โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
17 สิงหาคม 2016
ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 072; ชมภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ในงาน “เมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรภาพยนตร์” ซึ่งหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี สำหรับเดือนสิงหาคมนี้ จัดฉายเรื่อง The Sound of Music ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทอดพระเนตรเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2508 ที่โรงภาพยนตร์กรุงเกษม ริมคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง (ตอนนี้ทุบทิ้งสร้างตึกทับไปแล้วเรียบร้อย)
หนังเรื่องนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตวัยเด็กของหลายๆ คน รวมทั้งดิฉันด้วย เพราะแม้จะเกิดไม่ทันได้ดูหนัง แต่พ่อแม่ก็เปิดเพลงในหนังให้ฟังบ่อยๆ จนจำได้ขึ้นใจ พูดได้ว่าถึงจะไม่เคยดูหนังก็รู้จักเพลงดี จนโตขึ้นมา มาเรียนมหา’ลัยที่กรุงเทพฯ จึงได้มีโอกาสดูหนังเรื่องนี้ โดยเช่าวิดีโอมาดู (เป็นกิจกรรมที่บ่งบอกอายุได้ดีมาก) รู้สึกตื่นตาตื่นใจและตื่นเต้นมากเมื่อเพลงที่เราฟังและร้องตามมาตั้งแต่เด็ก ปรากฏออกมาเป็นภาพที่ทั้งสวยงามและสนุกสนานขนาดนั้น แถมยังเพิ่งรู้เป็นครั้งแรกว่าหนังเรื่องนี้อิงประวัติศาสตร์การเมืองออสเตรียด้วย ไม่ได้มีแต่โหมดครอบครัวหรรษาเพียงอย่างเดียว จนในกาลต่อมาพอได้รู้ว่าเขาสร้างมาจากเรื่องจริง ก็ยิ่งทึ่งเข้าไปใหญ่ คุณครูมาเรียของเดี๊ยนมีตัวตนจริงหรือนี่!!! โอ้…วันทามารีอา
จะขอเล่าประวัติคุณครูมาเรียตัวจริงไว้หน่อยเพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่เบี้ยน้อยฯ นะฮะ มาเรีย ออกัสตา ฟอน แทรปป์ (Maria Augusta von Trapp) เกิดที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย เมื่อปี ค.ศ. 1905 กำพร้าบิดามารดาตั้งแต่ 7 ขวบ เมื่ออายุ 19 ปีได้สมัครเป็นแม่ชีฝึกหัดในอารามที่เมืองซาลส์บูร์ก ระหว่างนั้น ทางอารามมอบหมายให้ไปเป็นครูพี่เลี้ยงที่บ้านของนาวาเอก เกออร์ก ฟอน แทรปป์ (Captain Georg von Trapp) ซึ่งเป็นพ่อหม้าย มีลูกติด 7 คน มาเรียแต่งงานกับผู้การฟอน แทรปป์ ในปี 1927 (เมื่อเธออายุ 22 ผู้การอายุ 47) ต่อมาครอบครัวแทรปป์ได้ประกอบสัมมาอาชีวะเป็นนักร้องประสานเสียง มีคณะเป็นของตัวเอง ชื่อ Trapp Family Singers เปิดตัวในงานเทศกาลดนตรีเมื่อปี 1935 ที่กรุงเวียนนา จากนั้นก็มีงานแสดงตลอด มีทัวร์คอนเสิร์ตด้วย จนในปี 1938 เมื่อนาซีผนวกออสเตรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรที่ 3 (Third Reich เป็นชื่อของประเทศเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ผู้การฟอน แทรปป์ไม่อยากจะไฮล์ฮิตเลอร์อย่างคนอื่นๆ ก็เลยพาครอบครัวลี้ภัยไปตั้งรกรากอยู่ที่รัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา ยังคงทำวงประสานเสียงเหมือนเดิม โดยมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 3 คน คือลูกของผู้การกับมาเรีย ผู้การเสียชีวิตในปี 1947 ด้วยโรคมะเร็งปอด สิริอายุ 67 ปี (ตอนนั้นมาเรียอายุ 42 เอง) หลังจากนั้น Trapp Family Singers ก็ได้เข้าวงการเพลงอย่างเต็มตัว โดยเซ็นสัญญาอัดแผ่นเสียงกับค่ายเพลงในอเมริกา พอปี 1957 ก็ยุบวง ลูกๆ ของผู้การแยกย้ายไปมีครอบครัวและประกอบอาชีพอย่างอื่น ส่วนมาเรียและลูก 3 คนของเธอไปเป็นมิชชันนารีที่ปาปัวนิวกินี จนถึงปี 1965 มาเรียก็ย้ายกลับมาเวอร์มอนต์ เปิดบ้านเป็นสถานที่พักตากอากาศ ชื่อ Trapp Family Lodge ปัจจุบันนี้ก็ยังดำเนินการอยู่ โดยแซม ฟอน แทรปป์ หลานย่าของมาเรีย (เป็นลูกของโยฮันเนส ฟอน แทรปป์ ลูกชายคนเล็กของมาเรียกับผู้การ) มาเรียเสียชีวิตเมื่อปี 1987 ด้วยอาการหัวใจล้มเหลว สิริอายุ 82 ปี
ในปี 1949 มาเรียได้มอบมรดกชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งให้แก่โลก นั่นคือหนังสือ The Story of the Trapp Family Singers ซึ่งเธอเขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวแทรปป์ ตั้งแต่ชีวิตที่ซาลส์บูร์กจนมาถึงชีวิตใหม่ในอเมริกา หนังสือเล่มนี้เป็นเบสต์เซลเลอร์ แถมยังโดนใจผู้สร้างภาพยนตร์จากเยอรมันตะวันตก ถึงกับซื้อลิขสิทธิ์ไปทำหนังสองเรื่องต่อกัน ได้แก่ Die Trapp-Familie (แปลว่า The Trapp Family) ฉายในปี 1956 และ Die Trapp-Familie in Amerika (แปลว่า The Trapp Family in America) ฉายในปี 1958 ปรากฏว่าผู้กำกับละครบรอดเวย์ชื่อดังได้ดูหนังทั้งสองเรื่องนี้ และประทับใจมาก ก็เลยซื้อลิขสิทธิ์หนังรวมทั้งหนังสือต้นฉบับ มาดัดแปลงเป็นละครเพลง ใช้ชื่อว่า The Sound of Music ให้นักแต่งเพลงละครบรอดเวย์ที่เทพสุดๆ ในยุคนั้น คือ ริชาร์ด รอดเจอร์ส กับออสการ์ แฮมเมอร์สไตน์ ที่ 2 แต่งทำนองและเนื้อร้องตามลำดับ (ทั้งสองท่านนี้ทำงานร่วมกันมาหลายเรื่อง ในนาม Rodgers and Hammerstein ล้วนแล้วแต่เลิศสะแมนแตน) The Sound of Music เปิดการแสดงที่บรอดเวย์ในปี 1959 เข้าชิงรางวัลโทนี (รางวัลที่มอบให้ละครบรอดเวย์โดยเฉพาะ) 9 สาขา ชนะ 5 สาขา รวมทั้งมิวสิคัลยอดเยี่ยม ละครเพลงเรื่องนี้แหละที่เป็นต้นฉบับของหนังเพลง The Sound of Music ในปี 1965 (พ.ศ. 2508) หรือชื่อไทยสุดไพเราะว่า “มนต์รักเพลงสวรรค์” ซึ่งดิฉันได้มีโอกาสดูจากจอใหญ่เป็นครั้งแรกในวาระพิเศษนี้ คนดูเต็มโรงค่ะ ไม่ใช่เล่นๆ มีตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดงไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ที่ให้ลูกหลานประคองมา อารมณ์เหมือนไปดูโขนพระราชทานยังไงยังงั้นเลย
ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ดิฉันดูหนังเรื่องนี้ ถ้านับรวมเวอร์ชันอื่นๆ ก็เป็นสิบรอบแหละ เพราะตั้งแต่สมัยเด็กๆ ก็ได้ดูหนังไทยเรื่องหนึ่ง จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว จำได้แต่ว่าดัดแปลงมาจาก The Sound of Music เพราะเก็บเพลงต่างๆ ไว้เกือบครบ โดยนำมาใส่เนื้อร้องไทย เช่นเพลง Do-Re-Mi ที่ร้องว่า “Doe, a deer, a female deer. Ray, a drop of golden sun…” เขาแต่งเนื้อไทยว่า “โด่ คือการตั้งตรงไม่เอียง เร คือตาที่มันเหล่เข…” วิบัติเชียว แต่ดิฉันก็ยังอุตส่าห์จำได้ ต่อมาก็ติดอะนิเมะของญี่ปุ่นงอมแงม ชื่อเรื่องว่า Torappu Ikka Monogatari (แปลว่า Trapp Family Story) ความยาว 40 ตอน ฉายทางทีวีตอนเช้าตรู่ ก็ต้องแหกขี้ตาตื่นมาดู เมื่อปีที่แล้วคุณป้าแจ๋ว ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ ทำละครเพลง The Sound of Music เวอร์ชันภาษาไทยเป็นครั้งแรก ใช้ชื่อว่า “มนตร์รักเพลงสวรรค์” ดิฉันก็ไปดู ไปเชียร์หลานซึ่งแสดงเป็นลูกคนที่ 3 ของตระกูลแทรปป์ กับเชียร์รุ่นน้องอักษรจุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้แปลบทและเนื้อเพลง เพลง Do-Re-Mi ที่รักของดิฉัน น้องใส่เนื้อไทยว่า “Doe คือกวาง แม่กวางย่างเยื้อง Ray คือแสงเรื่อเรืองตะวัน…” โอ๊ยยย ชีวิตดิฉันดีขึ้นเป็นกอง ต่อมาเปิดทีวีไปเจอ The Sound of Music Live! ดิฉันก็ดู เรื่องนี้เป็นละครทีวีที่สร้างแบบละครเวที คือจัดฉากจัดอะไรเหมือนละครเวทีทั้งหมด และใช้บทของบรอดเวย์โดยดัดแปลงเล็กน้อยขำๆ เช่น ในเพลง Do-Re-Mi ตอนที่คุณครูมาเรียสอนโน้ตเสร็จ เด็กๆ ท้วงว่า แต่โน้ตพวกนี้ไม่เห็นมีความหมายอะไรเลยนี่คะ/ครับ คุณครูก็เลยว่า “So we put in words. One word for every note. Like this.” (เราก็ใส่คำเข้าไป หนึ่งคำต่อหนึ่งโน้ต แบบนี้นะจ๊ะ) แล้วก็ร้องให้ฟังเป็นตัวอย่างว่า “When you know the notes to sing, you can sing most anything.” เด็กหญิงคนสุดท้องฟังแล้วถามอย่างงงๆ “คุณครูบอกว่าหนึ่งคำต่อหนึ่งโน้ต แล้วทำไม anything หนึ่งคำมีตั้งสามโน้ตคะ” น่ารักมากมาย สรุปแล้ว ดิฉันดูแทบทุกอย่างเท่าที่จะสามารถดูได้แล้วเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ และเฉพาะตัวหนังเวอร์ชันนี้ก็ดูมาหลายรอบ ก็เลยอยากพิสูจน์กับตัวเองเหมือนกันว่า การดูซ้ำในบรรยากาศใหม่จอใหญ่ยักษ์ จะให้ความรู้สึกที่แปลกใหม่หรือไม่อย่างไร
ผลปรากฏว่า
น้ำตาไหลพรากข่าาาา พีคมากกกกก ได้ประจักษ์แก่ใจเลยว่า หนังที่ดีจริงๆ นั้น ไม่ว่าจะดูกี่ครั้งมันก็ดี ยิ่งดูก็ยิ่งได้ความคิดดีๆ ไม่มีที่สิ้นสุด และจอใหญ่ๆ ก็ช่วยขยายสิ่งดีๆ ให้เราได้เห็นชัดเจนขึ้นหลายเท่า หนังทำให้เราซาบซึ้งในความรักของครอบครัว ความรักประเทศชาติอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอน รวมทั้งความรักที่จะใช้ชีวิตตามเส้นทางของตนอย่างดีที่สุด โดยมีดนตรีเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงและเครื่องแสดงออกถึงความรักนั้น การได้เห็นจูลี่ แอนดรูว์ส กับคริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ ในวัยหนุ่มสาวบนจอใหญ่ๆ มันน่าทึ่งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ดูการแสดงของเอลีนอร์ พาร์คเกอร์ ในบทบารอเนสส์ เอลซ่า ฟอน ชเรเดอร์ อย่างเต็มอิ่ม (จากภาพ คือคนนั่งเก้าอี้ด้านขวา) ดิฉันชื่นชอบมาตั้งแต่ดูครั้งแรกแล้ว แอ็กติ้งเนี้ยบกริบเลย ได้ดูใหญ่ๆ ชัดๆ นี่เห็นรายละเอียดทุกอย่างของการแสดงความรู้สึกบนใบหน้า ฟินกระจาย!!
สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 300
หมายเหตุ: The Sound of Music ชนะรางวัลออสการ์ 5 สาขา ได้แก่
- ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
- กำกับการแสดงยอดเยี่ยม
- ผสมเสียงยอดเยี่ยม
- ตัดต่อยอดเยี่ยม
- ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม