ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 104; รอคอยเธอมาแสนนาน ในที่สุดก็ได้ดู Beauty and the Beast หนังที่สร้างจากแอนิเมชันดิสนีย์ซึ่งดิฉันยกให้เป็นหนึ่งในดวงใจตลอดกาลนานเทอญ
เมื่อปี 1991 ซึ่งแอนิเมชัน Beauty and the Beast หรือชื่อไทยว่า “โฉมงามกับเจ้าชายอสูร” ออกฉาย ดิฉันยังเรียนอยู่ ม.ต้น ที่ขอนแก่น ไม่มีโอกาสได้ไปดูหนังเรื่องนี้ในโรง แต่แม่ดิฉันก็มีวิธีที่ทำให้ลูกได้ดูหนัง ด้วยการซื้อวิดีโอมาครอบครองซะ แม่ดิฉันเป็นแฟนตัวยงของดิสนีย์ หนังเรื่องนี้แม่จึงควักกระเป๋าซื้อโดยไม่เสียดาย ลูกแม่ทั้งสามคนเลยได้นั่งอ้าปากหวอดูอยู่ที่บ้าน ดูแล้วดูอีกๆๆๆๆๆ ไม่รู้จักเบื่อ เหมือนเด็กดูไอแพดสมัยนี้ยังไงยังงั้น
พอโตขึ้นมาดิฉันจึงได้ทราบว่า แอนิเมชัน Beauty and the Beast ได้สร้างประวัติศาสตร์หลายอย่าง โดยเฉพาะในการเข้าชิงรางวัลใหญ่อย่างลูกโลกทองคำและออสการ์ ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีรางวัลสาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยมแยกออกมาต่างหากแบบทุกวันนี้
สำหรับรางวัลลูกโลกทองคำ หนังเรื่องนี้เป็นแอนิเมชันเรื่องแรกที่ชนะในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทภาพยนตร์เพลงหรือตลก (Best Motion Picture – Musical or Comedy) ซึ่งในเวลาต่อมา มีอีกเพียง 2 เรื่องที่ทำได้ คือ The Lion King (ปี 1994) กับ Toy Story 2 (ปี 1999) จากนั้นก็ไม่มีภาพยนตร์แอนิเมชันชนะในสาขานี้อีกเลยจวบจนปัจจุบัน นอกจากนี้ หนังยังเข้าชิงอีก 2 สาขา และชนะทั้งคู่ ได้แก่ ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม กับเพลงประกอบยอดเยี่ยม ซึ่งได้เข้าชิง 2 เพลง คือ Beauty and the Beast (เพลงตอนเต้นรำ) กับ Be Our Guest (เพลงตอนกินข้าว) โดยเพลง Beauty and the Beast ชนะไป
ส่วนรางวัลออสการ์ หนังเรื่องนี้เป็นแอนิเมชันเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) ซึ่งในเวลาต่อมา มีอีกเพียง 2 เรื่องที่ทำได้ คือ Up (ปี 2009) กับ Toy Story 3 (ปี 2010) แต่ในปีที่สองเรื่องนั้นได้เข้าชิง เขาเพิ่มจำนวนผู้เข้าชิงเป็น 10 เรื่อง ในขณะที่ปี 1992 ซึ่ง Beauty and the Beast ได้เข้าชิง มีผู้เข้าชิงเพียง 5 เรื่อง แสดงว่ามันต้องเจ๋งขั้นสุด จึงสามารถเบียดหนังคนแสดงเรื่องอื่นๆ เข้ามาเป็น 1 ใน 5 ได้
ในส่วนของดนตรีประกอบกับเพลงประกอบ หนังก็ไม่พลาดออสการ์อยู่แล้ว แถมยังเป็นหนังเรื่องแรกที่มีเพลงได้เข้าชิงรางวัลเพลงประกอบยอดเยี่ยมถึง 3 เพลง ได้แก่ Beauty and the Beast, Be Our Guest และ Belle (เพลงเปิดตัวนางเอก) โดยเพลง Beauty and the Beast ชนะไป หลังจากนั้นมีหนังอีก 3 เรื่องที่ได้เข้าชิง 3 เพลงแบบนี้ ได้แก่ The Lion King (ปี 1994) Dreamgirls (ปี 2006) และ Enchanted (ปี 2007) พอถึงปี 2008 ออสการ์ก็เลยเปลี่ยนกติกา กำหนดให้หนังแต่ละเรื่องเข้าชิงสาขานี้ได้ไม่เกิน 2 เพลง La La Land ก็เลยได้เข้าชิงแค่ 2 เพลงด้วยประการฉะนี้ #เกี่ยว? นอกจากนี้ Beauty and the Beast ยังได้เข้าชิงอีกรางวัลหนึ่ง คือบันทึกเสียงยอดเยี่ยมด้วย เท่ากับว่า เข้าชิงออสการ์ 4 สาขา ชนะไป 2 โดยแข่งกับหนังคนแสดงทั้งสิ้น เรียกได้ว่าเป็นงานระดับขึ้นหิ้งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์แอนิเมชันของอเมริกาเลยทีเดียว
เรื่อง Beauty and the Beast นั้นมีที่มาจากเทพนิยายฝรั่งเศส ชื่อ La Belle et la Bête (แปลว่า Beauty and the Beast นั่นล่ะฮ่ะ) แต่งโดยนักเขียนหญิง กาเบรียล-ซูซานน์ บาร์โบต์ เดอ วิลล์เนิฟ ตีพิมพ์ในปี 1740 ต่อมา นักเขียนหญิงอีกคนหนึ่งนามว่า ฌานน์-มารี เลอพราซ เดอ โบมงต์ ได้นำเทพนิยายของมาดาม เดอ วิลล์เนิฟ มาปรับให้กระชับขึ้น และเขียนใหม่เป็นเวอร์ชันของตัวเอง ตีพิมพ์ในปี 1756 ซึ่งเวอร์ชันนี้แหละที่โด่งดังไปทั่วยุโรป และเป็นต้นฉบับของแอนิเมชัน Beauty and the Beast ปี 1991 โดยดิสนีย์ก็เคารพต้นฉบับ ด้วยการให้ฉากหลังของหนังยังคงเป็นฝรั่งเศส และชื่อตัวละครก็เป็นชื่อฝรั่งเศส เช่นชื่อนางเอก คือ Belle อ่านว่า “แบลล์” แปลว่า สาวงาม (= beauty) ไม่ใช่ “เบลล์” ที่แปลว่าระฆัง #นะจ๊ะ
เวลาผ่านไป 25 ปี ดิสนีย์ก็ได้นำแอนิเมชันของตัวเองมารีเมคเป็นหนังที่ใช้คนแสดง ดำเนินเรื่องตามแอนิเมชันแทบทุกกระเบียด แต่มีการดัดแปลงรายละเอียดเล็กน้อย และเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเข้าไป โดยได้เอ็มมา วัตสัน ผู้โด่งดังจากบทเฮอร์ไมโอนี ในหนังชุดแฮร์รี พ็อตเตอร์ มารับบทแบลล์ พอประกาศชื่อนักแสดงนำ ก็เล่นเอาฮือฮากันทั้งบาง เพราะน้องเอ็มมาก็มีความแบลล์มากอยู่ หลายๆ คนรวมทั้งดิฉันก็เลยเฝ้ารอคอย ว่าหนังจะออกมาเป็นยังไง เป็นการรอคอยด้วยความหวังเต็มเปี่ยม เพราะมั่นใจว่าต้นฉบับมันดีมากๆ อยู่แล้ว ไม่มีทางที่เจ้าของต้นฉบับนั้นจะทำให้มันพังคามือลงไปได้
แต่อะไรที่เราหวังไว้มาก มักจะไม่เป็นดังหวัง นี่คือสัจธรรม ดิฉันเองก็หนีความจริงข้อนี้ไม่พ้น เพราะแม้หนังเวอร์ชันนี้จะไม่ถึงกับพัง แต่ก็เกือบๆ เนื่องจากปัญหาใน 2 ส่วนซึ่งเป็นเรื่องใหญ่พอควร นั่นก็คือ บท กับทิศทาง (direction) ในการแสดง
กล่าวถึงบทก่อน บทหนังเรื่องนี้ใช้บทแอนิเมชันเป็นตัวตั้ง แล้วปรับรายละเอียดรวมทั้งเพิ่มเติมเนื้อหาเข้าไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำกันเป็นปกติอยู่แล้วในการรีเมค แต่ปัญหาก็คือ ส่วนที่เติมเข้าไปนั้น มันไม่มีประโยชน์อะไรกับเรื่อง แถมยังเชื่อมโยงกับเนื้อหาเดิมได้ไม่สนิท ทำให้ประดักประเดิดมาก อย่างประเด็นเกี่ยวกับเกย์ที่สอดแทรกอยู่ อันทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางนั้น ก็ไม่ได้ช่วยให้เรื่องราวหรือตัวละครมีความลึกซึ้งขึ้นสักเท่าไหร่ เหมือนใส่มาขำๆ หรือจะมีเจตนาล่อเป้าซะก็ไม่รู้
ทีนี้พอส่วนที่เติมเข้ามาไม่มีประโยชน์ มันก็ทำให้เกิดผลสืบเนื่องตามมา คือเรื่องก็เลยยาว ยืด ย้วย เพราะบทไม่รัดกุม แถมจังหวะของเรื่องก็แปลกๆ ที่จะขมวดก็ไม่ขมวด ที่จะขยี้ก็ไม่ขยี้ แล้วพอจังหวะมันไม่เป๊ะ ก็เลยรวนหมด บทพูดที่เคยโด๊นโดนในแอนิเมชัน ก็กลับกลายเป็นไม่โดน แล้วลอยหายไปกับสายลมอย่างไม่สลักสำคัญใดๆ #ล้องห้ายยยย
ปัญหาที่ 2 คือทิศทางในการแสดง ซึ่งได้มาจากการทำงานร่วมกันของผู้กำกับกับนักแสดง ทั้งนี้ บทที่มีปัญหาก็ไม่ใช่ตาสีตาสาที่ไหน คือบทแบลล์นี่แหละ อันเนื่องมาจากว่า น้องเอ็มมาออกไอเดียว่านางจะเล่นเป็นตัวของนางเอง และผู้กำกับก็โอเค ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่เสียหาย เท่ากับว่าบทแบลล์ได้รับการตีความใหม่ ให้เป็นคนแข็งๆ ไม่ได้อ่อนหวานเหมือนฉบับแอนิเมชัน แต่การเปลี่ยนคาแร็กเตอร์ตัวละครนั้น มันจะมีผลต่อการแสดงออกของตัวละครด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้กำกับกับนักแสดงน่าจะต้องแสวงหาร่วมกัน เพื่อให้ได้ทิศทางการแสดงที่ชัดเจน เป็นต้นว่า คนแข็งๆ เขามีวิธีแสดงออกซึ่งความรักอย่างไร แสดงด้วยแววตาหรือด้วยพฤติกรรมอย่างอื่น ถ้าไดเร็กชันชัด อารมณ์ความรู้สึกที่แสดงออกมาก็จะชัด ตามแนวทางของคาแร็กเตอร์ที่วางไว้ตั้งแต่ต้น
ดิฉันได้ฟังฟีดแบ็กจากคนดูหลายๆ คน เขาบอกว่าไม่รู้เลยว่าแบลล์เริ่มรักอสูรตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็นี่แหละ ปัญหามันอยู่ตรงนี้ คือพอแบลล์ได้รับการปรับคาแร็กเตอร์ให้เป็นคนแข็งๆ นางก็แข็งไปหมดเลย อีกนิดเดียวจะซังกะตายแล้ว น้องเอ็มมาแสดงเหมือนเบื่อๆ ไม่ค่อยมีชีวิตจิตใจ และดูไม่ออกเลยว่าตกหลุมรักอสูร ทีนี้เนื่องจากว่า หนังเรื่องนี้จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าความรักของทั้งสองก่อเกิดและพัฒนาขึ้นได้อย่างไร เพราะหนังพูดถึงความรักในตัวตนที่แท้จริงของกันและกัน ไม่ใช่รูปร่างหน้าตาอันเป็นเพียงเปลือกนอก ดังนั้น ถ้านั่งดูก็แล้ว ตีลังกาดูก็แล้ว ยังไม่เห็นว่าสองคนนี้รักกัน ประเด็นของเรื่องก็พังไปประมาณนึง
ปัญหาที่เกิดตามมาก็คือ การที่แบลล์กับอสูรดูไม่ค่อยรักกัน ได้ทำลายฉากสำคัญไปหลายฉาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากเต้นรำ ซึ่งเป็นฉากไฮไลต์ของเรื่อง ฉากนี้ในแอนิเมชัน เป็นช่วงเวลาที่เปี่ยมด้วยความหมายและอารมณ์ความรู้สึก เพราะเป็นครั้งแรกที่แบลล์เปิดเผยความรักที่มีต่ออสูรอย่างชัดเจน ทำให้อสูรรู้ว่าแบลล์ก็มีใจให้เขา ซึ่งตรงนี้เป็นกุญแจสำคัญของเรื่อง เพราะมันจะนำไปสู่การแก้คำสาปที่เป็นปมปัญหาตั้งแต่ต้น ยิ่งเมื่อประกอบกับเพลง Beauty and the Beast อันไพเราะ และเทคนิคทางภาพที่เหมือนกับการหมุนกล้องไปรอบๆ ตัวละคร แล้วดึงออกเป็นภาพกว้าง สลับกับการโคลสอัพอย่างนุ่มนวล อันเป็นเทคนิคที่ล้ำมากสำหรับแอนิเมชันในยุคนั้น ก็ยิ่งทำให้ฉากนี้กลายเป็นหนึ่งในฉากอมตะของโลกภาพยนตร์ ซึ่งสร้างความประทับใจและความสุขให้แก่ผู้ชมได้อย่างสูงสุด
มาถึงฉากเต้นรำใน Beauty and the Beast เวอร์ชันนี้ เพลงที่ใช้ก็ยังคงเป็นเพลงเดิม เท่ากับว่ายอดเยี่ยมอยู่แล้ว เทคนิคก็พัฒนาขึ้นมาก แทบไม่มีข้อจำกัด แต่ความหมายและอารมณ์ความรู้สึกมันแห้งๆ พิกล ดูภาพประกอบนะคะ ดิฉันตั้งใจจะหาภาพตอนเต้นรำของทั้งสองเวอร์ชันมาตัดต่อเปรียบเทียบกันแบบนี้แหละ แต่พอเสิร์ชดูก็พบว่ามีคนทำไว้แล้ว ในเว็บ filmschoolrejects ก็เลยขอหยิบยืมมาใช้ ให้ภาพอธิบายก็คงจะพอมองเห็น ว่าเวอร์ชันคนแสดงมันขาดอะไรไปมากจริงๆ
ที่มาภาพ: filmschoolrejects.com
นับว่ายังดี ที่หนังได้ทีมนักแสดงสมทบที่แข็งมาก ไม่ว่าจะเป็น ยวน แม็กเกรเกอร์, เซอร์ เอียน แม็กเคลเลน และเอ็มมา ธอมป์สัน ผู้พากย์เสียงและรับบท ลูมิแยร์ ค็อกสเวิร์ธ และมิสซิสพ็อตส์ ตามลำดับ รวมทั้งลูค อีแวนส์ ผู้รับบทแกสตอง ทุกคนทำหน้าที่ได้ดี ไดเร็กชันชัด นับว่าช่วยกอบกู้หนังได้บางส่วน ไม่ให้ถึงกับหลุดลุ่ยจนเกินไป
แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่โอบอุ้มหนังไว้ทั้งเรื่อง ทำให้หนังเรื่องนี้มีความดีงามที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ก็คือเพลงประกอบและดนตรีประกอบ ผลงานของอลัน เมนเคน คอมโพสเซอร์เจ้าประจำของดิสนีย์ ผู้มีผลงานการประพันธ์ดนตรีประกอบแอนิเมชันและภาพยนตร์มากมาย ได้รับรางวัลมานับไม่ถ้วน ผลงานของเขาใน Beauty and the Beast ประสบความสำเร็จสูงสุดมาแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นแอนิเมชัน และได้ตอกย้ำความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งในหนังเวอร์ชันคนแสดงนี้
นี่คือพลังแห่งดนตรี พลังแห่งเสียงเพลง ที่บันดาลให้เราได้สัมผัสกับอารมณ์ความรู้สึกอันลุ่มลึกและหลากหลาย ทั้งความสุข ความทุกข์ ความเศร้า ความรื่นเริงยินดี ความเกลียดชัง และความรัก
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 104
โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
22 มีนาคม 2017
(ขอบคุณภาพปกจาก digitalspy.com)