ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 154; ดู The Killing of a Sacred Deer หรือชื่อไทยว่า “เจ็บแทนได้ไหม” #คนละอารมณ์เชียว
หลังจากทำหนังตลกร้ายบีบหัวใจทั้งคนโสดและคนมีคู่ อย่าง The Lobster เมื่อปี 2015 (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 048) ผู้กำกับชาวกรีก ยอร์กอส ลานธิมอส ก็กลับมาอีกครั้ง คราวนี้มาในแนวสยองขวัญจิตวิทยา โดยเขียนบทร่วมกับเอฟธิมิส ฟิลิปปู ผู้เขียนบทคู่กันมาโดยตลอด รวมทั้งบทเรื่อง The Lobster ด้วย
ลานธิมอสและฟิลิปปูเขียนเรื่อง The Killing of a Sacred Deer โดยได้แรงบันดาลใจจากบทละครโศกนาฏกรรมกรีกเรื่อง Iphigenia in Aulis (เจ้าหญิงอิฟิเจไนอาในเมืองเอาลิส) ประพันธ์โดย ยูริพิดีส หนึ่งในนักเขียนบทละครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกรีกโบราณ ในสมัยนั้นละครโศกนาฏกรรม (Tragedy) ถือเป็นศิลปะชั้นสูง เนื้อหาจะว่าด้วยเรื่องราวของตัวละครในเทพปกรณัมกรีก ผู้มีความยิ่งใหญ่ในชาติกำเนิดหรือลักษณะนิสัย แต่ความยิ่งใหญ่นั้นกลับกลายเป็นจุดอ่อน อันทำให้ตัวละครตัดสินใจทำสิ่งที่ผิดพลาด จนนำไปสู่หายนะ
ยูริพิดีสเขียนบทละครเรื่อง Iphigenia in Aulis เมื่อประมาณ 408 – 406 ปีก่อนคริสตกาล คือประมาณเกือบ 2,500 ปีมาแล้ว โดยหยิบยกเรื่องราวของอะกาเมมนอน กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในเทพปกรณัมกรีก มาถ่ายทอดในรูปแบบละครโศกนาฏกรรม อะกาเมมนอนผู้นี้ก็คือพี่ชายของเมเนเลอัส เมเนเลอัสก็คือสามีของเฮเลน เฮเลนก็คือคนที่เจ้าชายปารีสแห่งทรอยมีจิตปฏิพัทธ์และพาหนี จนทำให้เกิดสงครามกรุงทรอย (Trojan War) อันเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในเทพปกรณัมกรีก
ในสงครามครั้งนั้น อะกาเมมนอนรับหน้าที่แม่ทัพใหญ่ในการนำกองทัพเรือบุกกรุงทรอย โดยจะออกเดินทางจากเมืองเอาลิส แต่ปรากฏว่าออกไม่ได้ เพราะไม่มีลมส่ง รออยู่เป็นปียังไม่มีลมสักแอะ ต้องให้โหรจับยามสามตาดู จึงรู้ว่าเหตุอาเพศนี้เกิดจากเทพีอาร์ทีมิส เทพีแห่งการล่าสัตว์ กริ้วอะกาเมมนอนที่ประมาทพลาดพลั้งฆ่ากวางของพระองค์ตาย ทางเดียวที่จะแก้ไขคือ อะกาเมมนอนต้องนำอิฟิเจไนอา ลูกสาวคนโต มาเซ่นสังเวยแด่เทพี เพื่อชดใช้ความผิดที่พ่อได้ก่อไว้ ละครจับเรื่องตอนที่อะกาเมมนอนกำลังทุกข์ทรมานใจที่ต้องล่อลวงให้พระนางไคลเทมเนสตราผู้เป็นชายาพาอิฟิเจไนอามายังเมืองเอาลิส จึงพยายามจะส่งข่าวบอกไคลเทมเนสตราว่าไม่ต้องมา แต่ก็ถูกเมเนเลอัสขัดขวางไม่ให้ส่งข่าว ทำให้สองพี่น้องผิดใจกัน เมื่อไคลเทมเนสตราพาอิฟิเจไนอามาถึง และได้รู้ความจริงว่าถูกหลอกให้พาลูกมาสังเวย ก็โกรธแค้นอะกาเมมนอนมาก ทหารในกองทัพเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็ระส่ำระสาย ในที่สุดอิฟิเจไนอาจึงตัดสินใจสละชีพตัวเองเพื่อยุติปัญหาทุกอย่าง ให้กองทัพสามารถออกเดินทางไปตีเมืองทรอยได้ตามที่ต้องการ
ที่มาภาพ: reelrundown.com
ชื่อหนัง The Killing of a Sacred Deer แปลว่า การฆ่ากวางต้องห้ามตัวหนึ่ง ดิฉันไม่ค่อยอยากแปล “sacred deer” ว่า “กวางศักดิ์สิทธิ์” เพราะจะดูเหมือนกวางนั้นมีอำนาจบันดาลอะไรต่างๆ ได้ ถ้าแปลว่า “กวางต้องห้าม” น่าจะตรงกับเนื้อหาของเรื่องมากกว่า เพราะแสดงถึงความสูงส่งที่ไม่ควรลบหลู่หรือล่วงเกิน หากล่วงเกินจะมีความผิดบาป เหมือนกับที่อะกาเมมนอนต้องชดใช้ความผิดที่ฆ่ากวาง ด้วยการสังเวยชีวิตลูกของตัวเอง และเหมือนกับที่ตัวละครเอกในหนังต้องชดใช้ความผิดในอดีตซึ่งเขาก่อไว้ด้วยความประมาทพลาดพลั้ง โดยมีเด็กหนุ่มคนหนึ่งตามทวงหนี้กรรมกับเขา ด้วยการค่อยๆ คุกคาม ครอบงำ และขีดเส้นตายสำหรับการชดใช้ไว้อย่างสุดสยอง
บทหนัง The Killing of a Sacred Deer ยังคงอัตลักษณ์ของหนังยอร์กอส ลานธิมอส ไว้ได้อย่างโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นการนำ ‘ความเหนือจริง’ มาซ้อนทับกับ ‘ความจริง’ จน ‘ความเหนือจริง’ ก็คือ ‘ความจริง’ ในหนัง #ปวดหัวกับดิฉันมั้ยคะ การมี ‘เส้นตาย’ เป็นกำหนดเวลาที่จะตัดสินชะตาของตัวละคร การที่ตัวละครต้อง ‘เลือก’ อะไรบางอย่าง ซึ่งไม่ว่าจะเลือกอะไรก็จัญไรแก่ชีวิตทั้งสิ้น รวมทั้งการที่หนังแฝงการวิพากษ์วิจารณ์ค่านิยมของสังคมไว้อย่างรุนแรงและหนักหน่วง ภายใต้น้ำเสียงเรียบๆ ในการเล่าเรื่องและการแสดงออกอย่างเรียบๆ ของนักแสดง ทั้งนี้ ด้วยความที่ The Killing of a Sacred Deer เป็นหนังสยองขวัญจิตวิทยา องค์ประกอบทั้งหมดที่กล่าวมาก็เลยถูกอัพเลเวลขึ้นไปอีก จนระหว่างที่ดู ดิฉันรู้สึกหนาวเยือกจนอยากยกมือขึ้นมาปิดอะไรสักอย่าง จะปิดตาก็กลัวไม่ได้ดูหนัง จะปิดจมูกก็กลัวขาดใจตาย งั้นปิดปากละกัน #สะพรึงขั้นสุด
ในการนี้ ก็ต้องยกความดีให้แก่นักแสดงนำทั้งสามด้วย ได้แก่ โคลิน ฟาร์เรลล์ ซึ่งรับบทสตีเวน ศัลยแพทย์หัวใจผู้พาตัวเองและครอบครัวไปสู่หายนะด้วยความผิดพลาดในอดีต นิโคล คิดแมน ซึ่งรับบทแอนนา ภรรยาผู้สู้ยิบตากับชะตากรรมอันเป็นผลจากการกระทำของสตีเวนผู้สามี และแบร์รี โคแกน ซึ่งรับบทมาร์ติน เด็กหนุ่มผู้ทวงคืน ‘ความยุติธรรม’ อย่างเยียบเย็นและเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยเฉพาะน้องแบร์รีนั้น ได้ค่อยๆ เผยความเป็นมาร์ตินได้อย่างน่าขนลุก จากที่ดูเหมือนเป็นเด็กขาดความอบอุ่น ต้องการสตีเวนเป็นที่พึ่งทางใจตลอดเวลา กลับกลายเป็นคนที่มีอำนาจเหนือสตีเวนในทุกทาง ประดุจเทพเจ้าที่มีหน้าที่ลงทัณฑ์มนุษย์ผู้กระทำผิด ด้วยการสังเวยชีวิตผู้บริสุทธิ์ซึ่งไม่ได้กระทำผิดอันใด
ฟังแล้วอาจจะย้อนแย้ง ที่คนบริสุทธิ์ต้องมาชดใช้ความผิดที่คนอื่นได้ก่อไว้ แต่นั่นเป็นเรื่องธรรมดาในเทพปกรณัมกรีก ซึ่งก็ไม่แน่ มันอาจจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาของโลกอันบิดเบี้ยวและใกล้แตกสลายของเราในวันหนึ่งก็ได้ ใครจะรู้ (เอ๊ะ! หรือเป็นแล้ว?)
สรุป: จ่าย 120 (ดูโรงใหญ่ เลยนั่งใกล้ได้) ได้กลับมา 157
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
29 ธันวาคม 2560
(ขอบคุณภาพปกจาก comingsoon.net)