ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 186; ดู One Cut of the Dead หรือชื่อไทย “วันคัท ซอมบี้งับๆๆๆ” หนังซอมบี้ญี่ปุ่นที่โด่งดังไปทั่วโลกแล้วจ้าาาาา
หนังเรื่องนี้ เขียนบท กำกับ และตัดต่อ โดยชายหนุ่มวัย 34 ที่เคยทำแต่หนังสั้น แสดงโดยนักแสดงที่แทบไม่มีใครรู้จัก มีงบประมาณในการสร้างเพียง 3 ล้านเยน (ประมาณ 8 แสนกว่าบาท) เข้าฉายในโรงหนังเล็กๆ เพียง 2 โรงในโตเกียว แต่หลังจากฉายได้ไม่กี่วัน กระแสชื่นชมว้าวกรี๊ดทั้งจากผู้ชมและนักวิจารณ์ ก็ทำให้ได้ขยายโรงฉายเป็น 200 โรงทั่วประเทศ เมื่อไปฉายในเทศกาลหนังที่อิตาลี ก็ได้รับการยืนปรบมือสรรเสริญอย่างยาวนาน และคว้ารางวัลภาพยนตร์ขวัญใจผู้ชม (Audience Award) มาครองได้ จนถึงตอนนี้ หนังทำรายได้ทั่วโลกไปประมาณ 800 ล้านเยน (ราวๆ 233 ล้านบาท) และอุเอดะ ชินอิจิโร่ ผู้กำกับ ก็กลายเป็นซุปตาร์ไปแล้วเรียบร้อย
“วันคัท” ในชื่อหนัง สื่อถึงการถ่ายหนังแบบลองเทค (long take) คือถ่ายทำและแสดงต่อเนื่องยาวไปโดยไม่มีการตัดต่อ ผู้กำกับจะสั่ง “คัท” เพียงครั้งเดียวเมื่อจบซีนยาวๆ นั้น ซึ่งก็ตรงกับชื่อภาษาญี่ปุ่นของหนัง คือ カメラを止めるな! อ่านว่า คะเมะระโวะ โทะเมะรุนะ! แปลว่า “อย่าหยุดกล้องนะ!” ก็หมายความว่าสั่งให้กล้องถ่ายยาวไป ส่วน “ออฟเดอะเด๊ด” ในชื่อภาษาอังกฤษ สื่อถึงความเป็นหนังซอมบี้ เพราะหนังซอมบี้ฮอลลีวูดก็ชอบตั้งชื่อประมาณนี้แหละ ดังนั้น แค่เห็นชื่อหนัง หลายๆ ท่านก็อาจจะเดาออกแล้ว ว่ามันคือหนังที่เกี่ยวกับการทำหนังซอมบี้ หรือพูดง่ายๆ มันเป็น “หนังซ้อนหนัง” แต่…ก็ไม่ใช่แค่นั้น!!!
ที่มาภาพ: imdb.com
จริงๆ แล้ว One Cut of the Dead เป็นชื่อหนังที่ตัวละครในเรื่องเขาถ่ายทำกัน หรือจะพูดให้ชัดคือ มันเป็นหนังที่ซ้อนอยู่ในหนังเรื่อง “อย่าหยุดกล้องนะ!” นั่นเอง หนัง One Cut of the Dead นี้เป็นหนังซอมบี้ความยาวประมาณ 30 นาที ถ่ายทำแบบลองเทค สั่งคัทครั้งเดียวตอนที่จบเรื่องเลย แล้วยังออกอากาศสดทางทีวีด้วย ทุกอย่างจึงต้องเป๊ะสุดๆ แต่ความผิดพลาดวินาศสันตะโรก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อกองถ่ายเจอซอมบี้จริงออกอาละวาดไล่งับๆๆๆ จนต้องหนีกระเจิงเลือดกระจาย แต่…ก็ไม่ใช่แค่นั้น!!!
สรุปว่า มันไม่ใช่แค่หนังซ้อนหนัง และไม่ใช่แค่เรื่องกองถ่ายหนังซอมบี้เจอซอมบี้จริง แต่เป็นอะไรที่เหนือชั้นกว่านั้นมาก ปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิด ‘ความเหนือชั้น’ ดังกล่าว ก็คือโครงเรื่องซึ่งแบ่งออกเป็น 3 องก์ แต่ละองก์ยาวประมาณ 30 นาที ไม่เรียงตามลำดับเวลา กล่าวคือ องก์ 2 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนองก์ 1 ส่วนองก์ 3 เกิดในช่วงเวลาเดียวกับองก์ 1 แต่เป็นคนละมุมมอง ตบท้ายด้วยเอ็นด์เครดิตซึ่งมีบทบาทเสมือนเป็นองก์ 4 การจัดวางโครงเรื่องแบบนี้ ทำให้โครงสร้าง เนื้อหา และอารมณ์ของเรื่อง สามารถพัฒนาไปได้ถึงจุดสูงสุด และมีเอกลักษณ์โดดเด่นจนอาจถือว่าเป็นมิติใหม่ของหนังซอมบี้ได้
ในทางโครงสร้าง เมื่อประกอบ 4 องก์เข้าด้วยกันแล้ว มันกลายเป็น “หนังซ้อนหนังซ้อนหนัง” คือซ้อนกัน 3 ชั้น แต่ดูแล้วไม่งง เพราะดำเนินเรื่องอย่างเรียบง่ายและไม่ซับซ้อน
ในทางเนื้อหา เมื่อตั้งอยู่บนโครงสร้างแบบนั้น บอกเล่าด้วยโครงเรื่องแบบนั้น มันก็นำเสนอเรื่องราวที่เป็นการเสียดสีวงการทีวีของญี่ปุ่นได้อย่างสร้างสรรค์ อย่างมีความหวัง และอย่างให้แรงบันดาลใจ
ในทางอารมณ์ เมื่อหนังมีเนื้อหาแบบนั้น บอกเล่าด้วยโครงเรื่องแบบนั้น โดยตั้งอยู่บนโครงสร้างแบบนั้นแล้ว มันได้ก่อให้เกิดความช็อกซีนีม่าปนกับความฉงนสนเท่ห์บางอย่าง แล้วหลังจากนั้นเมื่อหนังค่อยๆ เผยที่มาที่ไป ความตลกแบบน้ำหมากกระจายก็มาเต็ม ปกติดิฉันเป็นคนมีมารยาทมากเวลาดูหนัง ถ้าขำก็จะหัวเราะน้อยๆ แต่พองาม มาเจอเรื่องนี้เข้าไป ผีกุลสตรีหลุดออกจากร่างหายไปไหนไม่รู้ เอาแต่หัวเราะก๊ากๆ ลั่นโรงประสานกับผู้ชมคนอื่นๆ แบบไม่สามารถสั่งคัทตัวเองได้เลย น้ำตาที่ไหลจากความซาบซึ้งใจนั่นก็คัทไม่ได้เช่นกัน
เสียดาย คนดูที่โรงหนังเฮาส์เหนียมอายไปหน่อย ไม่มีใครยืนปรบมือตอนหนังจบ ดิฉันนี่คันขาอยากลุก คันมืออยากปรบมาก มันเป็นหนังที่ควรค่าแก่การยืนปรบมือจริงๆ เป็นประสบการณ์พิเศษสุดครั้งหนึ่งในชีวิตของคนรักหนังโดยแท้
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 555 #กร๊ากกกก
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
7 พฤศจิกายน 2561
(ขอบคุณภาพปกจาก filminquiry.com)