ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 111; ดู Get Out หนังที่สร้างปรากฏการณ์ฮิตถล่มทลาย ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์ แซ่ซ้องกันว่าเป็นหนังสยองขวัญที่สอดแทรกประเด็นทางสังคมไว้อย่างเข้มข้น #ยังกะคำประกาศซีไรต์
อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่หนังสักเรื่องหนึ่งซึ่งนำเสนอตัวเองในรูปแบบหนังสยองขวัญ จะมีเนื้อหาวิพากษ์สังคมหรือตีแผ่ปัญหาอันหนักหน่วง แต่ Get Out ก็มีความแปลกใหม่ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้อยู่ 2 ประการ หนึ่งคือ มันเป็นหนังสยองขวัญที่มีประเด็นทางสังคมเป็นแกนหลักของเรื่อง พูดได้ว่ามุ่งนำเสนอปัญหาสังคม โดยมีความสยองขวัญเป็นส่วนประกอบ และสอง ประเด็นที่นำเสนอเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในหนังสยองขวัญรวมทั้งหนังประเภทอื่นๆ เท่าใดนัก นั่นก็คือ การเหยียดผิวแบบที่ฝรั่งเรียกกันว่า White Liberal Racism ซึ่งเกิดจากการที่คนขาวรู้สึกผิดที่เหยียดคนผิวสีมาโดยตลอด จึงพยายามปฏิบัติกับคนผิวสีอย่างเท่าเทียม เพื่อแสดงออกถึงความใจกว้าง แต่เนื่องจากการปฏิบัตินั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการยอมรับความเท่าเทียมกันจริงๆ มันก็เลยกลายเป็นทำดีจนเว่อร์ ซึ่งยิ่งตอกย้ำความแตกต่างและ ‘ความเป็นอื่น’ ของคนผิวสีมากขึ้นไปอีก
Get Out เป็นผลงานการเขียนบทและกำกับหนังเรื่องแรกของจอร์แดน พีล นักแสดงตลกผิวสีชาวอเมริกันวัย 38 ผู้มีประสบการณ์ตรงในการโดนเหยียดผิวมาตั้งแต่เด็กๆ พีลเป็นแฟนพันธุ์แท้หนังสยองขวัญ และใฝ่ฝันจะทำหนังแนวนี้มาตลอด แต่โชคชะตาก็ชักพาให้เขาไปทำรายการตลกทางโทรทัศน์อยู่นาน จนกระทั่งเขาได้ไปชมการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนของเอ็ดดี เมอร์ฟี นักแสดงตลกผิวสีที่ทั่วโลกรู้จักกันดี ในวันนั้นเมอร์ฟีเล่าถึงประสบการณ์สุดฮาเมื่อเดินทางไปเยี่ยมบ้านแฟนสาว ทำให้พีลได้ไอเดียในการเขียนเรื่อง Get Out โดยผูกเรื่องให้พระเอกซึ่งเป็นหนุ่มผิวดำ เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวแฟนซึ่งเป็นสาวผิวขาวเป็นครั้งแรก และได้ไปพบประสบการณ์สุดสะพรึง อันสะท้อนปัญหาการเหยียดคนดำทั้งโดยทางตรง ทางอ้อม และด้วยระบบสัญลักษณ์
นับว่าหนังเรื่องนี้นำเสนอประเด็นการเหยียดผิวซึ่งเป็นปัญหาสังคมในระดับฐานรากของอเมริกาได้อย่างลึกซึ้งและครอบคลุมมาก ชื่อ Get Out ก็ตีความได้เยอะ ว่า “ออกไปซะ” นี่มันจะเป็นการเตือนพระเอก หรือการไล่พระเอก หรือพระเอกไล่คนอื่น ก็คิดได้ทั้งนั้น ส่วนชื่อไทย “ลวงร่างจิตหลอน” ก็ไพเราะ และบ่งบอกเนื้อหาได้ดี แม้จะไม่สื่อถึงประเด็นแบบชื่อภาษาอังกฤษ แต่ก็โดน แล้วการที่มันเป็นหนังสยองขวัญก็เหมาะกับประเด็นที่นำเสนอมาก เพราะทำให้เราเข้าใจชัดเลย ว่าคนดำรู้สึก ‘สยอง’ ขนาดไหนที่ต้องอยู่ท่ามกลางคนขาวและต้องเผชิญกับการเหยียดผิวในรูปแบบต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
เพียงแต่ว่า ความสยองของหนังเรื่องนี้มันไม่ส่งผ่านมาถึงดิฉันเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่ดิฉันเป็นคนสยองเก่งมาก แต่กลับรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ไม่น่ากลัวเลย สาเหตุก็เพราะว่า การผูกเรื่องบางส่วนมันยังขาดๆ เกินๆ อยู่ ยังไม่เป็นเหตุเป็นผลที่เชื่อมร้อยกันแบบไร้ข้อกังขา ซึ่งจะทำให้เราขนลุกเกรียวและร้อง “จ๊ากกก มันเป็นอย่างนี้นี่เอง” ในเวลาที่เงื่อนงำต่างๆ ค่อยๆ เปิดเผยและคลี่คลายไปถึงตอนจบ ถ้าหนังปรุงองค์ประกอบในส่วนสยองขวัญให้แซ่บนัวทัดเทียมกันกับส่วนวิพากษ์สังคม Get Out อาจจะเป็นหนังที่สนุกที่สุดในชีวิตของดิฉัน…ก็…เป็น…ได้…
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 141
ภาพ: จอร์แดน พีล ถือถ้วยกาแฟนั่งเก้าอี้อันเป็น prop สำคัญของเรื่อง ถ่ายกับภาพเขียนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหนัง Get Out โดยศิลปินนักวาดภาพประกอบ 6 คน ภาพทั้งหกนี้เป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตหนัง ซึ่งดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่าตัวหนัง#พลีชีพ แต่วาทะของพีลที่อัญเชิญมานั้นยอดเยี่ยมมาก “ศิลปะคือเครื่องมือเดียวที่เรามีในการที่จะต่อกรกับความสยองขวัญที่แท้จริงในโลก ผมหวังว่า Get Out จะเป็นประสบการณ์ร่วมที่บันดาลใจผู้คนให้พูดคุยกันถึงประเด็นนี้” (ภาพจาก comingsoon.net)
(ขอบคุณภาพปกจาก foxforcefivenews.com)
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
24 เมษายน 2017