เพลงที่ติดอยู่ในหัว? เห็นภาพในหัวทั้งที่ไม่ได้เกิดขึ้นเลย? นี่ละ สมองกำลังแกล้งคุณอยู่
สมองของมนุษย์เป็นอวัยวะที่ลึกลับซับซ้อนจนเหลือเชื่อ สามารถทำอะไรหลายอย่างได้ดีกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ชั้นยอดด้วยซ้ำ
แต่สมองของเราก็ยังห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์แบบนัก และก็มักเล่นตลกกับเรา มาลองดูบางเรื่องที่สมองเล่นเกมกับจิตใจของเรากัน
ความหมายหายไปไหน
เคยไหมที่พูดคำบางคำหลาย ๆ ครั้งติดต่อกันแล้วรู้สึกว่าความหมายของคำนั้นเริ่มหายไป เหตุการณ์แบบนี้เรียกว่า อาการอิ่มตัวในเชิงความหมาย
โดยปกติแล้ว เวลาพูดคำอะไรออกมา สมองจะค้นหาข้อมูลเชิงความหมายของคำนั้นและเชื่อมโยงทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น คุณพูดคำว่า “แม่” สมองของคุณจะเชื่อมโยงคำนั้นกับแม่ของคุณเอง ทว่า การพูดคำดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะทำให้สมองเกิดอาการอิ่มกับคำนั้น จนทำให้ความสามารถของสมองในการเชื่อมโยงคำกับความหมายลดลง
หลอนว่าอวัยวะที่ถูกตัดออกไปยังคงอยู่
อาการดังกล่าวเป็นความรู้สึกหลอนที่คิดว่าแขน ขา มือ หรือเท้าที่ถูกตัดออกไปแล้ว ยังคงติดอยู่กับร่างกาย และผู้ป่วยยังคงเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนนั้นราวกับว่ายังคงมีอยู่ ผู้ป่วยถึงร้อยละ 80 ที่ถูกตัดอวัยวะอาจมีอาการหลอนได้ แต่สาเหตุของอาการดังกล่าวยังไม่ทราบแน่ชัด
ผลการวิจัยในอดีตชี้ให้เห็นว่า ความรู้สึกหลอนเป็นผลมาจากการที่ส่วนหนึ่งของ “ผัง” การรับสัมผัสของสมองที่ควบคุมอวัยวะที่ถูกตัดออกไปแล้วนั้น ถูกผังการรับสัมผัสของอวัยวะส่วนอื่น ๆ เข้ามาควบคุมแทน ตัวอย่างเช่น สมองอาจตีความการสัมผัสที่เกิดขึ้นบนใบหน้าเหมือนสัมผัสนั้นเกิดกับอวัยวะที่หายไป
อย่างไรก็ดี งานศึกษาชิ้นใหม่ ๆ บ่งชี้ว่า ภาวะหลอนอาจเกิดจากความรู้สึกที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของอวัยวะที่ถูกตัดไปแล้ว ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า จากการสแกนสมองผู้ป่วยที่ถูกตัดมือออกไป ปรากฏว่าผู้ถูกตัดมือที่มีอาการหลอนนี้ กลับมีการทำงานของสมองในรูปแบบเดียวกับผู้ที่ทั้งสองมือยังอยู่ครบ
ร้องเพลงวนเวียนอยู่ในหัว
ถ้าเคยมีเพลงหรือบางท่อนของเพลงติดอยู่ในหัวล่ะก็ แปลว่าคุณมีอาการที่ฝรั่งเรียกว่า Earworm เข้าแล้ว เมื่อเกิดอาการนี้ขึ้น สมองของคุณจะเหมือนวนไปมาอยู่ในวงเวียน
เริ่มแรกคุณอาจจำได้เพียงแค่ท่อนสร้อยของเพลงที่ติดหู พอร้องท่อนนั้นอยู่ในใจ สมองจะพยายามไปต่อที่ท่อนถัดจากนั้น แต่เนื่องจากสมองไม่รู้ว่าท่อนต่อไปคืออะไร ก็เลยวนกลับมาที่จุดเริ่มต้นเดิม แล้วก็ร้องท่อนที่สมองรู้อยู่แล้วซ้ำไปซ้ำมา
งัวเงียหลังตื่นนอน
หากคุณเคยปิดเสียงนาฬิกาปลุกโดยไม่รู้ตัว หรือเคยพูดโต้ตอบกับใครตอนกลางดึก แต่เช้าขึ้นกลับจำไม่ได้ นั่นแปลว่าคุณได้ประสบกับภาวะสับสนระหว่างการตื่นนอน หรือที่เรียกว่า Sleep drunkenness
อาการลักษณะนี้เกิดขึ้นเมื่อเราตื่นและยังคงมึนงงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ก่อนจะกลับไปนอนต่อหรือไม่ก็ตื่นอย่างเต็มตา โดยปกติแล้ว มักเกิดขึ้นเมื่อคุณถูกปลุกให้ตื่นในขณะหลับลึก หรือที่เรียกว่า ช่วงที่ลูกตาไม่กลอกตาเร็ว (non-rapid eye movement sleep) นักวิทยาศาสตร์บางคนเรียกอาการงัวเงียหลังตื่นนอนนี้ว่า “อาการตื่นไม่เต็มที่ขั้นรุนแรง” ซึ่งหมายถึง สมองบางส่วนดูเหมือนยังหลับอยู่ ทั้ง ๆ ที่ตัวคุณกำลังมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบกาย
ความทรงจำผิดๆ
เคยจำได้ว่าได้ทำอะไรบางอย่าง – เช่น วางแว่นตาไว้บนโต๊ะในตอนกลางคืน – แล้วมารู้ในตอนหลังว่าจริงๆ แล้วคุณไม่ได้ทำบ้างหรือไม่ หรือบางทีคุณอาจรู้สึกว่าจำเรื่องราวช่วงวัยเด็กของคุณได้อย่างชัดเจน แต่สุดท้ายกลับมารู้ว่าเรื่องราวเหล่านั้นเกิดขึ้นกับพี่น้องของคุณต่างหาก
เรามักเข้าใจว่า ความจำของเราเป็นเหมือนเครื่องอัดวิดีโอที่บันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ แต่คนเราจะไวมากเมื่อได้รับคำแนะนำจากผู้อื่น ซึ่งสามารถสร้างความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงได้
การได้รับข้อมูลผิด การชี้แจงเหตุผลแบบผิด ๆ และคำแนะนำธรรมดา ๆ จากผู้อื่น ล้วนนำไปสู่ความจำแบบผิด ๆ ได้ทั้งสิ้น เหตุผลที่เราถูกหลอกได้ง่ายนั้นมาจากการที่จิตใจของเราไม่สามารถจะรับทุกอย่างเข้าไว้ได้หมด และนั่นทำให้เกิดช่องว่างมากมายในความจำ และเพื่อเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้น สมองจึงสร้างความจำแบบผิด ๆ ขึ้น เพื่อเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามพื้นฐานของเรื่องราวที่เราเคยประสบและรับรู้มาแล้ว
ที่มา: mnn.com