โดย Average Joe
8 มกราคม 2017
Stories are important. They can be more important than anything. If they carry the truth.
– A Monster Calls, 2011: 168.
หลังจากแม่ของคอเนอร์ล้มป่วยหนัก เด็กชายวัย 13 ปีก็ฝันร้ายแทบทุกคืน จนในคืนหนึ่ง เขาก็พบว่าต้นไม้ใหญ่หลังบ้านได้กลายเป็นอสุรกายยักษ์ และมาจับตัวเขาไป โดยอสุรกายยื่นข้อเสนอกับคอเนอร์ว่า มันจะเล่านิทานให้เขาฟังสามเรื่อง หลังจากนั้นคอเนอร์จะต้องเล่าเรื่องของเขาเองให้อสุรกายฟังตอบ และเรื่องนั้นจะต้องเป็นความจริง มิฉะนั้น มันจะจับเขากินเสีย ไม่นานต่อจากนั้น แม่ของคอเนอร์อาการทรุดหนักจนต้องกลับไปรักษาตัวในโรงพยาบาล เขาเองก็ต้องย้ายไปอยู่กับยายที่ดูเย็นชาและเข้มงวด พ่อที่ไปมีครอบครัวใหม่ที่อเมริกาก็บินกลับมาหาท่ามกลางความอิหลักอิเหลื่อของสถานการณ์ ส่วนที่โรงเรียน เด็กชายก็โดนแก๊งอันธพาลกลั่นแกล้งอยู่ทุกวัน โดยอสุรกายยังมาหาเขาอยู่เรื่อยๆ ในยามวิกาล ปัญหาหลายอย่างประดังประเดเข้ามาหาคอเนอร์พร้อมๆ กัน จนเราไม่อาจจินตนาการได้เลยว่า หากเราเป็นคอเนอร์ เราจะรับมือกับเรื่องที่เกิดเช่นไรบ้าง
สิ่งที่ทำให้ A Monster Calls น่าสนใจ (และเป็นสิ่งที่ชอบที่สุดในเรื่อง) ก็คือ เรื่องเล่าของอสุรกายที่ดูเหมือนนิทานพื้นบ้านทั่วๆ ไป ทว่านิทานแต่ละเรื่องกลับมีตอนจบที่เหนือการคาดเดา ซึ่งนิทานทั้งสามเรื่องของอสุรกายนี้ ก็นำไปสู่การเปิดเผย “ความจริง” ที่คอเนอร์เก็บงำเอาไว้ในตอนท้าย อสุรกายบอกคอเนอร์ว่า เรื่องเล่าทุกเรื่องล้วนมีความจริงแอบแฝงอยู่ ซึ่งตรงนี้ทำให้นึกถึง Life of Pi หรือ Big Fish ที่แม้ผู้เล่าจะเสริมแต่งรายละเอียดในเรื่องไว้มากมาย ไม่ว่าจะพิสดารพันลึกเพียงใด จุดประสงค์ของนิทานก็คือการบอกความจริงให้ผู้ฟังได้รับรู้ โดยทั่วไปแล้ว ความจริงที่ว่ามักเป็นเรื่องที่ผู้ฟังอาจทำใจยอมรับลำบาก หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ทว่าเมื่อผ่านการเสริมแต่งด้วยลักษณะนิทาน ความจริงนั้นกลับดูกระจ่างชัดเจนกว่าการบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาด้วยซ้ำ
แน่นอนว่านิทานของอสุรกายมีความซับซ้อนและความขัดแย้งกันเองที่อาจจะเกินความเข้าใจของเด็กอายุ 13 อย่างคอเนอร์ แต่สำหรับคนที่โตพอและผ่านประสบการณ์ชีวิตมาประมาณหนึ่ง จะรู้ได้เองว่า มนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนและมีความขัดแย้งในตัวเอง ไม่ต่างจากนิทานของอสุรกายเท่าไรนัก นอกจากนั้น นิทานของอสุรกายก็ยังเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ให้เห็นถึงแก่นแท้ของตัวละครต่างๆ ในเรื่องอีกด้วย โดยความจริงอีกด้านก็ได้รับการเฉลยในตอนท้ายของเรื่อง ส่วนคอเนอร์เองก็ได้บทเรียนจากอสุรกายว่า เราไม่อาจตัดสินคนคนหนึ่งจากสิ่งที่เราคิดว่าเขาเป็น แต่การกระทำของคนคนนั้นต่างหากที่เป็นตัวตัดสินทุกอย่าง
A Monster Calls ผสมผสานความเป็นแฟนตาซีและความจริงเอาไว้อย่างแนบเนียนจนแทบแยกไม่ออกในบางช่วง (โดยเฉพาะตอนเล่านิทานเรื่องที่สองและสาม) ผู้แต่งใช้ความเป็นแฟนตาซีสะท้อนให้เห็นความจริง ส่วนความจริงบางอย่างก็ถูกนำมาขยายให้เห็นชัดมากขึ้นในส่วนที่เป็นแฟนตาซี ในฐานะที่เป็นวรรณกรรมเยาวชน หนังสือเล่มนี้อาจสอนให้เด็กๆ ได้รู้จักความซับซ้อนของมนุษย์ ความรุนแรง (ทั้งแบบที่มองเห็นชัดเจนและแบบที่มองไม่เห็น) ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดและการกระทำ และที่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น
ป.ล. หนังสือเล่มนี้มีฉบับแปลภาษาไทย ใช้ชื่อว่า “ผู้มาเยือนหลังเที่ยงคืน” โดย วรรธนา วงษ์ฉัตร และสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วเมื่อปี 2016 โดย เลียม นีสัน พากย์เสียงเป็นอสุรกาย