โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

27 มกราคม 2016

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 051; ชวนแม่ไป House Rama ดู Spotlight หนังที่ใครๆ ก็บอกว่าจะทำให้ความรู้สึกของคุณที่มีต่อเพลง Silent Night เปลี่ยนไปตลอดกาล หุๆๆๆๆ

spotlight

ที่มารูป: http://www.impawards.com

Spotlight สร้างจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 2001 – 2002 เมื่อ The Boston Globe หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ลงสกู๊ปข่าวเปิดโปงว่า บาทหลวงคาทอลิกเกือบร้อยรูปในเมืองนั้นได้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศเด็กชายตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา มีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก โดยสำนักบาทหลวงทำทุกวิถีทางที่จะปิดบังเรื่องนี้ และปล่อยให้มันเกิดขึ้นต่อไป ข่าวนี้สร้างความสั่นสะเทือนช็อกซีนีม่าไปทั้งบาง ส่งผลให้ความจริงเปิดเผยออกมาอีกว่า จำนวนบาทหลวงที่ทำอนาจารเด็กในบอสตันและเด็กที่ตกเป็นเหยื่อมีมากกว่านั้นประมาณ 3 เท่า ทั้งก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังเมืองต่างๆ รัฐต่างๆ ประเทศต่างๆ ให้ขุดคุ้ยเรื่องราวเยี่ยงนี้ในโบสถ์ท้องถิ่นของตน แล้วก็พบว่ามีมหาศาลบานตะเกียง จากสกู๊ปข่าวนี้ทำให้หนังสือพิมพ์เดอะบอสตันโกลบได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในฐานะสื่อมวลชนที่สร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคม ในปี ค.ศ. 2003

ผู้ที่จัดทำสกู๊ปช็อกโลกดังกล่าว คือทีมนักข่าวสืบสวนของเดอะบอสตันโกลบ นามว่า “สปอตไลต์” ตั้งชื่อทีมแบบนี้เข้าใจว่าจะให้เป็นแสงไฟที่ส่องให้เห็นความจริงในเรื่องต่างๆ แล้วเขาก็ทำได้เช่นนั้นจริงๆ ทีมสปอตไลต์ประกอบด้วยนักข่าวมือพระกาฬ 4 คน ได้แก่ หัวหน้าทีม คือ วอลเตอร์ “ร็อบบี้” โรบินสัน (แสดงโดย ไมเคิล คีตัน) และลูกทีม คือ ไมเคิล เรเซนเดส (แสดงโดย มาร์ค รัฟฟาโล) ซาช่า ไฟเฟอร์ (แสดงโดย เรเชล แม็คอดัมส์) และ แม็ตต์ คาร์โรลล์ (แสดงโดย ไบรอัน ดาร์ซี่ เจมส์)

หนังตามติดการทำงานของทีมสปอตไลต์ ตั้งแต่รับนโยบายจากบรรณาธิการบริหาร มาร์ตี้ บารอน (แสดงโดย เลียฟ ชไรเบอร์) รวบรวมหลักฐานข้อมูลจากข่าวตัดและหนังสือทำเนียบบาทหลวง โดยต้องสืบค้นย้อนหลังไปหลายสิบปี (สมัยนั้นยังค้นทางอินเทอร์เน็ตไม่ได้) ขอข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในโบสถ์คาทอลิก ตามสัมภาษณ์ทนายที่เคยทำคดีเรื่องนี้ สัมภาษณ์เหยื่อซึ่งต่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่และได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังได้สัมภาษณ์บาทหลวงที่เคยทำอนาจารเด็กด้วย (คำตอบของบาทหลวงฟังแล้วเหวอระดับ 10) การทำงานทั้งหมดนี้ไม่ง่ายเลย เพราะในเมืองบอสตัน คริสตจักรโรมันคาทอลิกมีอิทธิพลมากถึงมากที่สุด ทีมสปอตไลต์จึงต้องเผชิญอุปสรรคขัดขวางมากมาย หลักฐานก็หายากเพราะสำนักบาทหลวงดำเนินการกลบเกลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นระบบมาก โชคดีที่มิตเชล การาบีเดียน (แสดงโดย สแตนลีย์ ทุคชี่) ทนายความที่ต่อสู้เพื่อเหยื่อคดีล่วงละเมิดทางเพศมาโดยตลอด ยอมมาเป็นแหล่งข่าวสำคัญให้แก่ทีม แต่นอกจากอุปสรรคภายนอกแล้ว ทีมยังต้องต่อสู้กับวิกฤตศรัทธาในใจของตัวเองด้วย เพราะพวกเขาต่างก็เป็นคาทอลิก (เฮ้อ!) หนังเรื่องนี้จึงเรียกร้องการแสดงที่เข้มข้นมาก ซึ่งนักแสดงแต่ละคนก็ตัวพ่อตัวแม่โดยแท้ เล่นเหมือนจะเรียบๆ แต่ลึกและคม และทุกคนโดดเด่นเท่ากันหมด สมแล้วที่กวาดรางวัลทีมนักแสดงยอดเยี่ยมมาแทบจะทุกเวที

ในยุคที่สื่อมวลชนกำลังถูกตั้งคำถามถึงบทบาท หน้าที่ และมนุษยธรรม หนังเรื่องนี้เป็นเสมือนคำตอบว่าสื่อมวลชนที่แท้จริงเขาทำงานกันอย่างไร แม้ “ความทุ่มเท” จะเป็นคุณสมบัติสำคัญของสื่อมวลชน แต่สื่อมวลชนก็ไม่ควรทุ่มเทเพื่อให้ได้ “ข่าว” มากกว่าจะทุ่มเทเพื่อให้ได้ “ความจริง” อันจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนและยกระดับสังคมให้ดีขึ้น คำว่า “จรรยาบรรณ” นั้น แท้ที่จริงก็คือ “คุณธรรมพื้นฐาน” ที่แต่ละคนต้องมีในจิตใจ เราจึงอาจเรียกมันว่า “สามัญสำนึก”

สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 120

หมายเหตุ: Spotlight เข้าชิงออสการ์ 6 สาขา
1. ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
2. ผู้กำกับยอดเยี่ยม – ทอม แม็คคาร์ธี (นักแสดง ผู้กำกับ และนักเขียนบทฝีมือฉกาจ เป็นคนเขียนบทเรื่อง Up และ Million Dollar Arm)
3. บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม – ทอม แม็คคาร์ธี และ จอช ซิงเงอร์ (หนึ่งในผู้เขียนบทและโปรดิวเซอร์ซีรีส์ Law and Order: SVU – กราบ)
4. นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม – มาร์ค รัฟฟาโล (เคยเข้าชิงจาก The Kids are All Right และ Foxcatcher)
5. นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม – เรเชล แม็คอดัมส์ (หนึ่งในนักแสดงหญิงฝีมือดีของยุคนี้ ผลงานเด่นในใจดิฉันได้แก่ The Notebook, Red Eye, The Family Stone และ About Time)
6. ตัดต่อยอดเยี่ยม