โดย ช. คนไม่หวังอะไร
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยดำเนินการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ปีพ.ศ. 2560-2564 ซึ่งใช้เงินลงทุนจากภาครัฐ 3 แสนล้านบาทและภาคเอกชนอีกกว่า 1.9 ล้านล้านบาท นับได้ว่าเป็นการลงทุนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย จากอดีตที่เคยลงทุนโดยภาครัฐและเอกชนภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศในโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ 1.5 แสนล้านบาท เมื่อปีพ.ศ. 2545-2549
ในโครงการขนาดใหญ่นี้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย่อมเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงเกษตร ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประธานหอการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรม ประธานสมาคมธนาคาร เป็นกรรมการ และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งต่อมาได้แต่งตั้งพลอากาศเอกประจิน จั่นตองและพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะร่วมเป็นกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณา ให้ความเห็นชอบแผนหรือโครงการต่อ คสช. เพื่ออนุมัติ กำหนดแนวทาง กำกับ ดูแล ติดตาม แต่งตั้งอนุกรรมการ ออกระเบียบ ประกาศ คำสั่ง เพื่อปฏิบัติ ฯลฯ มีโครงการที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการในปีพ.ศ. 2560 จำนวน 48 โครงการ วงเงินรวม 6,992 ล้านบาท ใช้งบกลางปี พ.ศ. 2560 เพื่อเริ่มลงทุนให้มีความคืบหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เริ่มสร้างโครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ช่วงต่อขยาย โครงการพัฒนามาบตาพุด โครงการขยายช่องทางจราจรเชื่อมต่อกันในภาคตะวันออก ระยะทาง 1,000 กิโลเมตร โดยมีงบบูรณาการปี พ.ศ. 2561 อีก 11,732 ล้านบาท มีโครงการมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี นครราชสีมา-แหลมฉบัง โครงการปรับปรุงทางหลวงพื้นที่บริเวณอู่ตะเภา-มาบตาพุด และโครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเลระยอง-ชลบุรี
เท่าที่ติดตามดู เหมือนว่าทางรัฐบาลพยายามเชิญชวนภาคเอกชนทั้งต่างประเทศและไทยเข้าร่วมในโครงการนี้ โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ ฉะเชิงเทรา-คลอง19-แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร งบประมาณในการลงทุน 64,300 ล้านบาท รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง-พัทยา และก่อสร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภากับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ด้วยการขยายอาคารผู้โดยสาร สร้างศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและระบบโลจิสติกส์ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน กิจการพาณิชย์ปลอดอากร และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบิน ส่วนที่ค่อนข้างเงียบแต่น่าสนใจก็คือ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด เพื่อเป็นศูนย์ขนส่งสินค้า-ท่าเทียบเรือชายฝั่ง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กับโครงการเมืองใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายการลงทุนรวมภาครัฐ-เอกชน 400,000 ล้านบาท แต่ยังไม่กำหนดแน่ชัดในพื้นที่ 1. รอยต่อเมืองฉะเชิงเทรา-ชลบุรี 2. เขตเมืองระยองใกล้บ้านค่าย 3. เมืองใหม่พัทยาที่การท่องเที่ยวกำหนดไว้ 4. เมืองใหม่อู่ตะเภาจากสนามบินอู่ตะเภา 5 กม. ซึ่งโครงการนี้จะรองรับประชากรที่จะเพิ่มขึ้นอีก 5 เท่าใน 10 ปี จากปี พ.ศ. 2559 จำนวน 2.4 ล้านคน เป็น 13.5 ล้านคน ซึ่งมากกว่ากรุงเทพมหานคร เนื่องจากจะมีแหล่งงานและคนเข้ามาอยู่อาศัยมาก และจะมีการลงทุนใหม่ตามมาอีกมาก
ภาคตะวันออกอาจได้ชื่อว่าเป็นแหล่งทองคำของคนทั่วไป แต่คนในพื้นที่อาจไม่ชอบคำกล่าวนี้ เพราะช่วง 20 ปีมานี้ อุตสาหกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมายแม้นิติบุคคลขนาดใหญ่จะใช้งบ CSR แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมหลายกรณี แต่เชื่อว่าเกือบครึ่งหรือกว่าครึ่งของคนในพื้นที่ไม่ชอบระบบอุตสาหกรรมที่มีอยู่ แม้ว่าจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทราจะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมรวมกันกว่า 1,914,127 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงสุดถึง 82.04% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคซึ่งมีมูลค่า 2,333,201 ล้านบาท โดยระยองมีมูลค่าผลิตภัณฑ์รวมจังหวัด 874,547 ล้านบาท ชลบุรี 516,688 ล้านบาท ฉะเชิงเทรา 323,528 ล้านบาท เฉพาะระยอง มีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว 1,008,615 บาท/คน นับว่าสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นรายได้หลักนอกภาคเกษตร ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงกลั่นปิโตรเลียม การผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ยางและพลาสติก โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 9,146 โรง มีเงินลงทุนทั้งสิ้น ณ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 จำนวน 1,805,776 ล้านบาท มีคนงานรวมทั้งสิ้น 603,586 คน
คงไม่มีใครโต้แย้งว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ศักยภาพสูงในการพัฒนา เป็นเขตการลงทุนพิเศษ EEC เป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วโลก อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือของอาเซียน และมีฐานอุตสาหกรรมสำคัญ พร้อมต่อยอดหลายอุตสาหกรรมใน 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจโต 5% ต่อปี เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 100,000 อัตรา/ปี ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 4 แสนล้านบาท/ปี มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10 ล้านคน/ปี จากปัจจุบัน 32 ล้านคน/ปี และได้ฐานภาษีใหม่ 1 แสนล้านบาท/ปี แต่คงไม่เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้อันมีข้อจำกัดอยู่อีกมาก มีบางสิ่งบ่งชี้ว่าโครงการต่างๆ นี้อาจไม่แล้วเสร็จตามแผน เพราะเงื่อนไขการลงทุนจากภาคเอกชนคงจะทำให้เกิดความล่าช้าไปจากเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะประเทศในตลาดใหม่ คือ จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งมีกำลังซื้อและพลเมืองมากกว่า ทำให้ภาคเอกชนสนใจมากกว่าตลาดใหม่อย่างไทย พม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม
ในฐานะคนไทยด้วยกันก็ย่อมเชียร์ไทยเป็นธรรมดา แต่ก็ห่วงรัฐบาลว่าการดำเนินงานในโครงการเช่นนี้ระวังหน่อยก็ดี คือระวังจะถูกตรวจสอบเหมือนโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ…เป็นห่วงนะ
(ขอบคุณภาพปกจาก youtube channel: ทำเนียบ รัฐบาล)