โดย ช. คนสัญจร
มีการคาดการณ์ว่าโลกยุค 4.0 จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจในทุกด้าน และมีโรคแทรกซึ่งมีผลข้างเคียงมากมาย ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงจะเป็นโอกาสให้คนจำนวนมากสร้างอาชีพใหม่ๆ วิธีการทำงานรูปแบบใหม่ และสร้างรายได้เพิ่ม แต่ในทางกลับกันก็สร้างความท้าทาย การจ้างงานทางธุรกิจและอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมลดลง นำเครื่องจักรหุ่นยนต์มาใช้แทนแรงงานคน หากประเทศใดไม่สามารถปรับตัวได้ทันศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลง และอาจเกิดภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมากขึ้น เพราะพัฒนาการของเทคโนโลยีจะทำให้ราคาสินค้าและบริการหลายประเภทปรับลดลง อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ เพราะการลงทุนจะชะลอลง เนื่องจากนักธุรกิจไม่แน่ใจผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ขนาดของการลงทุนมีแนวโน้มลดลง เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจหลายประเทศจะเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมการผลิตไปสู่ภาคบริการสมัยใหม่ที่ใช้ทุนน้อยกว่า ความเหลื่อมล้ำจะสูงขึ้น เพราะช่องว่างเทคโนโลยีจะถ่างขึ้น คนที่มีทุนมากกว่ามีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายกว่า เร็วกว่า ธุรกิจ SME รวมถึงแรงงานไร้ฝีมือขาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากโลกยุค 4.0 และมีแนวโน้มที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง สร้างความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น หลายคนเรียกว่านี่คือ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4”
เพื่อความเข้าใจต่างๆ ได้ง่ายขึ้น มีการยกตัวอย่างว่าในยุคดิจิทัลนี้จะเห็นธุรกิจเกิดใหม่กลายเป็นยักษ์ใหญ่จากแทบไม่มีอะไรลงทุนเลยนอกจาก “นวัตกรรม” เช่น Uber บริษัทแท็กซี่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่มีรถแม้แต่คันเดียว Airbnb บริษัทให้บริการที่พักที่ใหญ่ที่สุด โดยไม่มีห้องพักของตนเอง “วอลมาร์ต” ยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกมีพนักงานทั่วโลกราว 2.3 ล้านคน ขณะที่ธุรกิจยุคใหม่อีคอมเมิร์ซ “อาลีบาบา” มีพนักงานแค่ 37,000 คน แต่ขนาดตลาด (market cap) ของอาลีบาบาแซงวอลมาร์ต รายได้เติบโตสูงกว่าวอลมาร์ตหลายเท่า อย่างไรก็ตาม พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยกล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า รัฐบาลได้ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ ให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปพร้อมกับโลกยุค 4.0 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
คำกล่าวของผู้นำในการปกครองฟังแล้วน่าชื่นชม แต่เมื่อไปดูรายงานจากสถาบันวิจัยต่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้จะตกใจมากกว่า เพราะระบุไว้ว่าประชากร 10% หรือประมาณ 7 ล้านคนในประเทศไทย ยังอยู่ใต้เส้นความยากจน สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า คนไทย 40% (27 ล้านคน) มีรายได้เฉลี่ยในปัจจุบัน 5,344 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งในจำนวนนี้มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 3,175 บาท ต่อคนต่อเดือน 10.5 ล้านคน และล่าสุดที่รัฐบาลให้คนจนลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้มาลงทะเบียน 8.3 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีภาระหนี้สินทั้งสิ้น โดยในจำนวนนี้เป็นเกษตรกร 2,846,535 คน รับจ้าง 2,706,116 คน ว่างงาน 1,479,729 คน พ่อบ้านแม่บ้าน 498,317 คน เจ้าของธุรกิจ 203,442 คน ลูกจ้าง 158,041 คน อื่นๆ อีก 260,860 คน ซึ่งรัฐบาลให้การช่วยเหลือคนละ 1,500 – 3,000 บาท จำนวน 2.85 ล้านคน อาจจะพอกินได้ไม่ถึงเดือน
ที่มาภาพ: ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
การดำเนินนโยบายของรัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่านๆ มา มีความไม่ชัดเจนและไม่แน่นอนเสมอมา ซึ่งแตกต่างจากภาคเอกชนมาก เพราะภาคเอกชนในระบบทุนนิยมรุกไปข้างหน้าเพื่อเป็นผู้ควบคุมการค้า อุตสาหกรรม และวิถีการผลิต ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมาก เช่น การเข้าไปลงทุนในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก จากปี พ.ศ. 2520 ลงทุนจำนวน 817.55 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2551 มีการลงทุนถึง 878,166.99 ล้านบาท โรงงานปี พ.ศ. 2520 มี 126 แห่ง ปี พ.ศ. 2551 มีจำนวนถึง 1,771 แห่ง รายได้ต่อคนต่อปี จากปี พ.ศ. 2538 จำนวน 278,186 บาท เป็น 1,242,809 บาท ในปี พ.ศ. 2553 ทำให้มูลค่ารายได้รวมจังหวัดระยอง ปี พ.ศ. 2538 จำนวน 139,670 ล้านบาท เป็น 749,878 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2553 ขณะที่ภาครัฐดำเนินการคล้ายระบบศักดินาดั้งเดิมที่มีอำนาจในการปกครอง บ่งชี้อำนาจแต่ละยุคสมัยของตนเองในการปกครอง จึงเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ผู้ถูกปกครองต้องดิ้นรนเอง ไม่เหมือนประเทศที่พัฒนา เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินเดีย หรือเกาหลีใต้ ซึ่งวางเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดขึ้นภายในระยะที่กำหนด แม้แต่ในขณะนี้ระบบอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 74,965 หมู่บ้าน ยังมีหมู่บ้านที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ถึงจำนวน 24,700 หมู่บ้าน แล้วคนไทยจะเข้าถึงเทคโนโลยีแค่เบื้องต้นได้อย่างไร
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อภาคเอกชนไทยก้าวล้ำไปถึง แค่คนรวยที่สุด 10% เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ รัฐบาลจะทำโครงการประชารัฐอย่างไรที่จะให้คนเหล่านี้มาเกื้อหนุนคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้คนไทยในยุค 4.0 เปลี่ยนแปลงจากเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี ให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ เปลี่ยนแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและทักษะสูง ส่งเสริมสนับสนุนในการต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ การออกแบบ ธุรกิจไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยีการท่องเที่ยวการบริการ เช่น การเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ ข้าว น้ำตาล มันสำปะหลังให้กลายเป็นอาหารสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีมูลค่าสูง เป็นต้น เรื่องเหล่านี้เป็นคำถาม และเป็นความเห็นที่ผู้ปกครองควรตระหนักเพื่อไม่ให้สังคมไทยเหลื่อมล้ำด้านรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2531
ที่มาภาพ: www.landactionthai.org