โดย บุษรา เรืองไทย
เมื่อครั้งก่อน เคยเขียนถึงสี่สุดยอดหญิงงามของจีนไปแล้ว ซึ่งแต่ละคนต่างมีความงามถึงขั้นล่มบ้านล่มเมืองกันเกือบทั้งสิ้น อันที่จริงในประวัติศาสตร์จีนยังมีหญิงงามอีกหลายคนทีเดียวที่มีตำนานเกี่ยวพันกับการล่มสลายของบ้านเมืองอยู่ ก็ไม่รู้ว่าผู้หญิงจีนงามนักหรืออย่างไร ถึงเป็นสาเหตุให้แต่ละราชวงศ์ล่มสลายกันเป็นว่าเล่น (บ้านเรามีตำนานเมืองล่มเพราะกินปลาไหลเผือก อ่อ แต่อันนั้นก็เป็นคนละเรื่องกัน) ทว่า สาวงามที่เป็นต้นเค้าของสำนวน “งามล่มเมือง” จริงๆ นั้น มีอยู่สองคน คือ เปาซื่อ กับหลี่ฟูเหริน
เปาซื่อ (ที่มาภาพ: blog.naver.com)
ลำดับแรก ขอเล่าเรื่องของเปาซื่อก่อน เปาซื่อเป็นคนในยุคราชวงศ์โจวตะวันตก เมื่อ 779 ปีก่อนคริสตกาล ชาวแคว้นเปา แคว้นนี้มีธรรมเนียมเรียกผู้หญิงโดยให้เรียกชื่อแคว้นก่อน ตามด้วยแซ่ตระกูล ดังนั้น คำว่า เปาซื่อ จึงบอกให้รู้ว่า นางเป็นคนแคว้นเปา เกิดในตระกูลซื่อ ช่วงนั้นแคว้นโจวปกครองโดยฮ่องเต้โจวอิวหวาง เมื่อตอนที่พระองค์ทรงสั่งให้ยกทัพไปปราบแคว้นเปาจนแตก ก็รับนางเปาซื่อเข้ามาเป็นพระสนมในครั้งนั้น เปาซื่อมีหน้าตาที่สวยสดงดงามจนฮ่องเต้ทรงรักใคร่อย่างยิ่ง ถึงขั้นปลดฮองเฮากับรัชทายาทออกจากตำแหน่ง แล้วยกเปาซื่อกับลูกชายขึ้นดำรงตำแหน่งแทน แต่เปาซื่อมีจุดที่น่าเสียดายอยู่อย่างเดียว คือนางไม่เคยมีรอยยิ้มเลย ฮ่องเต้ทรงคิดหาหนทางมากมายทำให้นางยิ้มแต่ไม่เคยสำเร็จ สุดท้ายทรงนึกแผนการออกมาได้อย่างหนึ่ง คือรับสั่งให้จุดไฟพร้อมตีกลองส่งสัญญาณว่ามีข้าศึกบุกประชิด ทั้งแม่ทัพนายกองและอ๋องทั้งหลายตามชายแดนเห็นสัญญาณก็รีบระดมทัพมาเมืองหลวงทันที เพื่อจะรู้ว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเข้าใจผิด เปาซื่อพอเห็นแม่ทัพแต่ละคนหน้าเหวอไปตามๆ กันก็หัวเราะออกมา ฮ่องเต้เมื่อทรงเห็นดังนั้นก็พอพระทัยมาก คราวหลังเลยแกล้งจุดไฟตีกลองส่งสัญญาณอีกหลายครั้ง (นี่มันเด็กเลี้ยงแกะภาคภาษาจีนชัดๆ) กระทั่งท้ายที่สุดแคว้นเซินยกทัพมาตีเมืองจริงๆ (เจ้าแคว้นเซินก็คือพระราชบิดาของฮองเฮาองค์ก่อน จะเรียกว่าพ่อตาแก้แค้นแทนลูกสาวก็คงได้) คราวนี้ไม่ว่าจะจุดไฟกับตีกลองอย่างไร ก็ไม่มีทัพไหนยกมาช่วยแล้ว เมืองจึงถูกตีแตก ฮ่องเต้โจวอิวหวางถูกปลงพระชนม์ ราชวงศ์โจวตะวันตกจึงถึงคราวสูญสลาย ส่วนเปาซื่อเองก็หายสาบสูญไป (หลังจากนี้รัชทายาทองค์เดิมก็ได้ย้ายไปตั้งเมืองหลวงใหม่ทางตะวันออก พร้อมสถาปนาราชวงศ์โจวขึ้นมาอีกครั้ง เรียกว่าราชวงศ์โจวตะวันออก) ตำนานเรื่องนี้ได้รับการบันทึกไว้ในพงศาวดารจีนหลายเล่ม รวมถึง “สื่อจี้” ผลงานบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของจีนที่รวบรวมและเรียบเรียงโดยซือหม่า เชียน แต่ล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2012 มหาวิทยาลัยชิงหวาแห่งปักกิ่งได้ชำระหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกค้นพบล่าสุดออกมา พบว่าไม่มีบันทึกเรื่องฮ่องเต้โจวอิวหวางแกล้งจุดไฟสัญญาณ หลักฐานบันทึกแค่ว่าโจวอิวหวางทรงมีรับสั่งยกทัพไปตีแคว้นเซินก่อน แต่แคว้นเซินได้รวบรวมพันธมิตรตีกลับจนราชวงศ์โจวตะวันตกพ่ายแพ้ และเห็นว่าเรื่องราวของเปาซื่อน่าจะเป็นเพียงนิทานชาวบ้านเท่านั้น ถึงแม้เรื่องจริงจะเป็นอย่างไรไม่มีใครทราบได้ แต่ชื่อและเรื่องราวของนางที่ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเล่าขานสืบต่อกันมาเกือบสามพันปีนั้นก็เป็นเรื่องจริง ดังที่จะกล่าวต่อไป
ที่เรามักได้ยินกันว่า งามล่มเมืองเอย งามล่มชาติเอย หรืองามล่มบ้านล่มเมืองทั้งหลายนั้น มาจากสำนวนจีนคือ “倾国倾城”( qīng guó qīng chéng) หรือ “倾城倾国”ก็มี แปลตรงตัวว่า “ล่มชาติล่มเมือง” ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกใน “ซือจิง” (诗经) ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทกวีเล่มแรกของประวัติศาสตร์จีน เมื่อศตวรรษที่ 11 – 6 ปีก่อนคริสตกาล “ซือจิง” รวบรวมบทกวีโบราณระหว่างสมัยราชวงศ์โจวตะวันตกตอนต้นจนถึงสมัยชุนชิวตอนกลาง ก็คือช่วงเวลาเดียวกันกับเรื่องของเปาซื่อนั่นเอง บทกวีใน “ซือจิง” แบ่งเป็นสามส่วนคือ เฟิง หย่า และซ่ง ในส่วนของ “หย่า” (雅) ที่เป็นบทกวีประกอบดนตรีเพื่อใช้ขับร้องนั้น ยังแบ่งย่อยออกเป็นสองส่วน ได้แก่ “ต้าหย่า” (大雅)กับ “เสี่ยวหย่า” (小雅)บทกวีที่รวบรวมไว้ในหมวดนี้ส่วนใหญ่เขียนขึ้นในช่วงสมัยราชวงศ์โจวตะวันตกทั้งสิ้น เพียงแต่ “ต้าหย่า” เน้นไปที่ช่วงต้นของราชวงศ์ ส่วน “เสี่ยวหย่า” เขียนขึ้นในช่วงปลายของราชวงศ์เสียส่วนใหญ่ ที่บอกว่ามีเรื่องราวของเปาซื่อปรากฏอยู่ในนี้นั้น มีอยู่สองบท คือ บทที่ชื่อว่า “จานอั๋ง” (瞻卬) ที่แปลว่า เฝ้ามอง อยู่ในส่วนของ “ต้าหย่า” กวีนิพนธ์บทนี้ความยาว 7 บท 62 วรรค วรรคละสี่คำ บรรยายถึงความคับแค้นต่อการปกครองที่กดขี่ข่มเหง ชาวบ้านลำบากยากเข็ญ ฮ่องเต้ลุ่มหลงในอิสตรี ซึ่งมีการตีความกันว่าฮ่องเต้ในกวีนิพนธ์บทนี้ก็คือ โจวอิวหวาง และสตรีผู้นั้นก็คือเปาซื่อ และก็มีอยู่วรรคหนึ่งเขียนไว้ว่า “哲夫成城,哲妇倾城。” หมายถึง “บุรุษทรงปัญญาสร้างชาติ สตรีมากสามารถล่มเมือง” นี่คือคำว่า “ล่มเมือง” ที่นับว่าปรากฏเป็นหลักฐานในยุคแรกสุด ขณะเดียวกันในส่วนของ “เสี่ยวหย่า” ก็มีกวีนิพนธ์บทหนึ่งที่ระบายความคับแค้นใจของผู้แต่งต่อบ้านเมืองในลักษณะคล้ายๆ กัน ชื่อว่า “เจิงเยว่” (正月) แปลว่า เดือนอ้าย ยาว 13 บท 94 วรรค วรรคละสี่คำ ในนั้นมีวรรคหนึ่งว่า “赫赫宗周,褒姒烕之。” แปลได้ว่า “ราชวงศ์โจวอันเกรียงไกร ล่มสลายด้วยเปาซื่อ” ให้สังเกตคำว่า “倾城” ที่ปรากฏในช่วงนั้นหมายถึงบ้านเมืองล่มจมจริงๆ ไม่ได้มีความหมายแฝงในเชิงการชมความงามใดๆ
อีกประมาณ 850 ปีต่อมา คำว่า “倾国倾城” (ล่มชาติล่มเมือง) ก็ปรากฏขึ้นในพงศาวดารจีนอีกครั้งหนึ่ง ในหนังสือ “ฮั่นซู” (汉书) ซึ่งเป็นบันทึกรวมเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกทั้งหมด เรียบเรียงโดยปัน กู้ และปัน เจา น้องสาว (หนังสือเล่มนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นพงศาวดารเฉพาะสมัยเล่มแรกของจีนอีกด้วย) ในนั้นมีหมวดหนึ่งชื่อว่า “ไว่ชีจ้วน” (外戚传)เป็นหมวดเรื่องราวพระประยูรญาติสายนอกของฮ่องเต้ ได้แก่ ราชตระกูลทางไทเฮาหรือฮองเฮา และมีอยู่บทหนึ่งที่รวบรวมเรื่องราวของฮองเฮาและมเหสีที่มีบทบาทสำคัญ 25 คนในสมัยนั้น หนึ่งในนั้นคือ หลี่ฟูเหริน มเหสีเอกของฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้
หลี่ฟูเหริน (ที่มาภาพ: fensifuwu.com)
หลี่ฟูเหริน มีช่วงชีวิตอยู่ในรัชสมัยฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้ ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ฟูเหรินเป็นชื่อตำแหน่งมเหสีในสมัยนั้น ฐานะเป็นรองจากฮองเฮา ชื่อเดิมของนางคือหลี่ซื่อ หมายถึงเป็นหญิงสาวจากตระกูลหลี่ (ผู้หญิงจีนโบราณระบุตัวตนจากแซ่ของพ่อกับแซ่ของสามีเท่านั้นจริงๆ) ครั้งหนึ่งในสมัย 111 ปีก่อนคริสตกาล ขณะนั้นฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้ทรงครองราชย์มาแล้ว 29 ปี หลี่ เหยียนเหนียนได้โอกาสเข้าเฝ้าฯ เพื่อแสดงดนตรีหน้าที่นั่ง เขาได้ร้องเพลงขึ้นมาบทหนึ่งว่า “北方有佳人,绝世而独立,一顾倾人城,再顾倾人国。宁不知倾城与倾国,佳人难再得!” แปลแบบถอดความคือ “ทางเหนือมียอดหญิงงาม ทั่วแผ่นดินมีเพียงหนึ่งเดียว ชม้ายคราแรกล่มเมือง ชายตาอีกคราล่มชาติ หาได้รู้ล่มชาติล่มเมืองไม่ เพียงเพราะหญิงงามนั้นยากพานพบอีก” ฮ่องเต้ทรงสงสัยว่ามีหญิงงามแบบนี้อยู่ในโลกจริงหรือ กระทั่งทอดพระเนตรเห็นน้องสาวของหลี่ เหยียนเหนียน ถึงทรงรู้ว่าหญิงงามนางนี้มีอยู่จริง พระองค์ทรงพอพระทัยอย่างมากและรับตัวเข้าวัง แต่งตั้งให้เป็นฟูเหริน ได้ชื่อว่าเป็นมเหสีที่ทรงรักใคร่เอ็นดูมากที่สุดในรัชสมัยของพระองค์ แต่เสียดายที่หลี่ฟูเหรินมีชีวิตต่อมาเพียงแค่ประมาณ 10 ปีก็สิ้นพระชนม์ พระองค์ได้รับการจัดพิธีศพในรูปแบบพระราชพิธีสำหรับฮองเฮา และได้รับสถาปนาเป็นฮองเฮาในรัชสมัยถัดมา นับเป็นฮองเฮาองค์แรกในประวัติศาสตร์จีนที่ได้รับการสถาปนาหลังจากสิ้นพระชนม์ไปแล้ว
นับจากนั้น สำนวน “倾国倾城” (ล่มชาติล่มเมือง) ก็แพร่กระจายไปในหมู่กวีจีน เพื่อใช้เปรียบเปรยถึงความงามของหญิงสาว โดยเฉพาะในยุคราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) ซึ่งเป็นยุคที่กวีนิพนธ์เฟื่องฟูขั้นสุด เป็นยุคสมัยที่มีกวีคนสำคัญปรากฏมากที่สุด ทั้งเรื่องราวของเปาซื่อ หลี่ฟูเหริน กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กวีนำมาแต่งเป็นบทกวีรำพันชีวิตที่ราวกับโศกนาฏกรรม เช่น หู เจิง แต่งกลอนเล่าเรื่องราวของเปาซื่อ และ ไป๋ จวีอี้ แต่งกลอนเพื่อเล่าเรื่องของหลี่ฟูเหริน ส่วนคำว่า “倾国”(ล่มชาติ) หรือ “倾城”(ล่มเมือง) ก็ปรากฏกระจัดกระจายอยู่ในบทกวีต่างๆ เพื่อสื่อเป็นนัยถึงความพิลาสของเหล่าหญิงงาม เช่น วรรคหนึ่งในบทกวีชื่อ “เฟยเอี้ยนเพียน”(飞燕篇) (บทเฟยเอี้ยน) ของหวาง ฮั่น มีว่า“明月薄蚀阳精昏,娇妒倾城惑至尊。”(จันทราบังแสงสุริยัน งามซึ้งล่มเมืองยั่วราชันต์) เป็นบทกวีที่เล่าเรื่องของเจ้า เฟยเอี้ยน ฮองเฮาในฮ่องเต้ฮั่นเฉิงตี้ วรรคแรกในบทกวีชื่อ “ฉางเฮิ่นเกอ” (长恨歌) (เพลงแค้นนิรันดร์) ของ ไป๋ จวีอี้ มีว่า “汉皇重色思倾国,御宇多年求不得。” (กษัตริย์ฮั่นใฝ่ฝันงามล่มชาติ ครองราชย์นานปียังไม่พบ) ก็คือเรื่องราวของหยางกุ้ยเฟยในฮ่องเต้ถังเสวียนจง โดยใช้คำว่ากษัตริย์ฮั่นมายั่วล้อถึงฮ่องเต้ถังเสวียนจง ส่วนคำว่า “งามล่มชาติ” ในที่นี้ก็เป็นคำอุปมาหมายถึงสาวงาม หรือวรรคหนึ่งใน “กู่เฟิง” (古风) (ลำนำโบราณ) ของหลี่ ไป๋ ก็มีว่า “眉目艳皎月,一笑倾城欢。” (ขนงเนตรงามดั่งจันทร์ แย้มยิ้มหนึ่งเย้าล่มเมือง) วรรคนี้มีคนตีความต่างกันออกไป บ้างก็ว่ามาจากตำนานรอยยิ้มล่มเมืองของเปาซื่อ บ้างก็ว่าไม่ใช่แต่มาจากบทเพลงของหลี่ เหยียนเหนียนที่ว่า “一顾倾人城,再顾倾人国。” (ชม้ายคราแรกล่มเมือง ชายตาอีกคราล่มชาติ) ต่างหาก โดยแผลงคำว่า“ 顾” (ชายตา) เป็น “笑” (รอยยิ้ม)
ถึงแม้สำนวน “倾国倾城” (ล่มชาติล่มเมือง) จะนำมาใช้สื่อในความหมายว่างามหยาดเยิ้ม แต่ก็แฝงด้วยท่าทีดูหมิ่นอยู่ในที ด้วยความงามของสตรีที่มากเกินไปก็มักนำหายนะมาให้ แต่ปัจจุบันสำนวนนี้ ไม่ได้มีน้ำเสียงในทางลบแบบนั้นอีกแล้ว กลายเป็นว่าออกจะยกย่องเชิดชูด้วยซ้ำ คำว่า “倾”(qīng) ที่เคยมีความหมายว่า 倾倒 (qīng dǎo) พังลง หรือ倾覆 (qīng fù) ล้มคว่ำลง กลายมามีความหมายว่า 倾心 (qīng xīn) ผูกใจรัก และ 倾慕 (qīng mù) ชื่นชมศรัทธา ไปแทน เมื่อปี ค.ศ. 2009 กู้ม่าน นักเขียนนิยายชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ออกผลงานแนวรักโรแมนติกชื่อว่า《微微一笑很倾城》ซึ่งชื่อนิยายก็คือการเล่นคำล้อกับสำนวน “一笑倾城”(หนึ่งยิ้มล่มเมือง) เพื่อสื่อถึงความสวยของนางเอกในเรื่องที่ชื่อว่า เวยเวย นั่นเอง นิยายเรื่องนี้เอามาสร้างเป็นละครโทรทัศน์กับภาพยนตร์เมื่อปีที่แล้วพร้อมกันในชื่อเดียวกัน โด่งดังข้ามฟากมาถึงแฟนนิยายและซีรีส์จีนในไทยอยู่พอสมควร นิยายฉบับแปลภาษาไทยให้ชื่อว่า “เวยเวย…ยิ้มนิดพิชิตใจ” ส่วนฉบับละครและภาพยนตร์มีชื่อแบบไม่เป็นทางการว่า “เวยเวย เธอยิ้มโลกละลาย” ไม่รู้ว่าผู้อ่านถูกใจชื่อไหนมากกว่ากัน
นิยายเรื่อง “เวยเวยอี๋เซี่ยว เหิ่นชิงเฉิง” ฉบับภาษาจีน (ที่มาภาพ: amazon.cn)
สุดท้าย ถ้าจะให้สรุปว่าใครสมควรเป็นเจ้าของสำนวน “งามล่มเมือง” ระหว่างเปาซื่อกับหลี่ฟูเหรินสองนางนี้ ถึงแม้หลี่ฟูเหรินจะได้รับการยกย่องว่า “งามล่มเมือง” ก็จริง แต่ถ้าดูจากยุคสมัย เปาซื่อมีตำนานร่วมสมัยกับหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่ครั้งราชวงศ์โจวตะวันตก อีกทั้งเรื่องราวชีวิตก็สอดคล้องกับความหมายดั้งเดิมของสำนวน เพราะฉะนั้นหากต้องเลือก ผู้เขียนก็คงต้องยกให้เปาซื่อเป็นเจ้าของสำนวน “งามล่มเมือง” อย่างแท้จริง
เวยเวย เธอยิ้มโลกละลาย ฉบับละคร (ที่มาภาพ: music.baidu.com)
เวยเวย เธอยิ้มโลกละลาย ฉบับภาพยนตร์ (ที่มาภาพ: xiazaizhijia.com)
(ขอบคุณภาพปกจาก zh.wikipedia.org)