ข้าพเจ้าเคยดูผลงานของผู้กำกับ บงจุนโฮ Bong Joon-ho มาแค่สองเรื่อง หนึ่งคือ Memories of Murder (살인의 추억, 2003) หนังสืบสวนที่ตื่นเต้นน่าติดตามตลอดเวลา (ทั้งๆ ที่ไม่เห็นฆาตกรเลย) และอีกหนึ่งคือ The Host (괴물, 2006) หนังสัตว์ประหลาดสุดเซอร์ไพรส์หงายเงิบ แม้หน้าหนังจะเป็นคนละแนว แต่สิ่งที่หนังทั้งสองเรื่องมีเหมือนกัน คือ ประเด็นการเสียดสีสังคมที่เจ็บแสบ และบทสรุปที่เหนือความคาดหมาย ดังนั้น เมื่อรู้ว่าเฮียบงจะโกอินเตอร์มาฮอลลีวู้ดตามเพื่อนนักทำหนังร่วมชาติบ้าง (Kim Ji-woon กับเรื่อง The Last Stand และ Park Chan-wook กับเรื่อง Stoker) ผลงานครั้งล่าสุดนี้จึงเป็นสิ่งที่พลาดไม่ได้
ที่มารูป: www.bandwagmag.com
Snowpiercer เล่าเรื่องโลกในอนาคตหลังจากประสบกับยุคน้ำแข็งใหม่ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนพื้นผิวโลกล้มหายตายไปอย่างเฉียบพลันคงเหลือแต่ผู้รอดชีวิตจำนวนหนึ่งที่หลบพิบัติภัยหนาวมาอยู่บนรถไฟขบวนหนึ่งที่มีหัวรถจักรมหัศจรรย์ สามารถวิ่งวนอยู่บนพื้นโลกได้ยาวนานหลายปีโดยไม่หยุด โดยคนส่วนใหญ่ในรถไฟก็คือ กลุ่มชนชั้นแรงงานที่มาอาศัยอยู่บนรถไฟฟรีๆไร้ค่าและสิทธิใดๆในสายตาของชนชั้นสูงที่ยึดอำนาจการปกครองเอาไว้ สิ่งที่ได้รับจากชนชั้นปกครองคือการกดขี่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ และก้อนอาหารโปรตีนหน้าตาไม่น่ากิน (ที่พวกเขาไม่เคยรู้เลยว่าทำมาจากอะไร) อยู่มาวันหนึ่ง หนึ่งในกลุ่มชนชั้นล่างก็เริ่มทนไม่ได้กับสภาพชีวิตบัดซบเช่นนี้ และรวบรวมผนึกกำลังกับสหายร่วมโบกี้ วางแผนการปฏิวัติยึดหัวรถจักรจากกลุ่มชนชั้นปกครอง
พล็อตเรื่องของ Snowpiercer ดูเผินๆอาจจะเหมือนมีแค่เรื่องความขัดแย้งระหว่างชนชั้นการต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมของชนชั้นล่าง โดยแสดงเทียบกับภาพกลุ่มคนไฮโซที่ใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย และชนชั้นปกครองจอมบงการบ้าอำนาจตามภาพลักษณ์ที่ถูกผลิตซ้ำ แต่เมื่อพ้นประเด็นนั้นไปแล้ว หนังยังแสดงให้เห็นปัญหาที่เกิดตามมาว่า แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากปฏิบัติการยึดหัวรถจักรสำเร็จ และหากต้องมายืนอยู่ในตำแหน่งเดียวกับคนที่เคยตั้งแง่จงเกลียดจงชัง พวกเขาจะควบคุมหรือรับมืออย่างไรกับอำนาจและหน้าที่ที่ได้มา
ที่มารูป: i.kinja-img.com
หนังตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของความเป็นคนระบบความสมดุลของโลก หน้าที่และบทบาทของแต่ละคนในสังคม ความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์และสิ่งที่ควรทำ รวมถึงการป้อน “การศึกษา” ที่ชวนคิดว่ามีไว้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน (ซึ่งเป็นพื้นฐานในการจัดระเบียบสังคม) หรือเพียงเพื่อล้างสมองกันแน่ และที่สำคัญก็คือ ความจริงที่ว่าทุกสิ่งมีสองด้านเสมอสิ่งที่เราเห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นเสมอไปนี่เป็นหนังอีกเรื่องที่ก้าวข้ามความเป็นไซไฟของฉากหน้ามาสู่การวิพากษ์สังคมที่เฉียบขาดและเผ็ดร้อนไม่ว่าจะดูเอาความบันเทิงแบบหนังไซไฟวันสิ้นโลก หรือจะคิดตามประเด็นทางการเมืองและสังคม ก็ควรค่าทั้งสิ้น
ที่มารูป: www.nziff.co.nz
Tilda Swinton ยังคงความหลอนเฮี้ยน (และแอบฮาเล็กๆ) ได้ทุกฉากที่นางปรากฏตัว โดยเฉพาะฉาก “สั่งสอน” คนท้ายขบวนให้ “อยู่ในที่ของตัวเอง” ส่วน Chris Evans กับบทหัวหน้ากลุ่มปฏิวัติ ก็แสดงได้ดีสมกับความลึกและซับซ้อนของตัวละครที่ถูกกำหนดมา
9.5/10 ครับ ^_^
โดย Average Joe
19 ธันวาคม 2013
ปล. หากสนใจผลงานโกอินเตอร์ของผู้กำกับเกาหลีคนอื่น ขอแนะนำ Stoker (8/10) โดยพักชานอุก Park Chan-wook (เจ้าของผลงาน Oldboy) นะครับ หลอนได้โล่ โอ้ โอ้ โอ้
ปล.2 มีคนพาเด็ก (ไม่น่าจะเกินสิบขวบ) เข้ามาดูเรื่องนี้ด้วย คือนึกว่าเป็นรถไฟแบบ Polar Express หรือไงครับ (หรือไม่ก็ตีตั๋วผิด นึกว่าเป็น Frozen เห็นหนาวๆ เหมือนกัน) บางฉากยังถือว่าโหดร้ายสำหรับผู้ใหญ่เลยนะ นี่เด็กน้อยมานั่งดูกันห้าคนทีเดียว ไม่รู้จะว่ายังไงดี
ปล.3 ขอกรี๊ดน้องเกรย์ นายเท่มว้ากกกกกก