โดย สิริอิงค์
การให้อยู่คู่กับสังคมเรามานาน เราเชื่อในเรื่องให้แล้วได้บุญ เราจึงชอบให้สิ่งของ เมื่อเราอยากได้บุญ เราจึงมักให้กับพระ เราเรียกทำบุญ หรือให้ผู้ยากไร้ เราเรียกบริจาค
ที่มารูป: http://studio180theatre.com/
เมื่อเราให้ เรารู้สึกสบายใจ เมื่อผู้รับยิ้ม มีความสุข เราก็ยิ้มและมีความสุขไปด้วย รู้สึกว่าได้รับบุญเต็มเปี่ยม เราจึงมักจะทำบุญด้วยการให้ทานเสมอๆ แม้ศาสนาพุทธจะบอกว่าบุญกริยาวัตถุนั้นมี 10 อย่างก็ตาม
1.
นักศึกษาไปออกค่ายอาสาสมัครทำเตาเผาขยะให้กับหมู่บ้าน แน่นอนว่า พวกเขาไม่เคยทำเตาเผาขยะมาก่อน และไม่ได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เมื่อทำสำเร็จ พวกเขาดีใจมาก ไม่กี่เดือนจากนั้น นักศึกษากลับไปเยี่ยมหมู่บ้านอีกครั้งแล้วพบว่า เตาเผาขยะถล่มกลายเป็นกองซากอิฐ ไม่มีใครได้ใช้
2.
ณ หมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่ง รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาฝึกอาชีพ เริ่มแรก ชาวบ้านดีใจมีเจ้าหน้าที่เข้ามาฝึกอาชีพให้ถึงในหมู่บ้าน แต่ละปีผ่านไป ชาวบ้านได้ฝึกนับสิบอาชีพ เมื่อถามไปว่าเป็นอย่างไรบ้าง ชาวบ้านบอกว่า “ฝึกกันทุกปี พี่มี 10 อาชีพแล้ว แต่ไม่รู้ว่าผลิตออกมาแล้วไปขายที่ไหน เขาเข้ามาฝึกให้ ฝึกเสร็จแล้วก็ไป ปีหน้ามาฝึกอาชีพใหม่ พี่ทำนา ทำไร่ พี่อยากให้มาช่วยทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น รู้วิธีขาย การตลาด ไม่ได้อยากได้อาชีพใหม่” แล้วพี่คนดังกล่าวก็หันไปมองจักรเย็บผ้าที่กองฝุ่นจับอยู่ที่มุมห้อง
3.
ชาวบ้านนำอาหารใส่บาตร เป็นอาหารที่หาซื้อได้ง่ายๆ ตามตลาดหรือร้านข้างทางทั่วไป ผลปรากฏว่า พระป่วยเป็นโรคอ้วน ท้องร่วง และโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ
4.
ชาวต่างประเทศใจดี ต้องการบริจาคเสื้อผ้าให้กับคนยากไร้ เขาจึงได้เหมาตู้คอนเทนเนอร์ส่งมาให้ แล้วค่อยแจ้งกับทางหน่วยงานให้ไปรับ เมื่อทางหน่วยงานทราบ จึงได้ติดต่อไปทางศุลกากร พบว่า ถ้าจะนำเสื้อผ้าบริจาคดังกล่าวออกจากตู้คอนเทนเนอร์นั้น ต้องใช้เงิน 200,000 บาท ทางหน่วยไม่มีเงิน ชาวต่างประเทศไม่ให้เงิน ไม่รู้ว่าป่านนี้เสื้อผ้าเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน
5.
ชนกลุ่มน้อยหนีภัยความขัดแย้งและความอดอยากมาจากประเทศต้นทาง พวกเขาต้องการไปประเทศปลายทางที่นับถือศาสนาเดียวกัน แต่ถูกจับระหว่างทางจากประเทศทางผ่านในฐานะผู้เข้าเมืองผิดกฏหมาย มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง เด็กเล็ก คนแก่ อดอยาก ไม่มีเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ผู้คนในประเทศทางผ่านเป็นคนใจดี จึงได้บริจาคเสื้อผ้าและอาหารจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้คนเหล่านี้ ต้องเกณฑ์คนเพื่อมาจัดระเบียบของบริจาค ทั้งเสื้อผ้า อาหาร และของใช้อื่นๆ เสื้อผ้าส่วนใหญ่ใช้ไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้ใส่แบบผู้คนประเทศทางผ่าน อาหารให้มามากจนบูดเสีย กินกันไม่ทัน ต้องส่งต่อให้ที่อื่น เมื่อถามว่า จะจัดการกับต้นเหตุของปัญหานี้อย่างไร ไม่มีคำตอบ
ฉันคิดว่า การให้สิ่งของต่างๆ นั้นก็ยังจำเป็นอยู่ แต่ผู้ให้และผู้รับควรได้คุยกันก่อนว่า อะไรที่เป็นสิ่งจำเป็น และต้องการจริงๆ จากนั้นต้องดูปัญหานั้นเกิดจากอะไร เช่น เด็กนักเรียนไม่มีข้าวกิน เบื้องต้นให้อาหารกินให้อิ่ม หาสาเหตุความหิว คุยกับคนในครอบครัว ชุมชน ถึงสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งแน่นอนว่า การแก้ปัญหาระยะยาวจากแก่นของสาเหตุนั้นยาก ใช้เวลา บางอย่างกว่าจะเห็นผลนั้นใช้เวลาหลายปี ผู้ให้และผู้รับจำนวนน้อยที่อยากทำสิ่งเหล่านี้
ผู้ให้แจกของ ผู้รับรับของ มีความสุขทั้งสองฝ่าย
แต่ผู้ให้จะให้ไปถึงเมื่อไร แล้วเมื่อผู้ให้เลิกให้แล้ว ผู้รับจะยืนอยู่ด้วยตัวเองได้อย่างไร
เมื่อผู้รับไม่พัฒนาตัวเองและชุมชนให้มีศักยภาพพอที่จะดูแลตัวเองและชุมชนได้ ประเทศชาติจะอยู่ได้อย่างไร
ฉันคิดว่า การให้ที่สำคัญ นอกจากให้สิ่งของแล้ว การให้โอกาสและให้ความรู้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ
ให้โอกาส คือ ให้ความหวังและกำลังใจ
ให้ความรู้ คือ ให้อาวุธเพื่อดำรงชีพอยู่ได้
เมื่อได้ทั้งสองอย่างนี้เพิ่มจากสิ่งของเบื้องต้น ผู้รับก็มีกำลังใจและอาวุธที่จะอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง คนเข้มแข็ง ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และประเทศแข็งแรงได้
ป.ล.
– บุญกริยาวัตถุ 10 อ่านเพิ่มได้ที่นี่
– ข่าวพระป่วยเพราะโยม ระวังบาปที่มากับบุญ อ่านที่นี่