห็นโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูง จึงลงทุนเกินตัวในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน สวนเกษตร สนามกอล์ฟ และโรงงานอุตสาหกรรม มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเป็นสินเชื่อระยะสั้น ทำให้สถาบันการเงินภายในประเทศสามารถเพิ่มการปล่อยสินเชื่ออย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดภาระหนี้สินในปีพ.ศ. 2539 ถึงร้อยละ 50.4 ของรายได้ประชาชาติ ปีพ.ศ. 2540 มีหนี้ต่างประเทศสูงถึง 109,270 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับที่กลุ่มการเงินขนาดใหญ่จากต่างประเทศโจมตีค่าเงินจนธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทโดยไม่จำกัดวงเงิน ซึ่งมีการใช้เงินทุนสำรองไปกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (250,000 ล้านบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น) ทำให้ปริมาณเงินทุนสำรองเมื่อเทียบกับปริมาณสินเชื่อระยะสั้นเข้าสู่ระดับอันตราย
รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธจึงประกาศเปลี่ยนระบบแลกเปลี่ยนการเงินเป็นระบบลอยตัว ตัดการอิงเงินสกุลดอลลาร์เพื่อพยุงระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเดิมเป็นอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ 25 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินบาทตกต่ำไปถึง 40-50 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ เจ้าหนี้ต่างประเทศดึงเงินกลับ ในประเทศไม่มีเงินทุน สถาบันการเงินหลายแห่งล้ม สินทรัพย์ที่มีก็ด้อยค่า เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ถึง 40.52% ประเทศแทบล้มละลาย รัฐบาลต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ถึง 17,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สถาบันการเงินต้องเพิ่มทุนครั้งใหญ่ในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยดึงทุนต่างประเทศเข้ามาซื้อหุ้นธนาคารกสิกรไทย 32,000 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ 45,000 ล้านบาท รัฐบาลสั่งปิดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 58 แห่ง ธนาคารพาณิชย์ 3 แห่ง และให้สถาบันการเงินเพิ่มทุนอีก 10 แห่ง พร้อมกับใช้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปช่วยเหลือ สิ้นเงินกว่า 6 แสนล้านบาท ธุรกิจของเอกชนปิดกิจการจำนวนมาก ราคาสินค้าและบริการต่างๆ แพงขึ้น