ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 173; ดู Childhood หรือชื่อไทย “โรงเรียนริมป่า” หนังสารคดีที่พาเราไปดูการเรียนการสอนในช่วงเวลา 1 ปีของโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในประเทศนอร์เวย์ ซึ่งไม่ได้ให้เด็กทำอะไรอื่นเลยนอกจากเล่น เล่น และเล่น
ชื่อหนัง Childhood แปลว่า “วัยเด็ก ความเป็นเด็ก” เป็นชื่อที่แปลตรงตัวมาจากชื่อภาษานอร์เวย์ว่า Barndom หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการตามติดชีวิตเด็กอนุบาลโรงเรียนออโรร่า โดยผู้กำกับสาวชาวนอร์เวย์ นามว่า มาร์เกร็ธ โอลิน ซึ่งเราจะไม่ได้เห็นเธอในหนัง ที่ผ่านมาเบี้ยน้อยหอยน้อยเคยเมาท์มอยถึงหนังสารคดีหลายแบบ มีทั้งแบบผู้กำกับมาเล่าเรื่องเอง เช่น Where to Invade Next (เบี้ยน้อย 066) แบบให้บุคคลต้นเรื่องเป็นผู้เล่า เช่น We Are X (เบี้ยน้อย 107) แบบสัมภาษณ์บุคคลหลากหลาย เช่น Kedi (เบี้ยน้อย 121) และแบบมีเสียงผู้บรรยายประกอบ เช่น Earth: One Amazing Day (เบี้ยน้อย 166) แต่ Childhood ไม่ใช่สักแบบที่กล่าวมา คือไม่มีใครมาทำหน้าที่ผู้เล่าเรื่อง และไม่มีการสัมภาษณ์หน้ากล้องใดๆ ทั้งสิ้น มีเพียงการเดินกล้องบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วค่อยนำมาตัดต่อเรียงร้อยเข้าด้วยกัน
ที่มาภาพ: imdb.com
หนังแบบ Childhood เป็นหนังสารคดีแบบที่เรียกว่า Observational Documentary หรือ สารคดีแบบสังเกตการณ์ ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ได้ทำตัวเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ที่ไม่มีตัวตน ทั้งในระหว่างถ่ายทำและเมื่อตัดต่อเสร็จเป็นหนังแล้ว ให้ ‘การณ์’ ที่ได้ ‘สังเกต’ มานั้นบอกเล่าเรื่องราวแก่ผู้ชมด้วยตัวมันเอง โดยคุมทิศทางของทั้งเรื่องไว้ด้วยประโยคสำคัญประโยคหนึ่ง เป็นตัวหนังสือขึ้นบนจอในตอนเริ่มเรื่อง ประโยคนั้นทำเอาดิฉันรู้สึกเหมือนมีอะไรมาจุกที่คอหอย และน้ำตาก็พานจะไหลทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย
หลังจากนั้นโดยไม่ต้องปูพื้นอะไรให้มากความ หนังก็พาเราไป ‘สังเกตการณ์’ กิจกรรมของ “ชมรม 6 ขวบ” อันหมายถึงชั้นเรียนของเด็กที่โตสุดในโรงเรียนอนุบาลออโรร่า กิจกรรมดังกล่าวก็คือ การเดินเข้าป่าข้างๆ โรงเรียน ไปหาไม้มาทำอะไรสักอย่างเล่นกัน โดยมีคุณครูเป็นผู้ให้คำแนะนำและดูแลตามสมควร แล้วจากนั้นตลอด 90 นาทีของหนัง ซึ่งหมายถึงตลอด 1 ปีของเด็กๆ ชมรม 6 ขวบ เราก็จะได้เห็นเด็กๆ เหล่านั้นเล่นกันอย่างเป็นกิจการ ไม่มีการเรียนเขียนอ่านบวกลบคูณหารใดๆ ทั้งสิ้น ทุกเวลาคือการเล่น โดยมีคุณครูพาเล่น หรือไม่ก็เด็กๆ เล่นกันเองอย่างสนุกสุดแสนยิ่งกว่าแดนเนรมิต
เด็กๆ โรงเรียนนี้มีของเล่นเพียบ ไม่ใช่พวก ‘ของเล่นเสริมพัฒนาการ’ ที่ต้องซื้อหามาด้วยราคาแพง แต่เป็นของเล่นตามธรรมชาติ เช่น กรวดหินดินทราย ต้นไม้ หิมะ และของเล่นที่เด็กๆ ประดิษฐ์ขึ้นเองจากสิ่งของรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวัสดุธรรมชาติที่ได้มาจากป่า ทั้งหมดนี้เป็นการเล่นที่ต้องอาศัยจินตนาการ ซึ่งคุณครูก็ปล่อยให้เด็กได้ใช้จินตนาการอย่างอิสระ ทั้งในการเล่นเดินป่า เล่นหาวัตถุดิบจากป่า เล่นประดิษฐ์ของเล่น และเล่นของเล่นที่ตัวเองประดิษฐ์ วันไหนทำตุ๊กตาเล่นกัน คุณครูอาจจะให้เด็กๆ ทำละครหุ่น โดยให้แต่งเรื่องเอง ทำฉากทำพร็อพเอง แสดงเองโดยใช้ตุ๊กตาที่ทำกันเองนั่นแหละเป็นตัวละคร แล้วก็ให้น้องๆ ชั้นเล็กกว่ามาเป็นผู้ชม
ดิฉันเฝ้าดูเด็กๆ เล่นกันเป็นบ้าเป็นหลัง เล่นได้ทุกวัน ทุกฤดู ทุกเทศกาล ด้วยความรู้สึกอันเต็มตื้น วันที่ไปดูหนังเรื่องนี้ มีคุณพ่อคุณแม่พาลูกไปดูกันเต็มโรง แต่ไม่มีเด็กคนใดเลยที่จะส่งเสียงก่อกวนหรือทำตัวไร้มารยาท ดิฉันคิดว่า เป็นเพราะพวกเขาเข้าใจทุกอย่างว่ากำลังดูอะไร จึงสนอกสนใจจนลืมงอแง แม้ว่าจะฟังภาษานอร์เวย์ไม่รู้เรื่อง และยังอ่านซับไตเติลภาษาไทยไม่ออก
เสียงเด็กคนหนึ่งซึ่งนั่งด้านหลังดิฉันพูดขึ้นมาว่า “โรงเรียนนี้เหมือนบ้านเลย” ทำเอาคนทั้งโรงหัวเราะกันครืน
บางทีนี่อาจจะเป็นกุญแจสำคัญก็ได้…โรงเรียนต้องเหมือนบ้าน…
เพราะเมื่อดิฉันลองนึกย้อนไปสมัยที่เรียนชั้นอนุบาล ดิฉันจำอะไรเกี่ยวกับโรงเรียนแทบไม่ได้เลย จำได้แต่บ้านตัวเอง เพราะเป็นสถานที่ที่ได้เล่น
เด็กที่ได้เล่นอย่างเต็มที่ในช่วงปฐมวัย จะมีพัฒนาการอย่างสมดุลของกล้ามเนื้อทุกส่วน ซึ่งหมายความว่า เนื้อสมองของเขาจะต้องพัฒนามาก เนื่องจากกล้ามเนื้อทำงานได้ด้วยการสั่งการของสมอง
ที่สำคัญ จิตใจของเขาจะเปิดกว้าง เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีคุณค่า รู้สึกได้ถึงความรัก สัมผัสได้ถึงความสุข
เด็กที่ไม่ได้ถูกปิดกั้นหรือทำลาย ‘วัยเด็ก’ และ ‘ความเป็นเด็ก’ ย่อมเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่กะพร่องกะแพร่ง
โลกเราต้องการผู้ใหญ่แบบนี้ ไม่ใช่ผู้ใหญ่ใจแคบ ใจหยาบ ใจทราม
สรุป: จ่าย 240 (แพงมาก ดูที่เซ็นทรัลเวิลด์) ได้กลับมา 257
หมายเหตุ: Childhood ยังมีฉายที่ SF เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ กับ “Little Lovely Bookshop ร้านหนังสือเล็กๆ ที่รัก” จ.ลำปาง และในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ จะไปฉายที่ห้องประชุมสมาคมศิษย์เก่าคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น เด้อค่ะเด้อ
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
1 มิถุนายน 2561
(ขอบคุณภาพปกจาก margretholin.com)