โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
26 กุมภาพันธ์ 2015
ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 022; ดู Still Alice ที่ House Rama โรงหนังบ้านสำราญใจ
ที่มารูป: https://s-media-cache-ak0.pinimg.com
ที่ผ่านมา ดิฉันได้ดูหนังดูละครหลายเรื่องที่ตัวละครป่วยเป็นอัลไซเมอร์ มีทั้งแบบเล่าในมุมมองของผู้ป่วย และในมุมมองของผู้ที่ต้องดูแล แต่ไม่เคยมีเรื่องใดเลยที่นำเสนอว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวและโหดร้ายที่สุดของการเป็นโรคนี้คือ ในช่วงที่ผู้ป่วยยังหลงเหลือความทรงจำอยู่นั้น เขาจะต้องมองเห็นตัวเองสูญเสียความสามารถที่เคยมีไปเรื่อยๆ ต้องเผชิญกับความรู้สึกที่ว่าคนอื่นมองตัวเขาแตกต่างไปจากที่เคยมอง และที่สำคัญที่สุดคือ ตัวเขาก็มองตัวเองแตกต่างไปด้วย จากที่เคยมั่นใจมาตลอดว่า ‘ตัวตน’ ของเราเป็นอย่างนี้ๆ กลับพบว่าเรากำลังเปลี่ยนไป กลายเป็นคนอื่นที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็น
ดิฉันว่านี่เป็นสิ่งที่เจ็บปวดมากสำหรับมนุษย์ เพราะปุถุชนอย่างเราๆ ย่อม ‘นิยาม’ (Identify) ตัวเองด้วยสิ่งที่ทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า และย่อมปรารถนาที่จะให้คนอื่นมองตัวเราแบบที่เรานิยามด้วย แล้วถ้าวันหนึ่งเราพบว่า เรากำลังสูญเสียตัวตนที่มีคุณค่านั้นไป กลายเป็นใครก็ไม่รู้ ที่จะไม่มีความทรงจำใดๆ เกี่ยวกับตัวเราอีกต่อไปแล้ว เราจะรู้สึกอย่างไร จะจัดการกับตัวเองอย่างไร หนังเรื่อง Still Alice ได้บอกเล่าสิ่งนั้น
จูเลียนน์ มัวร์ ผู้กวาดรางวัลมาแทบทุกเวทีรวมทั้งออสการ์ จากบท อลิซ ฮาวแลนด์ ศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์ซึ่งป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็วและสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้นั้น เหมาะสมคู่ควรกับการยกย่องที่เธอได้รับด้วยประการทั้งปวง เธอถ่ายทอดอาการเสื่อมถอยของสมองซึ่งส่งผลต่อจิตใจและร่างกาย รวมทั้งความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะยึดโยงตัวเองไว้กับตัวตนที่เธอเคยเป็น ด้วยฝีมือการแสดงที่สามารถยกระดับหนังทั้งเรื่องได้ มันช่วยยกระดับการแสดงของคนรอบข้างด้วยหรือเปล่าไม่รู้ เพราะแต่ละคนก็เล่นดีเชียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คริสเต็น สจวร์ต (นังเบลล่า) ผู้รับบทลูกสาวคนเล็กของอลิซ นางเป็นลูกที่แม่ห่วงที่สุดเพราะไม่ยอมเรียนมหาวิทยาลัยอย่างพี่ๆ กลับเลือกที่จะเป็นนักแสดงละครโรงเล็ก ซึ่งไม่ได้เงินได้ทองอะไร แต่สุดท้าย ความจริงที่เจ็บปวดและมักจะเป็นเช่นนั้นเสมอ คือลูกที่แม่กลัวว่าจะเอาตัวไม่รอด จะกลายเป็นคนที่รับภาระในการดูแลแม่ โดยที่แม่ผู้สูญเสียความทรงจำไปแล้วนั้น ไม่มีโอกาสได้รับรู้เลย
สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 120