โดย ช. คนไม่หวังอะไร
ความล้มเหลวในระบบการเมืองและเศรษฐกิจเดิมส่งผลต่อระบบสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนการล้มลงของระบบทุนนิยมทั่วโลก การเงิน การผลิต และการค้าส่งผลต่อกันเป็นลูกโซ่ นักลงทุนต่างหยุดนิ่ง เพราะเกิดความไม่มั่นใจในตลาด เทคโนโลยี กับผลที่จะได้รับกลับมา ขณะที่ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ระบบที่เป็นอยู่ส่วนใหญ่ยังเชื่องช้าและกลายเป็นล้าหลัง
ประเทศไทยเองก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน แม้โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก นักลงทุนส่วนใหญ่เห็นชอบน่าลงทุนแต่ยังชะลอจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลายโครงการที่เกี่ยวเนื่องกันก็ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงแผนงานด้านยุทธศาสตร์-ปฏิรูปประเทศของรัฐบาลและคสช. แม้บางโครงการจะถึงขั้นกำหนด TOR แล้ว ก็ยังต้องมาทบทวนแก้เงื่อนไข เช่น เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการแก้ไข TOR รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง และสั่งดำเนินการประมูลโครงการภายใน 3 เดือน ได้แก่ 1. เส้นทางนครปฐม-หัวหิน 2. หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 3. ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 4. มาบกะเบา-จิระ 5. ลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทางรวม 670 กิโลเมตร งบประมาณ 97,783 ล้านบาท ซึ่งเดิม แบ่งเป็นเส้นทางละสัญญาโดยมีมูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาท เปลี่ยนไปเป็น สัญญาย่อยทั้งหมด 13 สัญญา ทำให้แต่ละสัญญามีมูลค่าลดลงอยู่ที่ 5,000-10,000 ล้านบาทต่อสัญญา ประกอบด้วยงานโยธาและราง 9 สัญญา งานอุโมงค์ 1 สัญญา ระบบอาณัติสัญญาณ 3 สัญญา รวมทั้งลดข้อกำหนดด้านประสบการณ์ของผู้รับเหมาจากเดิม 15% เป็น 10% ของมูลค่าโครงการและยกเลิกข้อกำหนดที่เอกชนต้องส่งมอบเครื่องมือและเครื่องจักรคืนแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย
นอกจากเส้นทางคมนาคมดังกล่าวแล้ว ต้องดำเนินการอีกหลายเส้นทาง ได้แก่ รถไฟสายชายฝั่งตะวันออกช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน และรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ทางหลวงพิเศษพัทยา-มาบตาพุด บางปะอิน-นครราชสีมา บางใหญ่-กาญจนบุรี และอีก 10 เส้นทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี สายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ สายสีน้ำเงิน บางแค-พุทธมณฑล สายสีเขียว ปากน้ำ-บางปูและคูคต-ลำลูกกา สายสีแดงอ่อน บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก สายสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลำโพง โครงการเหล่านี้จะไปเชื่อมโยงกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกรถไฟความเร็วสูง 250 กม./ชม. กรุงเทพฯ.-ระยอง ซึ่งจะเปิดประมูลปลายปี พ.ศ. 2560 เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา โดยอาจจะใช้บริการในเส้นทางร่วมกับแอร์พอร์ตลิงค์พญาไท-สุวรรณภูมิ และส่วนต่อขยายพญาไท-ดอนเมือง ซึ่งในกรณีนี้ภาคเอกชนไม่ค่อยเห็นด้วยกับแผนงานปัจจุบัน ที่จะให้โดยสารจากดอนเมืองแล้วไปต่อที่สถานีลาดกระบังเพื่อไปอู่ตะเภา
หากจะนับการปรับตัวทางเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีสัดส่วนต่อ GDP 39% และ 9% กับภาคขนส่งการค้า 13% แล้ว ภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ การเงิน และอื่นๆ เริ่มเป็นความหวังที่ดีสำหรับประเทศไทย เพราะสามารถสร้างรายได้ถึง 24.9% ไทยมีลักษณะภูมิศาสตร์ทางกายภาพที่มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม 10 อันดับจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่มีการค้นหามากที่สุด คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต อุดรธานี หาดใหญ่ กระบี่ สุราษฎร์ธานี เชียงราย อุบลราชธานี และขอนแก่น ในปีพ.ศ. 2558 ประเมินรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.23 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 29.88 ล้านคน ปี พ.ศ. 2559 ประเมินรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 32.54 ล้านคน โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.5 ล้านบาท ไทยเที่ยวไทย 8 แสนล้านบาท หากแยกนักท่องเที่ยวต่างชาติออกตามแต่ละชาติ พอสรุปได้ดังนี้ คนจีน 8.75 ล้านคน มาเลเซีย 3.53 ล้านคน ญี่ปุ่น 1.43 ล้านคน เกาหลี 1.46 ล้านคน ลาว 1.4 ล้านคน รัสเซีย 1.08 ล้านคน เยอรมัน 8.3 แสนคน ฝรั่งเศส 7.3 แสนคน อังกฤษ 1 ล้านคน สหรัฐอเมริกา 9.7 แสนคน อินเดีย 1.1 ล้านคน และออสเตรเลีย 7.9 แสนคน
จากข้อมูลเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แหล่งท่องเที่ยวที่คนนิยมไปในแต่ละภูมิภาคของไทย มีดังนี้
(ขอบคุณภาพปกจาก pixabay.com)