โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
28 พฤษภาคม 2015
ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 036; ดู Tomorrowland ที่สกาลา โรงหนังขอขึ้นราคา 20 บาทเพราะหนังยาวเกิน 2 ชั่วโมง นโยบายนี้ใช้มาพักนึงแล้ว ทำให้ชักระแวงว่าต่อไปอาจจะขึ้นราคาทุกเรื่องเป็นการถาวรเลยก็ได้
แต่ตราบใดที่โรงนี้ยังถูกกว่าโรงในห้าง เราก็จะภักดีกับแบรนด์ Apex ต่อไป
“ลองจินตนาการถึงโลกที่อัจฉริยบุคคลทั้งหลายมาอยู่รวมกัน ที่ที่พวกเขาสามารถสร้างสรรค์อะไรก็ได้โดยไม่มีขีดจำกัด ไม่มีอำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง ลองคิดดูสิว่าที่นั่นจะยอดเยี่ยมขนาดไหน”
ตัวละครตัวหนึ่งในหนัง Tomorrowland กล่าวไว้เช่นนี้ เป็นอันชัดเจนว่าหนังจะนำเสนอ “ดินแดนแห่งวันพรุ่งนี้”
ในฐานะโลกยูโทเปีย (Utopia) ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และผู้คนอยู่กันอย่างแฮปปี้เริงร่า แนวคิดเกี่ยวกับยูโทเปียหรือโลกในอุดมคตินี้ มีมาตั้งแต่สมัยกรีกแล้ว ที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็คืองานเขียนเรื่อง Republic ของเพลโต นักปรัชญาคนสำคัญของยุค ต่อมา เซอร์ โทมัส มอร์ นักมนุษยนิยมชาวอังกฤษ ได้นำแนวคิดใน Republic มาเขียนเป็นนวนิยายภาษาละติน เรื่อง Utopia กล่าวถึงเกาะในจินตนาการแห่งหนึ่ง ชื่อ ยูโทเปีย ซึ่งมีสังคมและการปกครองที่สมบูรณ์แบบ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการปกครองที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายในสมัยของท่านเซอร์เอง ทั้งนี้ ท่านได้สร้างศัพท์คำว่า Utopia ขึ้นจากรากศัพท์ภาษากรีก แปลได้สองอย่างคือ good place (ดินแดนที่ดี) กับ no place (ดินแดนที่ไม่มีจริง) ดังนั้นชื่อหนังสือจึงมีความหมายเชิงวิพากษ์อยู่ในตัว หนังสือนี้ประสบความสำเร็จมาก ปัจจุบันก็ยังใช้ในการเรียนการสอนหลากหลายสาขา และคำว่ายูโทเปียก็ได้กลายเป็นคำเรียกสังคมในอุดมคติ ที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก
ที่มารูป: http://www.adventuresbydaddy.com
ฟังจากชื่อแล้ว “ทูมอร์โรว์แลนด์” เหมือนจะเป็นโลกอนาคต แต่หนังบอกว่ามันเป็นช่วงเวลาเดียวกับเรานี่แหละ เพียงแต่อยู่ในอีกมิติหนึ่ง ประมาณว่าเป็นจักรวาลคู่ขนานของเรา หนังผูกเรื่องให้บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ 4 คนร่วมกันก่อตั้งทูมอร์โรว์แลนด์ขึ้น ได้แก่ โทมัส เอดิสัน (นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้พัฒนาไฟฟ้ากระแสตรง) นิโคลา เทสลา (นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันเชื้อสายโครแอต ผู้ค้นคว้าและพัฒนาไฟฟ้ากระแสสลับ ค้นพบวิธีการสื่อสารแบบไร้สาย ประดิษฐ์หลอดฟลูออเรสเซนต์ ฯลฯ) กุสตาฟว์ แอแฟล (a.k.a. กุสตาฟ ไอเฟล วิศวกรและสถาปนิกชาวฝรั่งเศส ผู้สร้างหอไอเฟล) และ ฌูล แวร์น (a.k.a. จูลส์ เวิร์น นักเขียนชาวฝรั่งเศส บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์โลก ผู้แต่ง “80 วันรอบโลก” และ “ใต้ทะเล 20,000 โยชน์“) ทั้งสี่รวบรวมเหล่านักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์ นักคิด นักฝัน เดินทางทะลุมิติไปสร้างโลกใหม่ให้ศิวิไลซ์ไฮเทคเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของมนุษยชาติ และในเวลาต่อมาก็มีการสร้างหุ่นยนต์เพื่อทำหน้าที่สรรหาผู้เหมาะสมจะมาร่วมสร้างสรรค์โลกในอุดมคตินี้ หุ่นยนต์จะให้เข็มกลัดแก่ผู้ได้รับเลือกเพื่อใช้เป็นตั๋วเดินทางไปทูมอร์โรว์แลนด์ ซึ่งบุคคลหนึ่งที่ได้รับเข็มกลัดนี้ก็คือ แฟรงค์ วอล์กเกอร์ นักประดิษฐ์น้อย (แสดงโดย โทมัส โรบินสัน เด็กชายในภาพ) และผู้ที่เป็นเจ๊ดันก็คือหุ่นยนต์เด็กหญิงชื่อ อธีน่า (แสดงโดย รัฟฟีย์ แคสสิดี) แต่พอแฟรงค์โตเป็นหนุ่มก็ถูกขับออกจากทูมอร์โรว์แลนด์เนื่องจากเขาประดิษฐ์อะไรบางอย่างที่ผิดกฎของดินแดนแห่งนี้ เขาเลยต้องกลับมาอยู่โลกเส็งเคร็งของเรา และแก่ตัวลงเป็นชายวัยทองต่อต้านสังคม (แสดงโดย จอร์จ คลูนีย์) ฝ่ายอธีน่าผู้ถูกอัปเปหิจากทูมอร์โรว์แลนด์เหมือนกันด้วยเหตุผลกลใดไม่แน่ชัด ก็เอาเข็มกลัดอันสุดท้ายไปให้เด็กสาวนามว่า เคซีย์ (แสดงโดย บริตต์ โรเบิร์ตสัน) เด็กอัจฉริยะผู้ใจกล้าและไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ แล้วขอร้องแกมบังคับให้แฟรงค์พาเธอทั้งสองไปทูมอร์โรว์แลนด์เพื่อแก้ไขอะไรบางอย่างที่จะมีผลอย่างยิ่งต่ออนาคตของโลกเรา
ดิฉันเล่าอย่างงงๆ ได้แค่นี้แหละ เพราะนอกเหนือจากนี้ก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ หนังมันไม่มีเหตุมีผลอะไรที่ชัดเจนเลย ทั้งที่ตัวละครพูดๆๆๆๆ กันทั้งเรื่อง แต่ก็ไม่ได้ให้ความกระจ่างอะไรแก่คนดู แถมจังหวะเรื่องก็ย้วยๆ ยานๆ พิกล เป็นหนังที่ยาวโดยไม่จำเป็นจริงๆ แม้จะมีฉากโลกไฮเทคที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่ก็ไม่ทำให้หนังสนุกขึ้นมาได้ ยังดีที่หนังพอจะจุดประกายความหวังในการสร้างอนาคตอันสดใสได้บ้าง ไม่งั้นดิฉันเอาเวลาไปแกะเม็ดกวยจี๊กินและเอาเงินไปซื้อลอตเตอรี่น่าจะดีกว่า
สรุป: จ่าย 120 ได้กลับมา 60