โดย Average Joe
7 มิถุนายน 2015
เมื่อวาน (5 มิ.ย.) เป็นวันแรกของ BANGKOK GAY & LESBIAN FILM FESTIVAL 2015 ที่นิตยสาร attitude Thailand จัดร่วมกับหอภาพยนตร์ งานเริ่มอย่างเป็นทางการตอนค่ำ มีการฉายหนังเปิดเทศกาล ซึ่งไม่ได้ไปดู แต่บ่ายวันเดียวกันนั้น มีกิจกรรมเสวนาพร้อมกับชมหนังสั้นนานาชาติ งานนี้เข้าชมฟรี เลยยอมขับรถไปถึงจุฬาฯ (แล้วต้อง suffer กับการจราจรตอนขากลับแทน T_T)
เริ่มจากการเสวนา ผู้จัดได้เชิญผู้กำกับและโปรดิวเซอร์หนังเรื่อง How to Win at Checkers (Every Time) มาพูดถึงประสบการณ์การทำหนังของเขา ที่เริ่มจากการทำหนังสั้นมาก่อน ค่อยๆ เก็บประสบการณ์และเงินทุนมาเรื่อยๆ จนได้ทำหนังยาวเป็นเรื่องแรก (คือเรื่อง How to Winฯ) ระหว่างการสนทนา ผู้กำกับ Josh Kim ก็ได้เปิดหนังสั้นของเขาเองเรื่อง DRAFT DAY ให้ได้ดู หนังเรื่องนี้เป็นสารคดีเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารของไทยที่มีลักษณะพิเศษเรื่องการจับใบดำใบแดง และปรากฏการณ์ที่สาวประเภทสองมาร่วมเกณฑ์ทหารด้วย ซึ่งเขาได้ไอเดียมาจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันในหนังสือ Sightseeing ของรัฐวุฒิ ลาภเจริญทรัพย์ (และเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็เป็นต้นฉบับที่เขานำมาดัดแปลงเป็นหนัง How to Winฯ นี่เอง) จากนั้นก็ตามด้วยช่วงถาม-ตอบอีกประมาณครึ่งชั่วโมง
ถัดมา เป็นการฉายหนังสั้นของไทยจำนวนเก้าเรื่องที่ส่งเข้าประกวดในงานเทศกาลครั้งนี้ ทุกเรื่องมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จะรีวิวสั้นๆ ตามลำดับการฉายดังนี้
1. THE HEAD/ผู้นำ: นางโชว์ร่างยักษ์วิ่งเข้าห้องน้ำ โดยลังเลสักพักว่าจะเลือกเข้าห้องน้ำชายหรือห้องน้ำหญิงดี แต่ไม่ว่าสายตาผู้อื่นจะตัดสินเธออย่างไร เธอก็เพียงต้องการ “ทำหน้าที่” ของตัวเองให้ดีที่สุดเท่านั้น เรื่องนี้มาสั้นๆ แต่เต็มไปด้วยประเด็นมากมายให้ได้คิดตาม
2. INSIDE OF ME: สารคดีชีวิตของเชอรี่ กะเทยพิการ ที่ไม่ต้องการอะไรมากจากสังคม นอกจากการมองเธอว่าเป็นคนที่ต้องการความรักและมีความต้องการอื่นๆ เช่นเดียวกับคนทั่วไป หนังเสนอภาพชีวิตเชอรี่อย่างค่อนข้างตรงไปตรงมา มีการใช้มุมกล้องสร้างความดรามาเล็กน้อย โดยรวมถือว่าน่าสนใจ ซื่อสัตย์ต่อเจ้าของเรื่อง และกระตุ้นให้ผู้ชมหันมาสนใจผู้ที่เป็น “คนชายขอบ” สองชั้นเช่นนี้
3. BEING: ลูกชายเรียนดีพาแฟนผู้ชายกลับมาบ้าน แต่พ่อผู้เคร่งศาสนาไม่ยอมพูดด้วย พล็อตเก่าๆ ที่เล่ามาจนช้ำแล้ว เรื่องครอบครัวไม่ยอมรับ (ซึ่งมักจะเป็นพ่อ) ความคาดหวัง และการพิสูจน์คุณค่าตนเองของเกย์หนุ่ม การแสดงและการตัดต่อน่าจะทำได้กระชับกว่านี้
4. UNDERSTANDING: เกย์หนุ่มวัยมหาวิทยาลัยกับการรอคอยใครอีกคนที่จะเข้าใจตัวเขา ดำเนินเรื่องและสรุปเรื่องได้โอเค แต่ขอติตรงที่เสียงดนตรีประกอบดังจนกลบเสียง voiceover ที่ก็ดันพูดไม่ชัด เลยฟังไม่ค่อยออกว่าพูดอะไรบ้าง
5. TRANSLATION: หลังจากเมาปลิ้นกับแฟนหนุ่มและเพื่อนสาว ออมตื่นขึ้นมาในเช้าวันต่อมาและกลายเป็นผู้ชาย แฟนเธอจะรับ (และรัก) เธอได้หรือไม่ การถ่ายทำ/การตัดต่อ/การแสดงอยู่ในระดับธรรมดา แต่พล็อตสร้างสรรค์ดี ออกแบบตัวละครใช้ได้ และชวนตั้งคำถามว่า เพศสภาพ/รูปลักษณ์ภายนอกส่งผลต่อการรักใครสักคนได้อย่างไรบ้าง
6. คุณเก็บความลับได้มั้ย: เรื่องของคู่รักหญิง-หญิงกับคู่รักหญิง-ชาย และประเด็นการนอกใจ การถ่ายทำ/บท/การแสดง/ตัดต่อ ฯลฯ เข้าขั้นแย่ มีฉากชวนจิ้นให้คนดูได้วี้ดวิ่วกันบ้าง แต่ก็ผ่านแล้วผ่านเลย totally forgettable
7. CHOICES ทางเลือก…ที่เลือกไม่ได้: เกี่ยวกับการแสดง/ไม่แสดงตัวตนของคนที่เป็นเกย์ โดยใช้หน้ากากเป็นลูกเล่น ทว่าเล่าเรื่องได้เนือยมาก และจบไปอย่างเรียบๆ
8. APP STATION/สถานีเสียงชาย: เมื่อดีเจเกย์สาวเสียงแมนดันไปปิ๊งนักศึกษาหนุ่มหล่อ นางจึงต้องเก๊กแมนและ (ฝืน) ออกกำลังกายเป็นเพื่อนเขา ฮาดี เล่นดี และหน้าตาดี (อิอิ) ดูได้เพลินๆ แม้จะยังสลัดมุกเดิมๆ อย่างการ “ดูเก้ง” ไม่หลุดก็ตาม
9. BLUE SAPPHIRE: หญิงสาวกับกล่องลึกลับสีน้ำเงิน โปรดักชันดูเนี้ยบที่สุด มีกลิ่นอายของ psychological thriller แต่………ยังไม่ทันดูรู้เรื่องหนังก็จบเสียก่อน อยากจะบอกผู้จัดว่า ขอดูอีกรอบได้ม้ายยยย ฉานม่ายเก๊ตตตต T_T
หนังประกวดฉายจบแล้ว รายการสุดท้ายเป็นการฉายหนังสั้นนานาชาติอีกห้าเรื่อง มีที่ชอบมาก ชอบน้อย และชวนเหวอ ดังนี้
WAITING FOR COLORS (Menunggu Warna): ระหว่างจอดรถติดไฟแดงอยู่ หนุ่มหน้าเข้มคนหนึ่งมองเห็นเพื่อนร่วมงานยืนอยู่ริมถนนอีกฝั่ง และเมื่อไฟเปลี่ยนสี ชายทั้งสองก็ได้เริ่มต้นความสัมพันธ์กัน แม้ไม่ใช่หนังเงียบ (เรายังได้ยินเสียงรถหรือเสียงจากโทรทัศน์อยู่) แต่ตัวละครทั้งสองกลับไม่มีบทพูดต่อกัน เราจะเห็นพวกเขาสื่อสารกันด้วยสายตาและการกระทำต่างๆ เท่านั้น ไฟจราจรที่ปรากฏในตอนต้นและท้ายเรื่อง ก็เป็นสัญลักษณ์ของการยอมรับของผู้อื่นและอิสระในการใช้ชีวิตเยี่ยงคู่รักชาย-ชายในสังคม นี่คือสิ่งดีงามที่สุดของงาน สมแล้วที่ได้รางวัลภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยมจาก Hanoi International Film Festival 2013 มา
FOOLISH STEPS OF A FAT COW: เล่าเรื่องแบบกึ่งสารคดี คาบเกี่ยวชีวิตเกย์หลายเชื้อชาติ แต่คงไม่ใช่แนวของเรา และยาวที่สุดในห้าเรื่องหลัง เลยหมดความสนใจไปตั้งแต่กลางเรื่อง
SOWOL ROAD (소월길): หลังจากเหตุการณ์รุนแรงกลางดึกคืนหนึ่ง หญิงวัยกลางคนได้ผูกมิตรกับสาวสวย เธอทั้งคู่มีความลับที่ต้องปิดบัง งานละเมียดตามสไตล์หนังเกาหลี ทำให้เราเห็นว่า ในมุมเล็กๆ ของเมืองใหญ่ที่วุ่นวายและสับสน ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังหยิบยื่นความปรารถนาดีให้แก่กันอยู่โดยไม่หวังอะไรตอบแทน
COMING HOME (回家): หนุ่ม ม.ปลายชาวไต้หวัน หนีแม่ไปเที่ยว ตจว. กับแฟนหนุ่มชาวอเมริกัน แล้วก็ได้รู้ว่า แฟนฝรั่งจะกลับอเมริกาทันทีที่เรียนจบ แม้ตัวละครเอกจะเป็นเกย์ แต่ประเด็นหลักของเรื่องน่าจะอยู่ที่การแสวงหา “บ้าน” ที่พวกเขารู้สึกปลอดภัยและอบอุ่นใจมากกว่า
BAD AT DANCING: สองหนุ่มสาวกำลังมีเซ็กซ์กัน จู่ๆ รูมเมทสุดเพิ้งของเธอก็เดินเข้ามาในห้อง และลงนอนคุยกับคนทั้งคู่ โดยที่ทั้งสองก็ยังมีเซ็กซ์กันต่อ! เหวอจนไม่รู้จะเหวอยังไงดีกับความสัมพันธ์เพี้ยนๆ ของสองสาวหนึ่งหนุ่มนี้ เอาเป็นว่าเราคงเข้าไม่ถึงโลกของพวกเขา (หรือจริงๆ คือโลกของ “เธอ” คนนั้นคนเดียวนี่แหละ นางแปลกไม่ไหวแล้ว) ปิดท้ายด้วยเรื่องนี้ ข้าพเจ้าก็เลยเดินมึนๆ ลอยๆ มีเครื่องหมายปรัศนีอันเบ้อเริ่มแปะติดหน้าออกมาด้วย *_*