โดย Win Malaiwong
20 พฤษภาคม 2016
X-Men: Apocalypse กับสตรีศึกษาและทฤษฎีหลังยุคอาณานิคม
ที่มารูป: http://www.majorcineplex.com
ในบรรดาตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ทั้งหมดทั้งมวล มิสติกค์ (Mystique) เป็นตัวละครที่รักมากที่สุด ดังนั้น ผมจึงค่อนข้างตื่นเต้นที่หนัง X-Men ตอนใหม่ล่าสุดจะชูให้มิสติกค์เป็นตัวนำของเรื่อง ในตอนก่อนหน้า X-Men: First Class (2011) ผู้สร้างผูกเรื่องให้มิสติกค์ต่อสู้กับปมขัดแย้งในตัวเองว่าจะเลือกใช้ชีวิตแบบใดดี แต่หนัง X-Men ตอน Apocalypse นี้ เปลี่ยนจุดโฟกัสหันมาแสดงปมขัดแย้งระหว่างมิสติกค์กับตัวละครอื่น แจกแจงภูมิหลังทำให้ผู้ชมเข้าใจว่าทำไมมิสติกค์ถึงย้ายข้างไปย้ายข้างมา อึดอัดใจที่จะเลือกอยู่กับแมกนีโต้หรือ Prof. X
ในตอน Apocalypse ตัวละครชายถูกควบคุมตกอยู่ภายใต้อำนาจมืด ทำให้ตัวละครหญิงอย่างมิสติกค์ปรากฏตัวขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำกลุ่ม X-Men แทน กลวิธีลิดรอนอำนาจลดทอนบทบาทตัวละครชายเพื่อให้ผู้หญิงฉายแสงเป็นอีกประเด็นที่คุยกันได้ไม่จบสิ้น มิสติกค์ถูกแต่งตั้งให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจยามเข้าตาจน สถาปนาตัวละครหญิงขึ้นหิ้งให้ผู้คนบูชา (women on a pedestal) มิสติกค์อาจจะไม่ได้มีความสามารถในการต่อสู้ขั้นเทพ แต่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวละครอื่นฮึดสู้ พลังอำนาจและบทบาทของผู้หญิงถูกจำกัดอยู่เพียงเท่านี้ สังคมคาดหวังว่าผู้หญิงจะต้องมี morale ประเภทเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ Jennifer Lawrence แสดงบทนี้ได้ดี สีหน้ามีความกังวลลังเล แม้ว่าการยอมจำนนเป็นหุ่นเชิดครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเจตนาดี แต่ก็ขัดกับปรัชญาความเชื่อของเธอ
จีน เกรย์ (Jean Grey) เป็นตัวละครหญิงอีกคนที่น่าสนใจ ถ้าใครเป็นแฟน X-Men series ตามดูทุกภาคคงจำกันได้ว่าในตอน X-Men: The Last Stand (2006) อำนาจของจีนพุ่งขึ้นระดับพีคสุดจนเป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ ตัวละครเอกฝ่ายชาย Wolverine ต้องเข้ามาตัดตอน ลดทอน และควบคุมอำนาจของจีน ใจความสำคัญคือสตรีที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์และอำนาจเป็นมหันตภัยต่อสังคม พอย้อนมาตอน Apocalypse นี้จะพบว่าจีนพยายามสะกดอารมณ์และความสามารถของตนเอง ทว่า Prof. X กลับตะโกนบอกให้เธอปลดปล่อยมันออกมาให้สุด อย่าได้กั๊กไว้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสังคมต้องการอะไรจากผู้หญิงกันแน่
นอกจากนี้ หนัง X-Men: Apocalypse ยังมีประเด็นเรื่อง colonialism & subaltern ด้วย En Sabah Nur คือวายร้ายของเรื่อง ผู้กำกับไม่ได้ปูพื้นตัวละครนี้มากมาย เปิดเรื่องมาบอกเพียงแค่ว่า En Sabah Nur เป็นผู้นำอียิปต์โบราณ หลงใหลการปกครองแบบแย่งชิงฉกฉวยจากผู้อื่น ภาพเหมารวม (stereotype) ของ the Orient มาเต็มในช่วง 10 นาทีแรกของหนัง แล้วพอ En Sabah Nur ฟื้นขึ้นมาอีกทีก็กระหายอยากจะครอบครองโลก แต่ด้วยวิธีแยบยลแบบใหม่ พยายามครอบงำความคิด เข้าคอนเซปต์ neo-colonization เลย เรียกว่าตื่นมาแล้วเลวได้ร่วมสมัย ผู้สร้างหนังถ่ายทอดว่า En Sabah Nur ไม่ได้มีร่างเดียว หากความชั่วร้ายกระหายอยากครอบครองสามารถปลูกถ่ายจากร่างหนึ่งไปยังอีกร่างหนึ่ง ส่งต่อกันได้ อันนี้เจ๋ง ควรชื่นชม แต่ที่ต้องด่าก็มี การที่จะให้สิทธิชอบธรรมกับซูเปอร์ฮีโร่อเมริกันก็ไม่จำเป็นต้องกดให้ “คนชาติอื่น” เป็นตัวร้ายตลอดไหม?
สำหรับ X-Men: Apocalypse นะ ฉากแอ็กชันยังสนุกเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือประเด็นให้ขบคิด จะขอหักคะแนนการดำเนินเรื่องที่กระโดดไม่สมเหตุผลไปนิดหนึ่ง แต่จะบอกว่าหนังแนวซูเปอร์ฮีโร่ไม่ฉาบฉวยนะ มีอะไรให้คิดสร้างสรรค์ มองต่างได้จากหลายมุม