โดย Average Joe
20 มิถุนายน 2015
งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ กรุงเทพฯ 2015 หรือในชื่อภาษาอังกฤษที่สั้นกว่า (นิดนึง) คือ Bangkok Gay & Lesbian Film Festival 2015 ได้จบไปเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว จากรายชื่อและตัวอย่างหนังที่ทีมงานคัดมาฉายในเทศกาล ข้าพเจ้าเลือกดูไป 6 เรื่อง จากทั้งหมด 15 เรื่อง โดยประเดิม How to Win at Checkers (Every Time) เป็นเรื่องแรก ซึ่งได้รีวิวให้ทุกคนได้อ่านไปแล้ว คราวนี้เนื่องด้วยเวลาที่มีจำกัด (และด้วยความขี้เกียจของคนเขียน) จึงจะมารีวิว 5 เรื่องที่เหลือแบบสั้นๆ ตามลำดับดังนี้
1. Zomer (Summer) – The Netherlands (7.5/10)
ในช่วงฤดูร้อนหนึ่ง Anne สาวพูดน้อยในเมืองเล็กๆ ได้มาเจอกับ Lena แม่สาวมอเตอร์ไซค์ที่มีเสน่ห์เย้ายวน จากนั้นทั้งคู่ก็ได้พัฒนาความสัมพันธ์จนเกินคำว่าเพื่อน การพบกับ Lena ไม่เพียงแต่ทำให้ Anne ได้ค้นพบ “ตัวตน” ที่แท้ของเธอ แต่ยังช่วยปลดปล่อยอารมณ์เบื้องลึกบางอย่างที่ถูกกดทับมานานในสังคมชนบทหัวเก่าที่ยังเห็นเพศหญิงเป็นพลเมืองชั้นสองอยู่ หนังเรื่องนี้ไม่เพียงแสดงให้เห็น sexual awakening ของตัวละคร แต่ยังแสดงถึง social awakening ที่ทำให้ตัวละครหันมาทบทวนบทบาทที่สังคมกำหนดมาให้ รวมถึงสิทธิอันไม่เสมอภาคของทั้งสองเพศอีกด้วย และเมื่อฤดูร้อนนี้สิ้นสุดลง ไม่ว่าความสัมพันธ์ของ Anne กับ Lena จะยืนยาวหรือไม่ Anne ก็อาจจะไม่ใช่เด็กสาวพูดน้อยที่แปลกแยกจากสังคมอีกต่อไป
2. Nude Area – Poland/The Netherlands (7/10)
หญิงสาวสองคน คนหนึ่งเป็นสาวผิวขาวจากสังคมชั้นสูง อีกคนหนึ่งเป็นหญิงชาวมุสลิมจากชนชั้นแรงงาน ทั้งสองได้สานสัมพันธ์อันแสนประหลาดระหว่างกันโดยปราศจากคำพูดใดๆ เมื่อไม่ใช้คำพูด ภาษาท่าทางและอากัปกิริยาต่างๆ จึงสำคัญ ในพื้นที่ทั่วไป ทั้งสองคนอาจจะมีสถานะที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่เมื่ออยู่ในห้องอาบน้ำและซาวน่า ทุกคนถูกกำหนดให้ปลดเปลื้องเสื้อผ้าอาภรณ์ รวมถึงฐานะทางสังคมออกจากร่างกาย ณ ที่นั้น เกมที่ต่างฝ่ายต่างผลัดกันคุมอำนาจเหนืออีกคนก็เริ่มขึ้น และดำเนินต่อมาโดยทวีความเข้มข้นและหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้คนดูสัมผัสได้ถึงแรงตึงเครียดทางเพศ ไม่ว่าสองสาวจะใส่หรือไม่ใส่เสื้อผ้าอยู่ก็ตาม
ความรู้สึกที่มีต่อ Nude Area คือ เหมือนดูละครเวทีบนจอหนัง การเดินเรื่องเป็นไปอย่างเนิบช้า หลายฉากอาจจะแช่นานจนแอบหลับในไปบ้าง แต่ด้วยการแสดงที่มีพลัง นักแสดงจึงสามารถพาคนดูไปสู่การระเบิดอารมณ์ที่รุนแรงอย่างไม่น่าเชื่อในตอนท้ายเรื่องได้ในที่สุด โดยรวมแล้ว นี่อาจจะไม่ใช่หนังที่เหมาะสำหรับทุกคน แต่การแสดงและงานด้านองค์ประกอบศิลป์ก็เป็นสิ่งที่น่าแนะนำให้ชมอย่างยิ่ง
3. The Sun, the Moon & the Hurricane – Indonesia (7.5/10)
Rain กับ Kris เป็นเพื่อนสนิทกันตั้งแต่สมัยมัธยม แต่เนื่องจากท่าทีที่ไม่ชัดเจนของ Kris ที่มีต่อ Rain ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จึงคลุมเครือไม่ชัดเจนไปด้วย จนวันหนึ่ง ด้วยความสับสนระคนฉุนเฉียว Kris หายไปจากชีวิตของ Rain โดยไม่บอกกล่าว เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ทั้งสองได้กลับมาพบกันอีกครั้ง ในวันที่ Kris ได้แต่งงานแล้วกับ Susan เพื่อนสาวคนสนิทของ Rain สมัยมัธยม แต่การมาพบกันอีกในครั้งนี้ ดูเหมือน Kris จะได้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นว่า เขารู้สึกกับ Rain เช่นใด
หนังใช้พล็อตที่มักพบเห็นได้บ่อยจากหนังชีวิตของเกย์ทั่วไป เช่น ความรักที่ไม่สมหวังในช่วงวัยรุ่นทำให้ตัวละครเรียนรู้ เติบโต และเปลี่ยนแปลงทัศนคติไปตามวัย หรือการต่อสู้ระหว่างความสับสนในรสนิยมทางเพศกับความคาดหวังของสังคมและครอบครัว ทำให้ตัวละครต้องปิดบังความต้องการของตัวเอง และตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตตามกรอบและค่านิยมของ “คนทั่วไป” รวมถึงการกำหนดให้สองตัวละครหลักมีหน้าตาหล่อเหลาและรูปร่างที่กำยำสมส่วนตามขนบ “เกย์นิยม” อีกด้วย แม้ว่าจะไม่ใช่พล็อตใหม่ อีกทั้งการเล่าเรื่องบางตอนก็ยังดูสับสนอยู่บ้าง แต่ The Sun, the Moon & the Hurricane ก็โดดเด่นด้วยการแสดงที่แข็งแรงจนต้องขอชื่นชมนักแสดงหลักทุกคน โดยเฉพาะ Gesata Stella ที่แสดงเป็น Susan จริงๆ บทภรรยาของชายที่เป็นเกย์ก็น่าเห็นใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งฉากที่ Kris สารภาพความจริงกับเธอในตอนท้ายเรื่อง เธอทำให้คนดูต้องใจสลายไปตามๆ กัน แต่สิ่งที่เพิ่มความน่าเห็นใจให้กับเธอก็คือ เธอหน้ามันมากในหลายๆ ฉาก ทำไมฝ่ายแต่งหน้าไม่ดูแลเธอเลยนะ อ้อ อีกเรื่องหนึ่งที่ละเลยไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ Natalius Chendana ที่แสดงเป็น Kris ตัวจริงน่ารักมว้ากกกกก แค่นี้ล่ะ
4. Praia do Futuro (Futuro Beach) – Brazil/Germany (7/10)
Donato ยามฝั่งของหาด Futuro กำลังเศร้าและหดหู่ เพราะเขาช่วยเหลือคนจมน้ำไม่สำเร็จ ระหว่างนั้นเขาได้รู้จักกับ Konrad หนุ่มเยอรมันที่เป็นเพื่อนของคนที่จมน้ำ และทั้งสองพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การเป็นคนรัก หนังแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ The Drowner’s Embrace กล่าวถึงเหตุการณ์ต้นเรื่องในบราซิลที่เต็มไปด้วยสีสันสดใส แต่ Donato กลับมีจิตใจที่หม่นหมอง ต่อด้วย A Hero Cut in Half ที่ตัดฉับมาอีกช่วงเวลาหนึ่งหลังจาก Donato ย้ายมาอยู่กับ Konrad ที่เยอรมัน แม้จะมีความสุขดีกับชายคนรัก แต่อากาศอันขมุกขมัวและอึมครึมในช่วงฤดูหนาวของเยอรมันก็ชวนให้ Donato คิดถึงชีวิตเก่าๆ ที่บราซิล โดยเฉพาะชายหาดและครอบครัว และตอนสุดท้ายคือ A German-Speaking Ghost ที่กระโดดข้ามเวลาหลายปี Donato ทำงานใน aquarium ซึ่งเหมือนเป็นจุดกึ่งกลางที่พาเอาชีวิตในอดีต (ทะเลที่บราซิล) และปัจจุบัน (เยอรมัน) มาพบกันได้อย่างลงตัว จนเมื่อ Ayrton น้องชายของ Donato ที่โตเป็นหนุ่มแล้ว เดินทางมาเยอรมัน เพื่อระบายความอัดอั้นตันใจบางอย่าง
Futuro Beach โดดเด่นในเรื่องการถ่ายภาพและการใช้สีที่ขัดแย้งกับความรู้สึกของตัวละคร การใช้ฉากขี่มอเตอร์ไซค์ทั้งในตอนเปิดเรื่องและปิดเรื่อง (ในบรรยากาศที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง) ก็อาจจะเป็นสัญลักษณ์แทนการเดินทางของตัวละคร เพื่อค้นหาเป้าหมายในชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะ Ayrton ที่เพิ่งจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วย
5. Kasal (The Commitment) – The Philippines (5.5/10)
Sherwin และ Paolo สองหนุ่มคู่รักต้องเผชิญปัญหาความสัมพันธ์ เมื่อพวกเขาไปร่วมงานแต่งงานของน้องสาว Sherwin นอกจากประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักเพศเดียวกัน หนังยังแสดงให้เห็นทัศนคติเกี่ยวกับครอบครัว ปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และค่านิยมของสังคมที่ได้รับอิทธิพลของศาสนาอย่างเข้มข้น
ไม่ค่อยเข้าใจว่าเหตุใดหนังจึงได้รับคำชมและรางวัลมากมาย เพราะส่วนตัวแล้วคิดว่าหนังไม่ลงตัวเลย ขาดบ้างเกินบ้าง การเล่าเรื่องก็ทื่อๆ สุดแสนเชย บางตอนก็ยืดเยื้อเยิ่นเย้อจนแทบออกทะเล อย่างไรก็ดี หนังมีสองฉากที่คิดว่าทำได้ดี (นอกเหนือจากสองฉากนี้แล้ว ส่วนที่เหลือถือว่าน่าเบื่อสุดๆ) หนึ่งคือฉากเซ็กซ์ตอนต้นเรื่อง (แต่ในใจแอบคิดว่า “แมร่งนานไปเปล่าวะ เหมือนกรูมาแอบดูคนเอากันเลย”) เพราะนั่นคือฉากเดียวที่ตัวละครเกย์ทั้งคู่ไม่ติดอยู่กับพันธนาการของกรอบประเพณีหรือความเชื่อใดๆ ของสังคม (การปลดเปลื้องเสื้อผ้าเป็นสัญลักษณ์ของการปลดสถานะทางสังคม คล้ายกับเรื่อง Nude Area) อีกฉากหนึ่งคือตอนที่ทั้งสองทะเลาะกันรุนแรงระหว่างขับรถไปบ้านเกิดของ Sherwin ฉากนี้ดูจริงและชวนเครียดมาก ใครก็ตามที่ผ่านการมีคู่มาแล้ว ย่อมรู้ซึ้งว่าการทะเลาะกันเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยากเมื่อเรามีความสัมพันธ์กับใครอีกคน ซึ่งการมีปากเสียงกันอาจจะมีปลายทางอยู่ที่การปรับความเข้าใจกัน หรือไม่ก็การเลิกร้างกันเลยก็ได้ หนังจบด้วยบทสรุปที่เป็นไปตามคาด ทว่ายังแฝงด้วยความหวังอันเลือนรางในสังคมที่เคร่งครัดประเพณีอย่างฟิลิปปินส์ ซึ่งคงต้องรอดูผลลัพธ์กันต่อไปในอนาคต
สุดท้ายนี้ อยากจะขอบคุณผู้จัดงานที่นำภาพยนตร์เหล่านี้มาให้ดูกัน บางเรื่องอาจจะดูยากและไม่ตรงกับนิสัยการดูหนังของคนไทยสักเท่าไร และนั่นทำให้คนมาร่วมงานไม่มากตามที่คาดไว้ แต่งานนี้ก็ทำให้หลายคนได้มีโอกาสชมหนังนานาชาตินอกกระแสมากขึ้น และยังถือเป็นหลักไมล์สำคัญที่ริเริ่มและกระตุ้นให้หลายฝ่ายหันมาสนใจประเด็นความหลากหลายทางเพศในสื่อเพิ่มขึ้นด้วย เป็นกำลังใจให้ทีมงานทุกคนครับ รอดูหนังในเทศกาลปีหน้าแน่นอน