โดย Average Joe
30 ธันวาคม 2012
พล็อตหนังที่ว่าด้วยเหตุเครื่องบินตกกลางหิมะ แล้วคนที่รอดชีวิตต้องมาเผชิญกับฝูงหมาป่าอีก อาจทำให้นึกถึงหนังเรื่อง Alive (1993) และ Frozen (2010) แต่ทว่านั่นก็เป็นเพียงโครงเรื่องคร่าวๆ ของหนังเรื่อง The Grey (2011) เท่านั้น นอกจากเรื่องของการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดจากธรรมชาติและชะตากรรมอันโหดร้ายแล้ว หนังยังตั้งคำถามต่อความหมายของชีวิต ความศรัทธา ความป่าเถื่อน และความเป็น “แมน” ด้วย
ที่มารูป: https://images-na.ssl-images-amazon.com
ไม่ว่าใครก็ตามที่ประสบกับสถานการณ์คอขาดบาดตายเช่นที่เห็นในหนัง (ทั้งเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ) อาจจะเกิดอาการช็อก ขวัญเสีย ตื่นตกใจ หรือไม่ก็ท้อแท้โอดครวญต่อโชคชะตาตามธรรมดาของมนุษย์ จะมากจะน้อยก็แล้วแต่บุคคลไป แต่ผู้ที่อยู่รอดจากสถานการณ์เช่นนี้ได้มักเป็นคนที่รวบรวมสติและความเข้มแข็งของตนได้เร็วที่สุด ใครที่ยังปล่อยให้ความอ่อนแอของตนอยู่เหนือสติ แม้จะรอดชีวิตในตอนแรก ก็มักจะเรียงคิวตายไปตามลำดับอยู่ดี แต่ด้วยสภาพที่มองไปทางไหนก็เจอแต่หิมะสูงท่วมเข่า แถมมีหมาป่าฝูงเบ้อเริ่มรอเก็บสแปร์อยู่รอบตัว ความเข้มแข็งคงอยู่กับเราตลอดได้ยาก และเมื่อใดที่ความเข้มแข็งลดน้อยลง ความกลัวก็จะหาช่องทางแทรกซึมเข้ามา บางคนอาจพยายาม “โชว์แมน” กลบเกลื่อนความกลัวของตัวเอง เช่นการพูดจาห่ามๆ ห้าวๆ มึงมาพาโวย เสียงดัง ประกาศให้โลกรู้ว่ากูแน่ หรือไม่ก็ท้าตีท้าต่อยกับใครก็ตามที่เห็นแย้งกับตัวเอง (โดยเฉพาะเวลาเถียงไม่ทัน) นี่คงเป็นค่านิยมที่ฝังหัวกันมาว่า “แมนจริง ต้องโหด ห้าว เหี้ยม กล้ามโต มาโช่ เว้ยเฮ้ย” หรือไม่ก็ “แมนจริง ต้องเข้มแข็ง ไม่กลัว ไม่ร้องไห้ ไม่อ่อนไหว เว้ยเฮ้ย” เช่นกัน (ซึ่งพ่อของพระเอกก็เป็น “แมน” ตามแบบแผนนี้ด้วย) อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงบทบาททางเพศในสังคมที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเป็น guideline ให้คนบางกลุ่มเท่านั้น ใครที่ไม่เข้ากรอบดังกล่าวก็ไม่ได้แปลว่าจะต้อง “ไม่แมน” เสมอไป เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนเกินกว่าจะถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบของคำพูดไม่กี่คำ
ฉะนั้น ในสถานการณ์คับขันที่ทุกคนต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ตัวละครทั้งหมดที่เป็นผู้ชายตัวโตๆ หนวดเครายาวเฟิ้ม ก็ค่อยๆ เชื่อมสัมพันธ์กัน “แบบแมนๆ” และเปิดเผยความอ่อนไหวภายในให้คนอื่น (รวมทั้งคนดู) ได้รับรู้ เกี่ยวกับสิ่งที่แต่ละคนรักและห่วงใย เกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต และค่อยๆ ทลายกำแพง “ความแมน” ตามขนบไปทีละน้อย และหนังก็เน้นย้ำประเด็นนี้ผ่านปากตัวละครหญิงเพียงคนเดียวในเรื่อง (เมียพระเอก ซึ่งอยู่ในความคิดคำนึงเท่านั้น) ด้วยการให้เธอพูดกับพระเอกด้วยประโยคเดียวซ้ำๆ ว่า “อย่ากลัว” ด้วยน้ำเสียงที่เป็นการปลอบประโลมมากกว่าเป็นคำสั่ง
หนังกำหนดให้ตัวละครได้มีโอกาสครุ่นคิดเกี่ยวกับความหมายของชีวิต ความสำคัญของศรัทธา และความตายอันแน่นอนอยู่บ่อยครั้ง ฉากหนึ่งที่ชอบเป็นการส่วนตัวคือฉากหลังจากเครื่องบินตก พระเอกพูดกับคนหนึ่งที่บาดเจ็บสาหัสเกินเยียวยาด้วยน้ำเสียงเรียบเฉยว่า “นายกำลังจะตาย” ซึ่งเป็นคำพูดที่เหมือนจะโหดร้ายแต่ก็จริงใจเอามากๆ หลังจากนั้นเขาก็พูดว่า “Who do you love? Let them take you.” การให้นึกถึงคนที่เขารักอาจจะช่วยให้ผู้ตายใจสงบลงได้บ้าง เพราะแม้เขาจะตาย เขาก็ยังมีคนที่รักอยู่กับเขา (แม้เพียงในความคิดคำนึง) จนสิ้นลมหายใจสุดท้าย การมีชีวิตอยู่ของเราทุกคนต่างก็ขับเคลื่อนไปด้วยสิ่งอันเป็นที่รักและเป้าหมายอันแน่วแน่ และหากผู้ใดสูญเสียสิ่งที่ตนรัก หรือความหวังใดๆ ในชีวิตแล้ว เขาก็คงไม่รู้จะอยู่ไปเพื่ออะไรเช่นกัน
อ่านมาถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งคิดว่าหนังน่าเบื่อเพราะคนเขียนมัวแต่นั่งวิเคราะห์ตีความกันอยู่นั่น จริงๆ แล้วหนังก็ยังรักษาความตื่นเต้นน่าติดตามได้อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคจากสภาพอากาศและภูมิประเทศที่ไม่เป็นใจ หรือฉากที่มีหมาป่าจู่โจมก็ตาม ช่วงหลังๆ ใครที่คุ้นชินกับภาพน้าเลียมในหนัง Taken (ทั้งสองภาค) และ Unknown อาจลุ้นให้น้าเลียมวิ่งไล่จับหมาป่ามาตั๊นหน้ารายตัว หรือตีศอกให้สลบเหมือดทั้งฝูง แต่เนื่องจาก The Grey ไม่ใช่หนังเน้นแอ็กชันแบบนั้น หนังกลับสร้างสถานการณ์ที่กดดันและน่าอึดอัดเข้ามาเรื่อยๆ ระหว่างดูอยู่จึงอาจจะรู้สึกขึ้นมาว่า ด้วยบรรยากาศอันเงียบเชียบเวิ้งว้างเช่นนี้ ก็ทำให้หิมะที่เห็นในจอ แผ่ความหนาวยะเยือกมาถึงตัวคนดู ทำให้สันหลังเย็นวาบได้บางขณะทีเดียว
เมื่อถึงตอนท้ายเรื่อง ประเด็นคงไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะรอดหรือไม่รอดอย่างไร แต่น่าจะอยู่ที่ว่า ในชีวิตนี้ เราได้ “สู้” กับโชคชะตา ปัญหา และอุปสรรคต่างๆ อย่างเต็มที่แล้วหรือยัง ตามบทกวีที่พ่อของพระเอกได้แต่งไว้ ดังนี้
Once more into the fray,
Into the last good fight I’ll ever know.
Live and die on this day.
Live and die on this day.
8/10 ครับ