โดย Average Joe

5 กันยายน 2012

brave

ที่มารูป: http://cdn.collider.com

“เจ้าหญิงดิสนีย์เวอร์ชันปาล์มมี่ยิงธนู” คือคำจำกัดความสั้นๆ ที่ข้าพเจ้าขอถือวิสาสะตั้งให้ Brave แอนิเมชันเรื่องล่าสุดของดิสนีย์/พิกซาร์ ที่นอกจากจะเป็นการ์ตูนจากพิกซาร์เรื่องแรกที่มีตัวเอกเป็นผู้หญิงแล้ว ยังเป็นหนังย้อนยุคเรื่องแรกด้วย Brave พาเรากลับไปยุคกลางในดินแดนที่ราบสูงของชาวสก็อต (Scottish Highlands) ซึ่งเป็นดินแดนแห่งตำนานและเวทมนตร์อันลี้ลับน่าค้นหา

Merida คือเจ้าหญิงทอมบอยที่ชอบขี่ม้า ยิงธนู ปีนป่าย ห้อยโหน และอื่นๆ อีกสารพัดที่ไม่ใช่สิ่งที่ “กุลสตรี” พึงปฏิบัติ และจุดนี้ก็ทำให้เมริดากลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับราชินีเอลินอร์ผู้เป็นมารดา ที่คอยบังคับเคี่ยวเข็ญ พร่ำสอนอบรมให้เธอเป็น “หญิงงามตามขนบ” เพื่อจะได้เสกสมรสกับเจ้าชายต่างแคว้น และสืบสกุลต่อไป บลาๆๆ แน่นอนว่าสาวห้าวคนนี้ไม่มีทางโอนอ่อนผ่อนตาม เมื่อเธอเห็นว่าการเจรจากับแม่ตามวิธีปกติคงไม่ได้ผลเป็นแน่ เวทมนตร์ไสยศาสตร์จึงเป็นตัวเลือกที่ดูพึ่งได้มากที่สุด โดยหารู้ไม่ว่า การกระทำของเธอจะก่อให้เกิดความวุ่นวายเป็นลูกโซ่ตามมา และเธอก็จำต้องพึ่งตนเองเท่านั้นในการตามล้างตามเช็ดปัญหาดังกล่าว

หนังพูดถึงเรื่องการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามแบบดั้งเดิม รวมถึงการเชิดชูเกียรติยศ ความกล้าหาญ และความสามัคคีของบรรพชน ที่ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่มาจนถึงวันนี้ได้ และเราเองก็ควรจะสืบทอดเจตนารมณ์เช่นนี้ต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน หากแต่ว่า ขนบประเพณีที่ดีในยุคสมัยหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะสมกับคนอีกยุคสมัยก็ได้ ฉะนั้น การปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ของสังคม หากทำอย่างพอเหมาะพอดี ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สมควร และไม่ใช่การ “อกตัญญู” หรือการไม่เคารพบรรพชนแต่อย่างใด

ประเด็นใหญ่อีกเรื่องคือความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว หากเปรียบเทียบเมริดากับเจ้าหญิงรุ่นพี่ในเรื่องครอบครัวแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าเจ้าหญิงดิสนีย์ส่วนใหญ่มักเป็นกำพร้า อาจจะทั้งพ่อหรือทั้งแม่ หรือคนใดคนหนึ่ง หรือไม่ก็มีเหตุทำให้ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด เช่น Snow White (อยู่กับคนแคระ) Aurora (อยู่กับนางฟ้าสามองค์ที่เธอเรียกว่า “ป้า”) Belle (อยู่กับพ่อ) Ariel (อยู่กับพ่อและพี่สาวทั้งหก) Giselle (อยู่คนเดียวในป่า) หรือไม่ก็มีแม่เลี้ยงใจร้าย เช่น Cinderella หรือ Rapunzel แต่เมริดาได้อยู่กับพ่อแม่ตัวเอง แถมมีน้องชายตัวเล็กๆ สามคนที่แสนซนน่ารัก (?) เรียกได้ว่าครอบครัวอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตามาก แต่ความสัมพันธ์ของเธอกับแม่กลับไม่ค่อยดี เพราะในสายตาเธอ แม่คือคนที่เข้มงวดกับเธอทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความประพฤติ การแต่งตัว การพูดจา จนกระทั่งมารยาทบนโต๊ะอาหาร ซึ่งทำให้เธออึดอัด เพราะไม่ว่าจะทำอะไร ต้องโดนแม่ตำหนิอยู่เรื่อยไป (ทั้งๆ ที่ตอนเธอยังเล็ก เธอกับแม่ก็สนิทสนมกันดี) และเธอเองก็คงแอบโกรธตัวเองด้วยเช่นกันที่ทำให้แม่ผิดหวัง 

ความขัดแย้งกับบุพการีเช่นนี้ ทำให้นึกถึงหนุ่มน้อย Hiccup และพ่อจากเรื่อง How to Train Your Dragon (2010) กล่าวคือ ลูกก็คิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ/ไม่รัก/ไม่ภูมิใจในตัวเอง จนทำให้เกิดนิสัยดื้อเงียบ หรือต่อต้านเป็นขบถ ส่วนพ่อแม่ก็ห่วงและปกป้องลูกจนเกินไป เลี้ยงลูกแบบเข้มงวด จนบางครั้งดูเหมือนห่วงหน้าตาและศักดิ์ศรีมากกว่าความรู้สึกของลูกตัวเอง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้คนสองรุ่นได้ปรับความเข้าใจและพบกันครึ่งทางได้

ขึ้นชื่อว่าเป็นงานจากพิกซาร์แล้ว Brave ก็ยังรักษามาตรฐานไว้ได้อย่างดี ทั้งภาพสวย CG เยี่ยมยอด การออกแบบฉาก ตัวละคร หรือเครื่องแต่งกายก็น่าชมไปหมด บทตัดสลับความเป็นดรามา-ตลกได้ค่อนข้างลงตัว (ชอบมุขของแม่มดเป็นการส่วนตัว อย่างฮา) ส่วนภาษาอังกฤษสำเนียงสก็อตแม้จะฟังยากนิดหน่อย ออกเหน่อๆ แต่ก็น่ารักดี ^_^ แถมยังเอามาเป็นเรื่องล้อเลียนตัวเองซะงั้นด้วย จะมีข้อติอยู่นิดหน่อยตรงที่ว่า ตัวหนังไม่ค่อยตอบโจทย์ของชื่อเรื่อง ‘Brave’ เท่าไรนัก เพราะยังไงก็ดูว่า สิ่งที่เมริดาทำนั้น ดูเป็นการ “จำยอม” มากกว่าตั้งใจจะเสียสละ ซึ่งหนังก็พยายามถูไถ (ภาษาชาวบ้านกว่าคือ “แถ”) ไปว่า การลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโชคชะตาตัวเองนั่นแหละ คือความกล้าหาญ เอ่อ… ก็ด้ะ ซึ่งจริงๆ หากจะเน้นประเด็นความกล้าหาญของเจ้าหญิงแล้ว เจ้าหญิงรุ่นพี่อย่าง Pocahontas ยังจะดูกล้าหาญกว่า

8/10 ครับ ^_^ (ส่วน How to Train Your Dragon ให้ไป 9/10)

ปล. 1 ชอบ La Luna การ์ตูนสั้นยาวเจ็ดนาทีที่ฉายนำหนังจริง มีพล็อตเรื่องเกี่ยวกับเด็กน้อยที่ต้อง “สืบทอดกิจการของครอบครัว” เช่นเดียวกับ Brave แม้จะไม่ถึงระดับที่ Partly Cloudy กับ Up (2009) เคยทำเอาไว้ได้ แต่ก็ชวนให้อมยิ้มได้ตลอดทั้งเรื่อง และความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้างก็น่าชมเชยมากด้วย (หนังได้เข้าชิงออสการ์สาขา Best Animated Short Film เมื่อปีล่าสุดนี่เอง)
ปล. 2 เป็นผู้ชมคนเดียวในโรง หึหึ