โดย ช. คนไม่หวังอะไร
เมื่อรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุนดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น ก็จัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคสามัคคีธรรมในนามของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้รับเลือกตั้ง 79 คน พรรคชาติไทย 74 คน พรรคความหวังใหม่โดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ 72 คน พรรคประชาธิปัตย์ 44 คน พรรคกิจสังคม 31 คน พรรคพลังธรรม 41 คน พรรคประชากรไทย 7 คน และพรรคเอกภาพ 6 คน โดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ให้สัมภาษณ์ว่าตนและสมาชิก รสช. จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ทำให้ภายหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมือง 5 พรรค ได้แก่ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎรร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลและเปิดแถลงข่าว ระหว่างนั้นมีผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ผู้ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้รับวีซ่าสำหรับการเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา จะก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่หากดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จากคำถามดังกล่าวและคำตอบที่ไม่แจ่มชัด ทำให้นายณรงค์ วงศ์วรรณถอนตัว ทำให้ 5 พรรคการเมืองหันไปสนับสนุนพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งในระหว่างที่พลเอกสุจินดา คราประยูรยังไม่ได้ตอบรับ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะ รสช. ให้สัมภาษณ์ว่าหากสุไม่รับก็ให้เต้ (พลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล) แต่หลังจากนั้นไม่นาน พลเอกสุจินดา คราประยูรก็รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี นายณรงค์ วงศ์วรรณ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ นายมนตรี พงษ์พานิช และนายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวัฒนา อัศวเหม นายทินพันธุ์ นาคะตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกสุจินดา คราประยูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพินิจ จันทรสุรินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายบรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลอากาศเอกอนันต์ กลินทะ (ตัวแทนพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายปองพล อดิเรกสาร
การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา คราประยูร ภายใต้กระแสนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ก่อให้เกิดการคัดค้าน ผนวกกับที่พลเอกสุจินดา คราประยูรกล่าวว่าจำเป็นต้อง “เสียสัตย์เพื่อชาติ” พร้อมกับที่สื่อสารมวลชนได้เรียกกลุ่มพรรคการเมืองว่าพรรคเทพและพรรคมาร โดยพรรคเทพหมายถึงพรรคที่ประกาศเป็นฝ่ายค้าน ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีพลเอกสุจินดา คราประยูร และรสช. ส่วนพรรคมารหมายถึงพรรคร่วมรัฐบาล ด้านเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตรได้เริ่มการอดอาหารประท้วง ตามด้วยพลตรีจำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และเริ่มมีการชุมนุมตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน-พฤษภาคม ทหารภายใต้การสั่งการของรัฐบาลเข้ามารักษาการในกรุงเทพฯ เริ่มมีการเผชิญหน้ากันบนถนนราชดำเนิน-สนามหลวงเมื่อผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปหน้าทำเนียบรัฐบาล ทหารสกัดการเคลื่อนขบวน มีการปะทะกัน และมีการบุกเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีการใช้กระสุนจริงสลายการชุมนุม พร้อมกับการควบคุมตัวพลตรีจำลอง ศรีเมือง ประชาชนเริ่มออกมาชุมนุมหลายพื้นที่ มีการจัดตั้งแนวป้องกันการปราบปรามตามถนน รัฐบาลจับกุมตัวประชาชนจำนวนมากไปควบคุมไว้ แต่ผู้ชุมนุมบางส่วนเคลื่อนย้ายการรวมตัวไปที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกและรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชน เริ่มมีการก่อความไม่สงบต่อต้านรัฐบาล กลุ่มจักรยานยนต์หลายพื้นที่ทุบทำลายป้อมสัญญาณไฟจราจร สื่อภายในประเทศไม่รายงานความเสียหายมากนัก แต่สื่อต่างประเทศรายงานข่าวการสลายการชุมนุม ทำร้าย จับกุม ขณะที่รัฐบาลใช้แผนไพรีพินาศเต็มรูปแบบ
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ผู้นำทั้งสองฝ่ายเข้าเฝ้า คือ พลเอกสุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง โดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นผู้นำเข้าเฝ้า ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พลเอกสุจินดา และพลตรีจำลองแถลงการณ์ร่วมกันผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ พลเอกสุจินดาประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แกนนำรัฐบาลเสนอชื่อพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยมีคณะรัฐมนตรีคือ พลเอกบรรจบ บุนนาคเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอาสา สารสินเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลตำรวจเอกเภา สารสินเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนุกูล ประจวบเหมาะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถือได้ว่าจปร. รุ่น 5 ซึ่งรุ่งเรืองสุดขีดในกองทัพ แต่กลับเป็นรัฐบาลได้เพียง 47 วัน ขณะที่นายอานันท์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 เพื่อจัดการเลือกตั้งในระยะเวลาเพียง 105 วันท่ามกลางกระแสเทพ-มาร ส่วนประชาชนเกิดรังเกียจทหารเป็นอย่างมากอันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 2 ในรอบ 1 ปี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณกลับสู่สนามการเมืองอีกครั้งในนามพรรคชาติพัฒนา มีนายประจวบ ไชยสาส์นเป็นเลขาธิการพรรค โดยพลเอกชาติชายประกาศว่า “กลับมาเพื่อคนรุ่นใหม่” ขณะที่พรรคชาติไทยยังดำรงอยู่ภายใต้พลตำรวจเอกประมาณ อดิเรกสารเป็นหัวหน้าพรรค และนายบรรหาร ศิลปอาชาเป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งมีข้อสังเกตทางสังคมและข้อครหาว่า กลุ่มราชครูแยกกันเป็นสองพรรคการเมืองเพื่อแยกกันเดิน รวมกันตีหรือไม่ ทั้งที่ความจริงมีความขัดแย้งระหว่างนายกร ทัพพะรังสีกับนายบรรหาร ศิลปอาชาเป็นฉากหลัง ในเรื่องนี้หากย้อนไปตั้งแต่การก่อตั้งพรรคชาติไทย ถือได้ว่ามีความเติบโตเรื่อยมา กลุ่มทุนพาณิชย์อุตสาหกรรมให้การสนับสนุนอย่างหนาแน่น พรรคประชาธิปัตย์จากกลุ่มศักดินาที่ดินเดิม พัฒนาองค์กรจากเดิมที่มีความขัดแย้งระหว่างนายควง อภัยวงศ์กับกองทัพมาตลอด เริ่มเป็นองค์กรทางการเมืองในสนามเลือกตั้ง นายชวน หลีกภัย เจ้าของฉายามีดโกนอาบน้ำผึ้ง เป็นหัวหน้าพรรค พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์เป็นเลขาธิการพรรคที่มีบทบาทสูงยิ่ง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธยังคงนำพรรคความหวังใหม่ หลังจากโดนพลเอกสุจินดา คราประยูร ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกล่าวหากลางสภาว่าเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยแบบ “สภาเปรซิเดียม” พรรคพลังธรรมภายใต้การนำของพลตรีจำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำจปร. รุ่น 7 เป็นหัวหน้าพรรค มีแกนนำพรรคคือ นาวาตรีประสงค์ สุ่นศิริ พันเอกวินัย สมพงษ์ นายวิชิต สุรพงษ์ชัย และนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
สนามเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรทั่วไปครั้งที่ 2/2535 ระบบทุนนิยมเริ่มมีอิทธิพลสูงในการเลือกตั้ง ไทยเริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ผลพวงจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณที่ได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามเย็น ธุรกิจหลายด้านเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบริการ พลังงานและรับเหมาก่อสร้าง กลยุทธการหาเสียงใช้กันหลายรูปแบบ กระแสเทพ-มารมีอิทธิพลต่อชุมชนเมือง พรรคพลังธรรมซึ่งมีผลงานจากการล้มรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร เจอกับเทคนิคการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ โดยการปล่อยโปสเตอร์หาเสียงก่อนวันเลือกตั้งเพียงไม่กี่วันด้วยภาพของนายปรีดี พนมยงค์ พร้อมข้อความ “อนาธิปไตยมิใช่ประชาธิปไตย” ประกอบกับที่พรรคประชาธิปัตย์ประเมินการหาเสียงเลือกตั้งและเหตุการณ์ทางการเมืองด้วยการชูนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 79 คน พรรคชาติไทย 76 คน พรรคชาติพัฒนา 60 คน พรรคความหวังใหม่ 53 คน พรรคพลังธรรม 46 คน พรรคกิจสังคม 21 คน พรรคเสรีธรรม 8 คน พรรคเอกภาพ 8 คน พรรคมวลชน 4 คน พรรคประชากรไทย 4 คน และพรรคราษฎร 1 คน ภายหลังการเลือกตั้ง ด้วยความสามารถในการประสานงานของพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์กับกลยุทธ์การสัมภาษณ์การจับมือกันระหว่างพรรคการเมืองผ่านจอทีวีโดยบังเอิญของนายสุทธิชัย หยุ่น พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาลรวม 6 พรรคการเมือง โดยมีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายอำนวย วีรวรรณ นายบุญชู โรจนเสถียร และนายศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี พลเอกวิจิตร สุขมาก จปร. รุ่น 2 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นาวาตรีประสงค์ สุ่นศิริเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอุทัย พิมพ์ใจชนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์