ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 024; ดู Birdman or (The Unexpected Virtue of Ignorance) ที่ลิโดเจ้าเก่า
อเลฆันโดร กอนซาเลซ อิญาร์ริตู เป็นผู้กำกับหนังชาวเม็กซิกัน หนังเรื่องแรกของแกคือ Amores Perros (แปลเป็นภาษาปะกิดว่า Love’s a Bitch) ได้สร้างความตื่นตะลึงอย่างมากแก่สากลโลก จนเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในปี 2000 และกวาดรางวัลไปมากมายหลายเวที แกจึงได้โกฮอลลีวู้ด ทำเรื่อง 21 Grams ในปี 2003 ซึ่งส่งให้เบนิซิโอ เดล โทโร กับนาโอมิ วัตส์ เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายและหญิงตามลำดับ จากนั้นในปี 2006 แกก็ทำเรื่อง Babel คราวนี้ที่สุดของแจ้ค่ะ หนังได้รางวัลลูกโลกทองคำสาขาภาพยนตร์ดราม่ายอดเยี่ยม และเข้าชิงออสการ์ถึง 7 สาขา รวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและ ผกก.ยอดเยี่ยมด้วย หนังสามเรื่องนี้แม้จะมีรายละเอียดต่างกัน แต่เนื้อหาและกลวิธีแทบไม่ต่าง กล่าวคือ เป็นหนังดราม่าหนักหน่วงจริงจังสลดหดหู่ ประกอบด้วยเรื่องย่อยหลายๆ เรื่องร้อยเรียงกันไว้ด้วยประเด็น และแต่ละเรื่องก็ส่งผลกระทบถึงกันอย่างคาดไม่ถึง นอกจากนี้ ทั้งสามเรื่องยังว่าด้วยความตายเหมือนกันอีกต่างหาก เขาเลยเรียกรวมกันว่า “Trilogy of Death” สรุปแล้ว พี่แกทำหนังแนวเดิมมาตลอด และก็ประสบความสำเร็จเป็นอันดี จนกระทั่งเรื่องที่ 4 Biutiful เมื่อปี 2010 แกก็ยังยึดแนวหนักหน่วงจริงจังเหมือนเดิมอีก แต่ฮอลลีวู้ดไม่ตื่นเต้นกับหนังของแกแล้ว
ทำให้กระแสเงียบฉี่ เสียงวิจารณ์ก็ไม่ค่อยดี เงินก็ไม่ค่อยได้ แกเงิบไปพักหนึ่ง ทบทวนอนาคตตนเองในฮอลลีวู้ดซึ่งอยู่ยากขึ้นทุกวัน ถามตัวเองว่าแกต้องการอะไรกันแน่ ระหว่างทำหนังที่ตัวเองอยากทำโดยไม่แคร์สื่อ ทำหนังบล็อกบัสเตอร์เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ หรือทำหนังเอาใจคนดูและนักวิจารณ์ อันจะนำมาซึ่ง “ความสำเร็จ” เกียรติยศชื่อเสียง และการยอมรับแบบที่เคยได้รับในอดีต ขณะที่กำลังสับสนกับตัวเองอยู่นั้น แกก็เกิดไอเดียขึ้นมาว่า อย่ากระนั้นเลย เอาความรู้สึกนี้มาทำเป็นหนังดีกว่า
ว่าแล้วแกก็ชวนเพื่อน 3 คนมาช่วยกันเขียนบท ผูกเรื่องให้ตัวละครเอกเป็นดาราฮอลลีวู้ดที่เคยประสบความสำเร็จอย่างมากจากการรับบท “มนุษย์นก” ในหนังซูเปอร์ฮีโร่ “Birdman” แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป เขาก็กลายเป็นดาราตกอับที่ไม่มีใครจำได้ว่าเคยทำอะไรมาบ้างนอกจากเป็นมนุษย์นก เขาเลยพยายามจะสร้างกระแสให้ตัวเองกลับมาดังอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการทำละครบรอดเวย์โดยดัดแปลงบทเอง กำกับเอง เล่นเอง แต่ยิ่งพยายามมากเท่าไหร่ ทั้งละครและตัวเขาก็ยิ่งหายนะมากเท่านั้น ครั้นเขาทำสิ่งที่โง่เขลาลงไป มันกลับเกิดความดีงามโดยไม่คาดฝัน (อันนี้บอกไว้ในชื่อเรื่อง ไม่ได้สปอยล์นะก๊า) จะเห็นได้ว่านี่มันพล็อต Comedy ชัดๆ อิญาร์ริตูไม่ทำหนังแนวดราม่าแบบ 4 เรื่องก่อนแล้วจ้า แต่เลือกที่จะทำเป็น Dark Comedy ซึ่งเป็นแนวที่เหมาะมาก เพราะในความตลกตึงตังบ้าคลั่งของเหตุการณ์และตัวละครนั้น มันสามารถเสียดสีเยาะหยันธรรมชาติของมนุษย์ รวมทั้งวงการบันเทิง อุตสาหกรรมภาพยนตร์ นักวิจารณ์ และโลกโซเชียลในปัจจุบันได้อย่างเจ็บแสบ อิญาร์ริตูเลือกไมเคิล คีตัน มารับบท ริกแกน ธอมสัน ตัวละครเอก ซึ่งช่วยยกระดับการยั่วล้อขึ้นไปอีกหนึ่งสเต็ป เพราะในชีวิตจริงลุงคีตันก็เคยโด่งดังทะลุฟ้าจากบทมนุษย์ค้างคาวในหนัง Batman แล้วหลังจากนั้นก็หายหน้าไป ไม่เคยมีผลงานใดสร้างชื่อให้แกได้อีก (ในความเป็นจริงแกหาได้แคร์ไม่ แต่ก็สามารถแสดงเป็นคนที่แคร์สุดๆ ในหนังเรื่องนี้ได้ราวกับองค์ลง) ส่วนตัวละครอื่นๆ อิญาร์ริตูเลือกทีมนักแสดงแข็งปั๋งชนิดที่ไม่มีใครเป็นจุดอ่อนทั้งสิ้น โดยเฉพาะนาโอมิ วัตส์ ซึ่งเคยร่วมงานกับแกใน 21 Grams และ แซ็ค กาลิเฟียนาคิส ซึ่งทำให้ดิฉันลืมภาพอีตาอ้วนเอ๋อในหนัง The Hangover ไปเลย
หลังจากเขียนบทเสร็จ อิญาร์ริตูก็ติดต่อ เอ็มมานูเอล ลูเบซกี ผู้เพื่อน ให้มาทำหน้าที่กำกับภาพ ลูเบซกีเป็นตากล้องที่เชี่ยวชาญการถ่ายลองเทค (คือถ่ายทำและแสดงต่อเนื่องยาวไปโดยไม่ตัดต่อ) แล้วแกก็เพิ่งได้ออสการ์สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยมมาหมาดๆ จากเรื่อง Gravity เมื่อปีกลาย แต่ใน Birdman อิญาร์ริตูต้องการลองเทคที่สุดลิ่มทิ่มประตูยิ่งกว่า Gravity คือกล้องต้องตามตัวละครไปตลอด และแต่ละฉากต้องสามารถนำมาตัดต่อเข้าด้วยกันแบบเนียนสนิทจนดูราวกับว่าทั้งเรื่องเป็นการถ่ายทำเพียงช็อตเดียวด้วย ลูเบซกีปวดกบาลเล็กน้อย แต่ก็จัดให้ตามคำขอ ซึ่งทำให้นักแสดง กล้อง ไฟ ฯลฯ ต้องซ้อมกันอุตลุดจนทุกอย่างเป๊ะ เพราะถ้าใครทำพลาด เช่น พูดบทผิด บล็อกกิ้งผิด หรือไฟผิดคิว ก็ต้องถ่ายใหม่ตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ดี ผลแห่งความทุ่มเทนั้นก็คุ้มค่าทั้งแก่ผู้ทำและผู้ชม เพราะหนังได้ภาพที่หลอกหลอนและเลื่อนไหลไม่หยุด สามารถสื่อถึงชีวิตและสภาวะจิตใจของตัวละคร อันนำไปสู่ความเข้าใจสารสำคัญและความหมายของเรื่อง ซึ่งตีความได้อย่างกว้างขวาง สามารถถกเถียงเมาท์มอยกันได้สามวันเป็นอย่างน้อย
สำหรับดิฉัน พอดูจบเหนื่อยแฮ่กราวกับไปวิ่งตามลุงริกแกนมา เหนื่อยไปกับแกด้วย เข้าใจชัดเลยว่าคนอีโก้จัดนั้น หาใช่คนที่มั่นใจในตัวเองไม่ ที่จริงคนเหล่านั้นขาดความมั่นใจ อ่อนไหว และกระทบกระเทือนง่ายมาก จิตใต้สำนึกก็คอยแต่จะตัดสินตัวเอง ดูถูกตัวเอง ตำหนิติเตียนตัวเองตลอดเวลา จึงต้องหล่อเลี้ยงอีโก้ให้โตใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อปกป้องตนเอง โดยไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้วแทนที่จะปกป้อง มันกลับทำลาย ช่างเป็นความซับซ้อนที่น่าขัน ขณะเดียวกันก็เป็นความย้อนแย้งที่น่าเศร้าของมนุษย์
Birdman ได้ออสการ์ไป 4 ตัวในปีนี้ คือสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม กำกับยอดเยี่ยม บทดั้งเดิมยอดเยี่ยม และถ่ายภาพยอดเยี่ยม (จริงๆ ลุงคีตันก็ควรได้นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมนะ จะว่าไป) หนังที่ดีนั้น แค่ได้เรียนรู้วิธีคิดของ ผกก. ดิฉันก็รู้สึกว่าคุ้มแล้ว การที่ ผกก. กลั่นประสบการณ์ของตัวเองเป็นประสบการณ์ของตัวละคร เลือกวิธีการนำเสนอที่เหมาะสมและผู้ร่วมงานที่เชี่ยวชาญ สร้างสรรค์เป็นผลงานที่สมบูรณ์ทุกองค์ประกอบและตีความได้ไม่รู้จบ มันก็จะกลายเป็นประสบการณ์ที่ดีงามไม่รู้จบของผู้ชมเช่นกัน
สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 130
ภาพ: จากซ้าย – ลูเบซกี อิญาร์ริตู คีตัน
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
15 มีนาคม 2015