ครั้งหนึ่งที่ฉันทำงานชายแดน ฉันและทีมต้องการทางจาก อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอนเพื่อจะไปอ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ โดยปกติแล้วเราจะวิ่งที่ถนนสายหลัก คือวิ่งจากปายออกมาเลี้ยวซ้ายไปเชียงดาว แล้วเลี้ยวเข้าเวียงแหง แต่วันนั้นบังเอิญฉันได้เห็นป้ายเขียนว่าทางไปเวียงแหงซึ่งดูจากแผนที่แล้วเหมือนจะเป็นทางลัด เราเลยลองเลี้ยวเข้าไปทางนั้นดู
เมื่อเลี้ยวเข้าไปได้สักพัก ถนนลาดยางเริ่มหาย กลายเป็นถนนลูกรัง นานๆ จะได้เห็นบ้านคนเสียที นั่งไปสักพักก็คิดว่าควรจะย้อนกลับหรือไม่ แต่อีกใจก็คิดว่า ถ้าเรามาใกล้จะถึงแล้วล่ะ เราก็เลยไม่ย้อนกลับ มองทางไปก็ไม่มีวี่แววจะไปถึง สัญญาณโทรศัพท์ไม่มี ขนม น้ำที่ตุนไว้ก็เกือบหมด
หลังจากหัวกระแทกกระจกจนระบม ผ่านไป 7-8 ชั่วโมง เริ่มมีแววของการทำไร่ ซึ่งหมายความว่า เริ่มเข้าสู่ที่ชุมชนแล้ว คนในรถต่างก็ร้องด้วยความดีใจ แล้วสิ่งก่อสร้างสิ่งแรกที่เราเห็นคือ ป้ายที่เขียนว่า โครงการพระราชดำริ ดอยดำ (ชื่อป้ายอาจจะคลาดเคลื่อน เพราะนานแล้ว แต่จำได้ว่าเป็นโครงการในหลวง)
ณ ตอนนั้น เราคุยกันในรถว่า โครงการในหลวงมาทำอะไรแถวนี้ ถ้าลองหาคำว่าดอยดำในแผนที่กูเกิลแมพ แล้วเปลี่ยนรูปแบบแผนที่เป็น Satellite ก็จะทำให้พอเข้าใจได้ว่า ฉันกำลังพูดถึงอะไรอยู่
เมื่อเราออกจากหมู่บ้านเข้าสู่ถนนลาดยาง รถก็วิ่งฉิว เรามัวแต่ยินดีที่จะได้กินข้าวกันเสียที แล้วคำถามที่ว่า โครงการในหลวงมาทำอะไรแถวนี้ก็ได้เลือนไป
สิบกว่าปีผ่านไป หลังวันสวรรคตพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ฉันได้อ่านหนังสือ “ชีวิตเสี่ยงๆ” ของ ภ. ณ ประมวญมารค หรือ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เริ่มต้นที่ซื้อหนังสือมา ฉันคาดหวังแค่เพียงว่า อยากจะทราบการทำงานโครงการหลวง
ฉันทำงานชายแดนมาสิบกว่าปี เข้าหมู่บ้านชายแดนหลายหมู่บ้าน เข้าไปนั่งคุยกับชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ฉัน “เห็น” ป้ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการในพระราชดำริ บ้านยามชายแดน สตรอเบอรี่บนดอย ไร่ชา ต้นกาแฟ ผักเมืองหนาว แกะ สถานีเกษตร และอื่นๆ อีกมาก ฉันเพิ่งระลึกได้ว่า ล้วนแต่เป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และการลงมือทำของหม่อมเจ้าภีศเดชทั้งสิ้น
หนังสือเล่มนี้ทำให้ฉัน “ตาสว่าง” ฉันเขกหัวตัวเองไปหลายที โทษฐานที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่น แต่กลับได้แค่ “เห็น” แต่ไม่พิจารณา
คนที่เดินทางกับฉันคงจะพอทราบว่า ฉันบ่นงึมงัมตลอด โดยเฉพาะเมื่อรถเข้าไม่ถึงแล้วต้องลงเดินข้ามเขา ข้ามห้วย เดิน 1-2 ชั่วโมงก็แทบจะหมดแรง ขนาดเดินตัวเปล่าก็ยังแทบจะคลาน หม่อมเจ้าภีศเดชท่านเขียนเล่าไว้ว่า ท่านเดินดอยหลายดอย เดินทีหลายวัน แวะหมู่บ้านต่างๆ ไปเรื่อยๆ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ลงพื้นที่ พระองค์ก็เสด็จ คือ เดินเอง ข้ามเขากันเป็นลูกๆ บริเวณที่ฉันเคยนั่งรถหัวโขกบนดอยทั้งหลายนี่แหละ เมื่อก่อนนี้เขาเดินกัน สิบกว่าปีก่อนนั่งรถหัวโขก ห้าสิบกว่าปีก่อนจะเดินกันขนาดไหน
คุณณัฐ ประกอบสันติสุข ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “คุณอยากรู้ว่าใครเป็นอย่างไร คุณโยนอำนาจให้เขาสิ คุณโยนเงินให้เขาสิ คุณจะรู้ทันทีเลยว่าคนใช้อำนาจอย่างไร… ท่านไม่ทำนะ ไม่ใช่แค่ 5 ปี 10 ปี แต่ 70 ปี”
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และหม่อมเจ้านักเรียนนอก ผู้ที่สามารถเลือกที่จะทำอะไรก็ได้ แต่กลับเลือกทางยากลำบากเพื่อให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญ
เลือกที่จะทำเพื่อแผ่นดิน
โดย สิริอิงค์
28 ตุลาคม 2560
หนังสือเล่มนี้ ลูกหลานควรได้อ่านค่ะ
เส้นทางจากปายถึงดอยดำ เส้นนี้ 2 ชั่วโมงกว่าๆ แล้วหรอกูเกิล
(ขอบคุณภาพปกจาก book.mthai.com)