โดย บุษรา เรืองไทย
ทุกวันนี้เวลาพูดถึงคุกกี้เนยแบบที่มีรูปทหารยืนเข้าแถวอยู่บนกล่องสีแดง คนส่วนใหญ่จะนึกไปถึงของขวัญจับฉลากตอนปีใหม่บ้าง กล่องใส่อุปกรณ์เย็บผ้าบ้าง แต่ถ้าสังเกตดีๆ คุกกี้บางยี่ห้อ จะมีสติกเกอร์สีทองพิมพ์ลวดลายสีแดงรูป “囍” แปะอยู่ด้วย ถ้าเป็นลูกหลานคนจีนจะรู้ว่า คุกกี้กล่องแดงแบบนี้ยังทำให้นึกถึงขนมแต่งงานอีกอย่างหนึ่ง
ความหมายของ “囍” ตัวนี้ ต่อให้เปิดพจนานุกรมเล่มไหนก็ไม่มีทางหาเจอ เพราะไม่ใช่อักษรจีน แต่เป็นสัญลักษณ์มงคลที่เกิดจากการเอาคำว่า “喜”( xǐ) ที่แปลว่า ความสุข, ความยินดี สองตัวมาต่อกัน ภาษาจีนกลางเรียกว่า “双喜” (shuāng xǐ) ซวงสี่ คนจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า ซังฮี่ หรือซังฮี้ ชื่อถนนซังฮี้ สะพานซังฮี้ ก็มาจากคำนี้ หมายถึงความสุขความยินดีที่มาพร้อมกันเป็นคู่ เป็นสัญลักษณ์มงคลที่มักปรากฏในข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในพิธีแต่งงานของชาวจีน
แล้วสัญลักษณ์ “囍” ตัวนี้ไปปรากฏอยู่บนกล่องคุกกี้ได้อย่างไร คงต้องเท้าความไปถึงเรื่องขนมแต่งงานของชาวจีน เล่ากันว่า ธรรมเนียมขนมแต่งงานนี้เริ่มต้นจากสมัยสามก๊กตอนซุนกวนแกล้งยกน้องสาวตัวเองให้เล่าปี่ เพื่อหลอกเล่าปี่มาสังหารที่เมืองกังตั๋ง แต่ขงเบ้งซ้อนแผนโดยยกขบวนข้าวของเครื่องใช้และขนมมากมายไปอย่างเอิกเกริกจนรู้กันทั่วบ้านทั่วเมือง (อารมณ์ขบวนขันหมาก) จนซุนกวนจำใจต้องยกน้องสาวให้แต่งงานกับเล่าปี่จริงๆ ทุกวันนี้ ในขั้นตอนพิธีแต่งงานของจีน ยังคงมีขนมชนิดต่างๆ เป็นของสำคัญที่ขาดไม่ได้ไม่ต่างไปจากขนมขันหมากไทย แต่สำหรับชาวจีนทางใต้แถบมณฑลกวางตุ้งยังมีธรรมเนียมพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีกว่า เมื่อชายหนุ่มหญิงสาวจากสองครอบครัวจะแต่งงานกัน ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายจัดพิธีและจัดงานเลี้ยงรับรองแขก ส่วนฝ่ายหญิงจะทำการแจกการ์ดและแจกขนมบอกกล่าวแก่ญาติมิตรว่าลูกสาวออกเรือนแล้ว ขนมประเภทนี้เรียกว่า “嫁女饼” ( jià nǚ bǐng) หรือขนมเปี๊ยะแต่งลูกสาว ส่วนตัวขนมเรียกว่า“四色饼” (sì sè bǐng) ขนมเปี๊ยะสี่สี หรือ“四色糖” (sì sè táng) ขนมหวานสี่สี คำว่า สี่สี ในที่นี้หมายถึง ขนมเปี๊ยะชนิดต่างๆ กัน 4 ชนิด เชื่อกันว่าถ้าญาติมิตรบ้านไหนยังไม่ได้รับขนมก็จะถือว่าไม่รับรู้การออกเรือนของลูกสาวบ้านตน และธรรมเนียมนี้ก็ติดตามมาอยู่ในสังคมของชาวจีนโพ้นทะเลในเมืองไทยด้วยเช่นกัน
ถ้าเราเดินเข้าไปในร้านขนมเปี๊ยะสักร้านแถวเยาวราช (ที่จริงแถวไหนก็คงเหมือนกัน) บอกว่าขอซื้อสี่เซ็กทึ้ง (四色糖) กี่กล่องก็ตามแต่ เราก็จะได้ขนมมากมายหลายชิ้นใส่มาจนเต็มกล่องสีแดงสด ในหนึ่งกล่องประกอบไปด้วยขนม 4 ชนิด ได้แก่ ขนมถั่วตัด ขนมไส้ฟักหวาน ขนมข้าวตอกบด และขนมเหนียวคลุกงา นี่ก็คือขนมแต่งงานแบบดั้งเดิมตามธรรมเนียมจีน และแน่นอนที่ขาดไม่ได้คือสัญลักษณ์ “囍” บนกล่อง บ่งบอกว่านี่คือขนมในพิธีแต่งงาน เอาไว้สำหรับมอบให้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว เพราะอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าตามธรรมเนียมเดิม เมื่อมีพิธีแต่งงาน แขกเหรื่อร่วมงานส่วนใหญ่มักเป็นญาติและเพื่อนที่ฝ่ายเจ้าบ่าวเชื้อเชิญมา ส่วนแขกฝ่ายเจ้าสาวที่เข้าร่วมงานจะมีแต่ญาติใกล้ชิดจริงๆ เท่านั้น ดังนั้นญาติที่ไม่ได้มาร่วมงาน จึงใช้วิธีแจกขนมเพื่อแจ้งข่าวดีและให้ขนมเป็นตัวแทนในการเฉลิมฉลองงานมงคลนี้ จนมาตอนหลังการเชิญแขกร่วมงานก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนให้มีแขกของทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวพอๆ กัน แต่ถึงแม้ธรรมเนียมขนมแต่งลูกสาวดูจะคลายความจำเป็นลงไป ลูกหลานชาวจีนก็ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเห็นว่านี่คือการแสดงความเคารพต่อญาติผู้ใหญ่อย่างหนึ่ง แถมยังถือเอาการแจกขนมแทนการแจกการ์ดเชิญเข้าร่วมงานไปเลยก็มี ถ้าอย่างนั้นคุกกี้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยตรงไหน นี่ก็เป็นหนึ่งในการปรับเปลี่ยนธรรมเนียมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน คนรุ่นใหม่เห็นว่าขนมเปี๊ยะแต่งงานแบบเดิมเอาเข้าจริงมีน้ำหนักมาก ตัวขนมก็รุ่ยง่าย ขนไปแจกจ่ายแต่ละบ้านค่อนข้างลำบาก จึงเลือกขนมแบบอื่นที่ขนย้ายสะดวกกว่ามาแทน พอเห็นว่าคุกกี้เนยในกล่องเหล็กแดงแบบนี้ขนง่ายดี สีแดงก็เป็นสีมงคล และคุกกี้ก็น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนใหญ่มากกว่าขนมเปี๊ยะ ดังนั้นคุกกี้เนยจึงกลายเป็นความนิยมใหม่ที่แพร่หลายอย่างรวดเร็ว กระทั่งกล่องคุกกี้ที่ผลิตออกมายังต้องมีสติกเกอร์สัญลักษณ์รูป “囍” ติดมาบนกล่องหรือพิมพ์ไปเลยบนกล่องเรียบร้อยให้พร้อมใช้งานได้ทันที แต่ในยุคปัจจุบันขึ้นมาอีก หนุ่มสาวสมัยนี้ก็ไม่ได้ยึดติดแล้วว่าต้องมีสัญลักษณ์ “囍” บนกล่องเสมอไป ขนมแต่งงานเป็นตัวแทนของความหอมหวานและความสุขในชีวิตคู่ ดังนั้น ขอแค่ขนมอะไรก็ได้ที่เห็นว่าอร่อยหรืออยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามน่ารักเป็นใช้ได้
แล้วทำไมบนกล่องขนมแต่งงานหรือในพิธีแต่งงานถึงต้องมีสัญลักษณ์ “囍” สำหรับเรื่องนี้มีตำนานที่เชื่อมโยงไปถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีนคนหนึ่งเลยทีเดียว
ตำนานที่เล่ากันอย่างแพร่หลายฉบับพิสดารมีอยู่ว่า หวัง อันสือ (ค.ศ. 1021-1086) อัครเสนาบดีนักปฏิรูป และนักอักษรศาสตร์คนสำคัญในสมัยฮ่องเต้ซ่งเสินจง ราชวงศ์ซ่งเหนือ เมื่อสมัยยังหนุ่มขณะอายุ 20 ปี ได้เวลาเดินทางไปสอบรับราชการที่เมืองเปียนเหลียง เมืองหลวงของจีนในสมัยนั้น (ปัจจุบันคือเมืองไคเฟิง) ระหว่างทางเห็นหน้าบ้านของครอบครัวบัณฑิตแซ่หม่าหลังหนึ่งแขวนโคมม้าย่าง “走马灯” (คือโคมชนิดหนึ่งจุดด้วยเทียนไข ความร้อนจากเทียนทำให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศส่งผลให้โคมหมุนได้ และแสงจากเทียนเมื่อส่องผ่านลวดลายกระดาษตัดรูปม้าก้าวขาจนเกิดเป็นเงาบนตัวโคม จึงทำให้ดูเหมือนม้ากำลังเดินอยู่ กลไกแบบนี้เป็นแบบเดียวกันกับโคมเวียนของไทยภาคกลางหรือที่ล้านนาเรียกว่าโคมผัด) บนโคมมีคำโคลงคู่ (ภาษาจีนเรียกว่าตุ้ยเหลียน หนึ่งบทมีสองวรรค โดยทั้งสองวรรคนี้ต้องสัมผัสสอดคล้องกันทั้งเสียงและความหมาย) เขียนอยู่หนึ่งวรรคว่า“走马灯,马灯走,灯息马停步。”(โคมม้าย่าง โคมม้าหมุน โคมดับม้าหยุดก้าว) เรื่องของเรื่องคือ บ้านตระกูลหม่าหลังนี้มีลูกสาวที่ทั้งสวยทั้งเปี่ยมด้วยความรู้คนหนึ่ง ขณะนั้นถึงวัยออกเรือน แต่สาวเจ้าอยากได้คู่ครองที่เป็นผู้มีความรู้เสมอกัน ก็เลยตั้งกฎแต่งโคลงครึ่งบทนี้ขึ้นมา และประกาศว่าจะแต่งงานกับคนที่สามารถต่อโคลงครึ่งบทหลังได้ดีที่สุดเท่านั้น หวัง อันสือ ชื่นชมความแปลกและแยบคายของโคลงวรรคนี้และแอบชื่นชอบในตัวเจ้าของโคลงคนนี้อยู่เงียบๆ
พอถึงเมืองหลวง หวัง อันสือ ผ่านการสอบข้อเขียนทั้งหมดแล้ว คิดไม่ถึงว่าขุนนางผู้คุมสอบยังให้มีทดสอบตอบปัญหาต่อหน้าเพื่อดูปฏิภาณไหวพริบด้วย เมื่อถึงรอบของหวัง อันสือ ขุนนางผู้คุมสอบชี้ไปที่ธงเสือบิน (ธงกองทัพรูปเสือมีปีกกำลังบิน) ที่ตั้งอยู่หน้าที่ว่าการ บนธงมีคำโคลงคู่วรรคหลังเขียนไว้ว่า “飞虎旗,虎旗飞,旗卷虎藏身。” (ธงเสือบิน ธงเสือโบก ธงเก็บเสือซ่อนกาย) แล้วให้เขาเติมวรรคแรกให้สมบูรณ์ หวัง อันสือถือโอกาสเอาโคลงวรรคแรกของคุณหนูหม่ามาตอบทันที ผู้คุมสอบชอบใจและกล่าวชมเชยอย่างมาก หลังจากสอบเสร็จ หวัง อันสือก็ไม่รอช้า รีบบึ่งกลับไปหน้าบ้านตระกูลหม่า แล้วเอาโคลงวรรคหลังของข้อสอบเติมลงไปบนโคมจนครบสมบูรณ์ คุณหนูหม่าพอเห็นแล้วรู้สึกว่าช่างต่อกันได้คล้องจองเสียเหลือเกิน ก็เลยตกลงปลงใจยอมแต่งงานด้วย
ในวันทำพิธีแต่งงานนั้นเอง ก็มีประกาศส่งมาว่า หวัง อันสือสอบติดได้เป็นขุนนาง ทุกคนได้ยินข่าวต่างก็ดีใจมาก หวัง อันสือรู้สึกว่าวันนี้เป็นวันที่มีเรื่องน่ายินดีเกิดขึ้นพร้อมกันถึงสองเรื่อง จึงหยิบเอากระดาษมาเขียนคำว่า “喜”สองตัวเชื่อมติดกันแล้วติดไว้ที่หน้าประตูบ้าน ด้วยเรื่องราวที่เป็นมงคลคู่แบบนี้ ทำให้กลายเป็นธรรมเนียมว่าเมื่อมีพิธีแต่งงาน ผู้คนจะเอากระดาษรูป “囍” ไปติดบนประตู หน้าต่าง กำแพง และสิ่งของเครื่องใช้ในพิธีทั้งหลาย เพื่อเฉลิมฉลองความน่ายินดีของการเริ่มต้นชีวิตคู่ และหวังว่าจะเกิดเรื่องดีมากยิ่งขึ้นไปอีก กลายเป็นมงคลซ้อนมงคลดังตำนานบ้าง
ยังมีเกร็ดประวัติชีวิตของหวัง อันสืออีกว่า ตลอดชีวิตของท่านไม่มีอนุภรรยาแม้แต่คนเดียว ครั้งหนึ่งภรรยาต้องการหาอนุให้เพื่อช่วยส่งเสริมหน้าที่การงานของสามี แต่หวัง อันสือก็ปฏิเสธอย่างหนักแน่น ในส่วนของตำนานจะจริงหรือไม่นั้นไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็สะท้อนถึงความคาดหวังของผู้คนต่อการใช้ชีวิตคู่ โดยหวังให้ชีวิตได้คู่ครองที่ต้องใจกัน มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ครองคู่กันด้วยความซื่อสัตย์ไปตลอดชีวิต
นอกจากรูปแบบตำนาน ยังมีคนอธิบายความหมายของ “囍” จากรูปร่างตัวมันเองด้วย ลองดูให้ดีลักษณะของคำว่า “喜” ก็คล้ายคนกำลังยืนอยู่ พอมาอยู่ติดกันยิ่งเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวยืนเคียงข้างจับมือกัน อีกทั้งในนั้นยังมีอักษร “口” (kǒu) ที่แปลว่า ปาก รวมกันอยู่ถึงสี่ตัว หมายถึงมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง ครอบครัวสมบูรณ์พูนสุข เพราะฉะนั้น สัญลักษณ์ “囍” ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานตัวนี้ คือเครื่องหมายที่แสดงอุดมคติแห่งการแต่งงานและการสร้างครอบครัวของคนจีนเอาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ตราบที่เรายังเห็นสัญลักษณ์ตัวนี้ปรากฏอยู่ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ก็เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงอุดมคติของการครองคู่ที่ยังคงสืบทอดจวบจนถึงปัจจุบัน