เริ่มวันอาทิตย์วันใหม่อธิบายเรื่อง Auxiliary Verbs หรือกริยาช่วยในภาษาอังกฤษ โดยชื่อก็บอกไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นกริยาช่วย (Helping Verbs) ซึ่งช่วยให้กริยาหลัก (Main/ Lexical Verbs) นั้นสมบูรณ์ตามกฎไวยากรณ์และความหมาย
Auxiliary Verbs แบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ Primary Auxiliary Verbs และ Modal Auxiliary Verbs
1) Primary Auxiliary Verbs คือ กริยาช่วยหลักพื้นฐานที่เรามักจะนึกถึงในการประกอบกริยาหลักเพื่อที่จะสร้าง Tense และ Voice ที่สมบูรณ์ กริยาช่วยประเภทนี้ในภาษาอังกฤษมีอยู่สามตัวคือ Be/ Do และ Have ด้วยความที่กริยาช่วยทั้งสามเป็นกริยาตัวแรกในกริยาวลี (Verb Phrase) เมื่อต้องการใช้ประกอบ Tense (Progressive Tenses ใช้ Be/ Perfect Tenses ใช้ Have และ Simple Tenses ในรูปคำถามและปฏิเสธ ใช้ Do) จึงถือว่าเป็นกริยาแท้ หรือ Finite Verbs และจะต้องผันตาม Time ว่าเป็น Past หรือ Present รวมทั้งพจน์และบุรุษของประธาน ตามหลัก Subject-Verb Agreement สรุปได้ว่ากริยาช่วยทั้งสามตัวนี้กำหนดไวยากรณ์เรื่อง Tense และ Voice
1.1 กริยาช่วย Be ประกอบ Progressive Tense และ Passive Voice
- I am thinking of you.
- My wallet was stolen.
1.2 กริยาช่วย Have ประกอบ Perfective Tense
- She has worked here since May.
- They had left before we arrived.
1.3 กริยาช่วย Do ประกอบ Simple Tenses ในรูปคำถามและปฏิเสธ
- Did you enjoy the show?
- He doesn’t like cats.
2) Modal Auxiliary Verbs คือ กริยาช่วยที่ประกอบเข้ากับกริยาหลักเพื่อแสดง Mode ความหมายในลักษณะต่างๆ ดังนี้
- ความสามารถ (Ability) — can/ could
- การแนะนำ (Suggestions) — should
- ความจำเป็น/ การบังคับ (Necessity/ Obligation) — must
- การอนุญาต (Permission) — can/ may
- ความน่าจะเป็น/ ความเป็นไปได้ (Probability/ Possibility) — may/ might/ can/ should/ would
- การสันนิษฐาน (Assumption) — must/ should
- การสัญญา (Promise) — will
เป็นต้น
จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่าความยากที่เกิดจากการใช้ Modal Auxiliary Verbs คือจะใช้ตัวใดเพื่อจะสื่อความหมายที่เราต้องการได้อย่างถูกต้องและชัดเจน อีกอย่างก็คือ Modal Auxiliary Verbs บางตัวอย่างเช่น can/ must/ should มีความหมายได้มากกว่าหนึ่ง เวลาอ่านประโยคในภาษาอังกฤษทำให้เกิดความยากลำบากในการตีความหมายให้ได้อย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มกริยาบางตัวที่มีฐานะเป็นกริยาช่วยเพียงแค่ครึ่งเดียว เนื่องจากมันประกอบขึ้นจากคำมากกว่าหนึ่งคำ หรือมีรูปของกริยาหลักมาเป็นส่วนประกอบด้วย ตัวอย่างเช่น have to/ ought to/ be going to/ have better/ would rather/ need to เป็นต้น เราเรียกกลุ่มกริยาพวกนี้ว่า Semi Auxiliary Verbs แต่ถ้าต้องจัดอยู่ในสองประเภทข้างบน กริยาพวกนี้น่าจะถือเป็น Modal Auxiliary Verbs มากกว่าเนื่องจากแต่ละตัวจะสื่อ Mode ความหมายที่แตกต่างกันออกไป
•• ลำดับของกริยาช่วยใน Verb Phrases
++ กริยาวลี (Verb Phrases) สามารถประกอบด้วยจำนวนกริยาช่วยมากสุดถึง 4 ตัว โดยมีข้อแม้ว่าต้องมี Modal หรือ Semi Auxiliary Verbs ได้เพียง 1 ตัว ในตำแหน่งแรกสุด ตามด้วย Primary Auxiliary Verbs ได้สูงสุดอีก 3 ตัว
ตัวอย่างเช่น
- She might have been being questioned by the police.
เราสามารถเรียงลำดับของกริยาช่วยข้างต้นได้ตามนี้ …
Modal + Perfective + Progressive + Passive
• Modal = might
• Perfective = have (been)
• Progressive = been (being)
• Passive = being (questioned)
คำอธิบาย = Might คือ Modal Verb ตามด้วย Verb ช่วย have ซึ่งทำให้เกิด Perfective กับกริยาช่วยตัวต่อมาคือ been ซึ่ง been ทำให้เกิด Progressive กับกริยาช่วยตัวต่อมาคือ being ซึ่ง being ทำให้เกิด passive ในกริยาหลัก questioned
- The package should have been sent.
Modal + Perfective + Passive
• Modal = should
• Perfective = have (been)
• Passive = been (sent)
++ กริยาวลี (Verb Phrases) อาจขึ้นต้นด้วย Primary Auxiliary Verbs เลยได้
ตัวอย่างเช่น
- The film was being shown.
Progressive + Passive
- We have been trying to reach you.
Perfective + Progressive
โดย AJ.TRT
28 June 2015