ไม่แน่ใจว่าเพราะปู่ริดลีย์ สก็อตอายุมากแล้วเลยฝีมือตก หรือบทที่เขียนมาแบบกั๊กๆ เพื่อปูทางสู่ภาคต่อ เลยทำให้ Alien: Covenant กลายเป็นหนังที่ดูได้แค่เพลินๆ ทว่าเบาหวิวด้วยสาระที่ใส่มาเพียงเปลือกเท่านั้น
ในบรรดาหนังเอเลียนที่ขยันสร้างกันมาหลายภาค มีสามเรื่องเท่านั้นที่ติดตาตรึงใจข้าพเจ้า และคิดว่าสามารถเป็นตัวแทนที่เชิดหน้าชูตาซีรีส์นี้ได้ โดยทั้งสามเรื่องมีความโดดเด่นของตัวเองต่างกันไป นั่นก็คือ Alien (1979) ภาคแรกสุด เจ้าของ tagline ‘In space no one can hear you scream’ ต้นกำเนิดความสยองแบบเนิบๆ นิ่งๆ ในที่ปิดตาย พร้อมด้วยฆาตกรสัตว์ประหลาดที่ไม่มีใครเคยเห็นหน้ามาก่อน ผลงานกำกับโดยริดลีย์ สก็อต หนังสร้างความไม่ไว้วางใจอยู่ตลอดเรื่องด้วยความทะมึนเวิ้งว้างของอวกาศ แต่ฉากที่น่ากลัวและน่าจดจำที่สุดของเรื่องกลับเป็นฉากที่สว่างโร่ บวกกับชุดสีขาวของตัวละคร ทำให้การนองเลือดครั้งแรกเต็มไปด้วยความน่าสะพรึงจนทำให้ภาคนี้ขึ้นแท่นหนังสยองขวัญคลาสสิกไปได้อย่างไร้ข้อกังขาใดๆ ส่วนภาคต่อมา Aliens (1986) ซึ่งเปลี่ยนแนวมาเป็นแอ็กชันมันสะใจ ฝีมือกำกับของเจมส์ คาเมรอน ที่กำลังโด่งดังมาจากหนังคนเหล็ก The Terminator (1984) และดันบทของริปลีย์ (ซิกอร์นีย์ วีเวอร์) ให้กลายเป็นหญิงเหล็กอันดับต้นๆ ในโลกภาพยนตร์ไปอีกคน (วีเวอร์ยังได้เข้าชิงออสการ์นำหญิงจากเรื่องนี้อีกด้วย) หลายปีผ่านไป ริดลีย์ สก็อต คงจะทนไม่ไหวที่สตูดิโอเอาเอเลียนของแกไปปู้ยี่ปู้ยำ ปะทะเหล่า Predators เขี้ยวโง้งจนกลายเป็นปาหี่ฮอลลีวูดไปเสีย ปู่สก็อตเลยคืนชีพจักรวาลเอเลียนขึ้นมาใหม่ และสร้าง Prometheus (2012) ออกมา ที่ย้อนกลับไปก่อนเวลาในภาคแรกสุด (ภาคนี้เป็นภาคเดียวที่ไม่ปรากฏคำว่าเอเลียนในชื่อเรื่อง) Prometheus โดดเด่นด้วยประเด็นเรื่องผู้สร้าง-ผู้ทำลาย พระเจ้า-มนุษย์ ผู้ให้กำเนิด-ผู้สืบสายเลือด ทำให้หนังเอเลียนยุคใหม่นี้มีกลิ่นอายความเป็นปรัชญาอยู่มากพอควร นอกจากนี้ยังทิ้งปมปริศนาเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ Engineers ไว้หลายจุด
Alien: Covenant ดำเนินเรื่องหลังจากเหตุการณ์ใน Prometheus นานหลายปี ขณะที่ยานอวกาศคัฟเวอแนนต์กำลังเดินทางไปสู่ดาวอาณานิคมใหม่ พลันก็มีสัญญาณแทรกส่งมาจากดาวใกล้เคียง หลังจากการถกเถียงกันพอประมาณ กัปตันก็ตัดสินใจนำยานมาสำรวจดาวแปลกหน้าดวงนี้ ซึ่งปรากฏว่าเป็นดาวที่ยานของเผ่า Engineers ในภาคก่อนหน้ามาตกอยู่ สถานการณ์นำพาให้ลูกเรือได้มาพบกับเดวิด หุ่นแอนดรอยด์ประจำยานโพรมีธีอุส และความจริงหลังจากยานมาตกอยู่ที่นี่ก็ค่อยๆ เปิดเผยออกมาทีละเรื่อง
ตัวละครที่เป็นศูนย์กลางในหนังเอเลียนภาคนี้ หาใช่ลูกเรือที่เป็นมนุษย์ทั้งหลายไม่ แต่กลับเป็นเดวิดและวอลเทอร์ แอนดรอยด์รุ่นใหม่ที่มีหน้าตาเหมือนเดวิดทุกประการ ทว่าภายในของหุ่นทั้งสองตัวนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง จากเรื่อง Prometheus ที่เราเคยลังเลและไม่แน่ใจพฤติกรรมของเดวิดว่า หุ่นตัวนี้จะมาดีหรือร้าย (Ash ในภาคแรกเป็นหุ่นชั่วร้าย ส่วน Bishop ในภาคสองเป็นหุ่นที่ดี) สำหรับในภาคนี้ เจตนาของเดวิดได้รับการเปิดเผยให้ชัดเจนมากขึ้น ทุกฉากที่มีเดวิดและวอลเทอร์อยู่ร่วมกัน ก็ประหนึ่งเหมือนกำลังดูดรามาแฝดดี-แฝดชั่วอยู่ก็ไม่ปาน (บางฉากถึงกับ “ชวนจิ้น” ไปไกลได้อีก) นอกจากนี้ดรามาดังกล่าวยังแตะถึงประเด็นความเป็นหุ่นและความเป็นมนุษย์ที่ก้ำกึ่งและถูกดึงมาใกล้กันจนบางครั้งก็แทบแยกไม่ออกด้วย
สิ่งที่น่าสนใจในหนังคือการพูดถึงบทกวีซอนเน็ต Ozymandias ออซีแมนเดียส ฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณที่ประกาศความยิ่งใหญ่ของตนอย่างอหังการไว้ที่ฐานของรูปปั้นจำลองพระองค์ขนาดมหึมา ทว่ารูปปั้นดังกล่าวได้กลายเป็นซากปรักฝังจมอยู่ในทะเลทรายอันเวิ้งว้างไร้ผู้คน ซอนเน็ตบทนี้เป็นบทกวีที่มีน้ำเสียงเชิงเสียดสีและประชดเย้ยหยัน กล่าวถึงความไม่จีรังของอำนาจและความยิ่งใหญ่อันจอมปลอม ที่สะท้อนกลับมาถึงฉากในเรื่องอันรกร้างทว่ามีร่องรอยความเจริญถึงขีดสุด และในจุดหนึ่งของบทสนทนาระหว่างหุ่นทั้งสอง จุดเล็กๆ น้อยๆ อย่างชื่อผู้แต่งบทกวีบทนี้ ก็บอกอะไรได้หลายอย่างเกี่ยวกับตัวละครมากทีเดียว
ที่มาภาพ: scified.com
มีสองเรื่องที่อยากจะชมทีมโปรโมตหนังว่าทำงานได้ดีมาก คือ 1) โปสเตอร์หนังงดงามที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์จริง (ที่เอามาโพสต์นี้) หรือโปสเตอร์ยั่วน้ำลาย (teaser poster) ก็ดี อย่างน้อยก็ทำให้แฟนหนังเอเลียนตั้งตารอชมได้ตั้งแต่แรกเห็นทีเดียว และ 2) การปล่อยคลิปที่เป็นบทเกริ่นนำหรือ prologue ออกมาปนกับเทรลเลอร์หลายๆ อัน ก่อนหนังเข้าฉายจริง โดยบทเกริ่นเหล่านี้ (ที่เราคิดว่าเป็นตัวอย่างหนัง) กลับมิได้ปรากฏในตัวหนังด้วยซ้ำ การทำเนื้อหาสองส่วนแยกกันโดยสิ้นเชิงแบบนี้ ก็เป็นวิธีป้องกันมิให้เทรลเลอร์สปอยล์ตัวหนังจนมากเกินจำเป็นอีกด้วย
จะว่าไป Alien: Covenant น่าจะมีองค์ประกอบที่ดีของหนังสามภาคที่กล่าวมาข้างต้น คือความสยองจากภาคแรก ฉากแอ็กชันมันๆ จากภาคสอง และปรัชญาชวนขบคิดจากภาคก่อนหน้า แต่ทว่าส่วนประกอบทั้งสามกลับผสมกันได้ไม่ลงตัวเท่าไรนัก ผลที่ออกมาเลยทำให้เอเลียนภาคนี้ไม่ต่างไปจากหนังสยองขวัญฆาตกรโรคจิตที่ใช้มุกดาดๆ ในการดำเนินเรื่อง เช่น ชอบแยกตัวไปคนเดียวในช่วงภาวะวิกฤต (นี่มันรนหาที่ชัดๆ) รวมถึงฉากในห้องอาบน้ำนั่น… เอ่อ ตัวละครหลายตัวไม่ค่อยฉลาด เชื่อคนง่าย แถมสติแตกง่าย (คนแบบนี้ไม่น่าสอบผ่านเป็นลูกเรือได้ตั้งแต่แรก) รวมถึงช่องโหว่ในตัวบท (plot holes) ที่น่าสงสัยอีกหลายประการ ใครที่หวังจะได้เห็นการเฉลยเรื่องเผ่าเอ็นจิเนียร์ในภาคก่อนก็คงผิดหวังเช่นกัน (ได้แต่หวังว่าเขาคงเก็บไว้อธิบายในภาคต่อไป) ส่วนฉากการตายส่วนใหญ่ เราก็เคยเห็นกันมาจากหนังภาคก่อนๆ แล้ว ภาคนี้จึงนับได้ว่าไม่มีอะไรแปลกใหม่มากนัก อ้อ ยกเว้นตัวละครที่เป็นคู่รักเพศเดียวกันที่ใส่มาได้เนียนดี แต่กระนั้นก็เป็นการใส่เข้ามาอย่างค่อนข้างไร้ความหมาย เพราะคนดูไม่มีเวลาผูกพันกับตัวละครมากนัก
ให้คะแนนอย่างใจดีที่ 7/10 ครับ ยังไงก็คงรอดูภาคต่อไปอยู่ดี แฮร่
ป.ล. สำหรับผู้สนใจหนังเอเลียน ในปีนี้ก็มีหนังเรื่อง Life (2017) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Alien ภาคแรกด้วย บางช่วงบางตอนอาจจะพอเดาได้ตามสูตรหนังสยองขวัญในอวกาศ แต่สิ่งที่ทำให้ดูสนุกได้ตลอดก็คือ เอเลียนในเรื่องนี้ฉลาดเกินมนุษย์เสียจริงๆ #ทีมเอเลียน อ่อ
ป.ล. 2 ออซีแมนเดียส เป็นชื่อกรีกของฟาโรห์รามเสสที่ 2 (Ramesses II) อันเป็นฟาโรห์ลำดับที่สามแห่งราชวงศ์ที่ 19 ของอียิปต์โบราณ ครองบัลลังก์ระหว่างปี 1279-1213 ก่อน ค.ศ. พระองค์ได้ชื่อว่าเป็นฟาโรห์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งอาณาจักรอียิปต์ และทรงได้ฉายานามว่า “รามเสสมหาราช” (Ramesses the Great)
โดย Average Joe
28 พฤษภาคม 2017
(ขอบคุณภาพปกจาก cbr.com)