โดย ช. คนไม่หวังอะไร
หากติดตามมาโดยลำดับ คงจะทราบดีว่าระบบเศรษฐกิจและสังคมเราหละหลวมหลายด้าน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางการเมืองเป็นไปตามยุคสมัยของผู้มีอำนาจ กลุ่มทุนเก่าที่มีทุนดั้งเดิม ผนวกกับผู้มีอำนาจทางทหารในแต่ละช่วง เกิดการสนธิกันกับกลุ่มคนจีนที่เก่งการค้า กลายเป็นทุนที่มีอำนาจทางสังคมและบริบททางปกครอง เรามีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ความเป็นประชาธิปไตยจะมีมากหรือน้อยก็มักอ้างตามกรอบอำนาจในรัฐธรรมนูญจนความศักดิ์สิทธิ์ของความหมายในประชาธิปไตยลดลง และลืมนึกกับคิดไปว่าเป็นไปได้หรือที่รัฐธรรมนูญซึ่งเกิดจากอำนาจในแต่ละช่วงซึ่งคณะผู้มีอำนาจกำหนดขึ้นนั้นจะมีความเป็นประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 เริ่มเป็นรูปร่างขึ้นมาเมื่อกลุ่มทุนเก่าล้ม ศักยภาพที่เคยมีเสื่อมลง นิติบุคคลจำนวนมากหายไป บางแห่งรอดตัวด้วยการร่วมทุนเพิ่มหุ้นโดยลดต้นทุนต่อหุ้น ไม่เว้นแม้แต่ปูนซีเมนต์ไทย ซีพี และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือทีพีไอ พร้อมกับการเติบโตขึ้นมาของกลุ่มธุรกิจใหม่ คือธุรกิจคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร ชินคอร์ป เอไอเอส จัสมิน และดีแทค กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยซัมมิท และพลังงาน
โครงสร้างอำนาจในรัฐธรรมนูญมีความสมดุลทางอำนาจ สมาชิกรัฐสภาทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญห้ามมิให้ก่อการรัฐประหาร ลดอำนาจส่วนกลาง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้องค์กรท้องถิ่นปกครองตนเอง มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตเดียวเบอร์เดียว 400 เขตเลือกตั้ง มีคณะกรรมการการเลือกตั้งรับผิดชอบการเลือกตั้งแทนกระทรวงมหาดไทย มีศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และมีการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ส่วนการรวมหรือโอนกระทรวง ทบวง กรมให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ประกาศใช้และมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากระบบเขตเลือกตั้ง 400 คน จากระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ผลการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยโดยพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ได้รับเลือกตั้ง 248 คน พรรคประชาธิปัตย์โดยนายชวน หลีกภัย ได้รับเลือกตั้ง 128 คน พรรคชาติไทยโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้รับเลือกตั้ง 40 คน พรรคความหวังใหม่โดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้รับเลือกตั้ง 36 คน พรรคชาติพัฒนา 29 คน พรรคเสรีธรรม 14 คน การเลือกตั้งครั้งนี้ต่อสู้กันในสนามเลือกตั้งอย่างเข้มข้น กลุ่มทุนใหม่จากธุรกิจใหม่เข้ามามีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งอย่างเต็มตัว
มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ประกอบด้วย พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร้อยตำรวจเอกปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเกษม วัฒนชัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายวันมูหะมัดนอร์ มะทาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอดิศัย โพธารามิกเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีการปรับคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง พร้อมกับควบรวมพรรคความหวังใหม่และพรรคชาติพัฒนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคไทยรักไทย พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทนพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดชเป็นรองนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทินเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และมีการจัดตั้งกระทรวงใหม่ในปี พ.ศ. 2545 คือ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลชุดนี้ถือได้ว่าเป็นรัฐบาลชุดแรกที่ดำเนินการแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วยภาษาสำนวนที่อาจพูดได้ว่าเป็นภาษาแนวนโยบายสังคมนิยม และมีเอกภาพสูงในการดำเนินการตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ มีการโยกงบประมาณพร้อมบุคลากรมาดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การตั้งกองทุนหมู่บ้าน การพักหนี้เกษตรกร โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค พร้อมกับสร้างฐานรายได้ระยะยาวให้กับชุมชนในชนบท ด้วยโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอทอป (OTOP) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงทุน และมีทุนในการประกอบสัมมาอาชีพ พร้อมกับการปราบปรามผู้มีอิทธิพล และยาเสพติด
ถึงแม้รัฐบาลจะมีศักยภาพในการดำเนินการต่างๆ แต่มันก็ไม่ง่ายนัก เมื่อเอเซียยังอยู่ในระยะที่ทรุดตัวกับทรงตัว เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 เกิดวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ธุรกิจการบินของโลกชะงัก การท่องเที่ยวลดลง และในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2546 ประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับประเทศอิรัก ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2547 เริ่มมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกทั่วประเทศ ทำให้สหภาพยุโรประงับการนำเข้าสัตว์ปีกจากไทย วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546 เกิดข่าวลือในประเทศกัมพูชาว่า นางสาวสุวนันท์ คงยิ่ง ดารานักแสดงชาวไทย กล่าวว่านครวัดเป็นของประเทศไทย เป็นเหตุให้เกิดการจราจลบุกเผาสถานทูตไทยและอาคารพาณิชย์ที่คนไทยเป็นเจ้าของในกรุงพนมเปญ รัฐบาลไทยต้องส่งเครื่องบินซี-130 ไปรับคนไทยกว่า 500 คนกลับประเทศ ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 เกิดความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการเผาโรงเรียน 20 แห่งใน 11 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส ผู้ก่อการไม่สงบยังสังหารนายทหาร 4 นาย พร้อมยึดอาวุธปืนอีก 100 กระบอกจากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เกิดเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาชาวมุสลิม 6 คนที่ถูกจับกุมตัวในข้อหายาเสพติดและยักยอกอาวุธปืนที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ต่อมามีการสลายการชุมนุม พบว่ามีผู้ชุมนุม 78 คน เสียชีวิตบนรถบรรทุกเนื่องจากขาดอากาศหายใจระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมมายังค่ายทหาร
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้ได้เร่งรัดโครงการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิจนแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 พร้อมกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทำสถิติเพิ่มขึ้นสูงสุดในโลก เมื่อปี พ.ศ. 2546 เทียบกับปีก่อน +116% GDP เพิ่ม 6.7% เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจาก 4.3 หมื่นล้านเป็น 5.4 หมื่นล้าน ลดหนี้สาธารณะ 57% เหลือ 41% ของ GDP ขณะเดียวกัน ในเมืองหลวงได้วางระบบขนส่งมวลชน จัดระบบเทคโนโลยีต่อสาธารณะ พร้อมกับพยายามบล็อคจัดพรรคการเมืองต่างๆ ให้มารวมกัน ให้เหลือเพียง 2 พรรค 2 แนวคิด
ด้วยศักยภาพของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรดังกล่าว เสมือนก่อให้เกิดการวางเครือข่ายอาจจะโดยไม่ตั้งใจด้วยตัวเอง ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้ทำให้เกิดการรวมศูนย์แบบแรงและเร็ว จนนำไปสู่การกระทบกันในทางลึกของเครือข่ายอำนาจเก่าโดยเฉพาะในทางธุรกิจและเศรษฐกิจของกลุ่มอำนาจเดิม จนนำไปสู่การห้ำหั่นกันในทางเปิด ด้วยความเชี่ยวชาญของกลุ่มอำนาจเดิมบนกลไกของจารีตประเพณีและความมั่นคง รวมถึงการดำเนินการทางจิตวิทยาจิตนิยมกับกระแสการคอรัปชัน จึงนำไปสู่การปฏิวัติในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ปิดฉากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 แล้วสังคมไทยก็ย้อนเข้ายุคปี พ.ศ. 2525 อีกครั้ง และเป็นอีกครั้งที่สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ที่ไร้ระบบ เสมือนเป็นสงครามในเมือง ซึ่งมิใช่สงครามในป่าอีกถึง 8 ปีเต็ม