โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
18 ธันวาคม 2016
ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 084; จับพลัดจับผลูไปดู Collateral Beauty หนังที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามี แต่เห็นคุณหญิงเฮเลน มีร์เรน เล่นด้วย ก็ต้องดูซะหน่อย (เดี๊ยนเป็นติ่งป้านะคะ เผื่อใครไม่รู้ อิๆๆ)
เรื่องราวในหนัง Collateral Beauty เกิดขึ้นที่นิวยอร์กในช่วงคริสต์มาส (อ๋ออออ มันคือหนังเทศกาลคริสต์มาสนี่เอง 555) ฮาวเวิร์ด (แสดงโดย วิลล์ สมิธ) ผู้บริหารบริษัทโฆษณาซึ่งเคยเป็นคนมีไฟในการใช้ชีวิตสุดๆ กลับหมดไฟไม่เหลือซากเมื่อต้องสูญเสียลูกสาววัย 6 ขวบไป เขาเคยเชื่อมั่นว่า เวลา ความรัก และความตาย คือสิ่งที่เชื่อมโยงทุกคนในโลกนี้เข้าด้วยกัน แต่ความตายของลูกสาวก่อนเวลาอันควรได้ทำลายความเชื่อของเขาลงจนหมดสิ้น เขาจึงเลิกรักตัวเอง เลิกรักมนุษย์ และตัดขาดจากคนรอบข้างโดยสิ้นเชิง อาการเก็บตัวและซึมเศร้าของฮาวเวิร์ดเข้าขั้นวิกฤต จนมีผลต่อความอยู่รอดของบริษัท ร้อนถึงเพื่อนและหุ้นส่วน 3 คนของเขา ได้แก่ วิท (แสดงโดย เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) แคลร์ (แสดงโดย เคต วินสเล็ต) และไซมอน (แสดงโดย ไมเคิล เปญา) ต้องหาทางแก้ปัญหาด้วยการให้บริษัทใหญ่อีกแห่งหนึ่งเข้ามาอุ้ม แต่ติดที่ฮาวเวิร์ดไม่ยอมเซ็นเอกสาร และไม่ยอมติดต่อสื่อสารกับใครทั้งนั้น นอกจากเขียนจดหมายไปด่าเวลา ความรัก และความตาย แถมยังเอาไปส่งไปรษณีย์ด้วย เพื่อนทั้งสามจึงเกิดความคิดแผลงๆ แต่ก็เป็นทางเดียวที่คิดออก คือไปจ้างนักแสดงละครเวทีโนเนม 3 คน มาสวมบทบาทเป็น เวลา ความรัก ความตาย เข้าไปพูดคุยกับฮาวเวิร์ด เพื่อให้ฮาวเวิร์ดยอมรับว่าตัวเองสภาพจิตใจไม่ปกติ จะได้ยอมเซ็นเอกสารเพื่อรักษาบริษัทไว้ นักแสดงที่มารับงานนี้ ได้แก่ ราฟฟี่ (แสดงโดย เจค็อบ ลาติมอร์) รับบท “เวลา” เอมี่ (แสดงโดย คีร่า ไนต์ลีย์) รับบท “ความรัก” และบริจิตต์ (แสดงโดย เฮเลน มีร์เรน) รับบท “ความตาย” ปรากฏว่า นักแสดงทั้งสามแสดงเก่งมาก (หรือเปล่าไม่รู้ อิๆๆ) หลังจากปฏิบัติตามแผนดังกล่าว นอกจากฮาวเวิร์ดจะเริ่มเปิดใจอีกครั้ง และเข้าร่วมบำบัดกับกลุ่มพ่อแม่ที่เคยสูญเสียลูก นำโดยแมดเดอลีน (แสดงโดย เนโอมี แฮร์ริส) แล้ว เพื่อนของเขาทั้งสาม ซึ่งเป็นต้นคิดแผนการนี้ ยังได้พลอยสะสางปมในใจ อันเกี่ยวกับเวลา ความรัก ความตาย ไปพร้อมๆ กันด้วย
ที่มารูป: en.wikipedia.org
พล็อตเรื่องอาจจะฟังดูเพี้ยนๆ สักนิด 555 แต่นี่ไม่ใช่ทั้งหมดค่ะ หนังเรื่องนี้ยังมีอะไรซ่อนอยู่อีกเยอะ ทั้งในส่วนของเนื้อเรื่องและในส่วนของประเด็น สำหรับเนื้อเรื่องนั้น จะว่าหักมุมก็ไม่เชิง แต่มันจะเป็นลักษณะปิดบังบางอย่างไว้ แล้วค่อยๆ เผยทีละน้อยจนกระทั่งมาบรรจบกันในตอนจบ ส่วนประเด็น มันจะมีแกนกลางตามชื่อเรื่อง แล้วแตกออกเป็นประเด็นย่อยๆ อันเกาะเกี่ยวผูกพันกันอยู่ แต่ต้องคิดเชื่อมโยงให้ดีจึงจะเห็นว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน นอกจากนี้ ในคำโปรยยังแอบบอกใบ้ความเกี่ยวพันเชื่อมโยงอีกอย่างหนึ่งที่ซ่อนไว้ในหนังด้วย ทีแรกอ่านคำโปรย “We are all connected.” แล้วรู้สึกว่าเชยระเบิด แต่พอดูหนังจบ เห้ยยย มันมีความแปลกใหม่นะ ไม่ได้เป็นแบบหนังทั่วไป แล้วก็ไม่ได้เป็นแบบหนังคริสต์มาสเรื่องอื่นๆ ด้วย แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานจะไม่ต่างจากหนังเกี่ยวกับเทศกาลที่เราเคยดูมา คือเป็นหนังแนวหลากชีวิต (Ensemble Drama) ซึ่งรวมดาราดังๆ หลายคนไว้ในเรื่องเดียวกัน และที่ฮาสุดคือโปสเตอร์จะต้องเป็นช่องๆ โดยมีหน้านักแสดงอยู่ในช่อง คือดิฉันก็ไม่เข้าใจว่าทำไมหนังแนวนี้จะต้องออกแบบโปสเตอร์เป็นแบบนี้หมดเลย หนังเรื่องนี้ก็เลยดูไม่น่าสนใจเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ก็เป็นหนังที่ดีเรื่องหนึ่ง
ปรากฏว่า จากหนังที่ดิฉันไม่เคยรู้มาก่อนว่ามี กลับกลายเป็นหนังที่ ‘โดน’ ดิฉันเข้าอย่างจัง เพราะดิฉันก็กำลังทะเลาะกับเวลา ความรัก และความตายอยู่ เนื่องมาจากความสูญเสียอันยากที่จะยอมรับได้
แต่หนังเรื่องนี้ทำให้ดิฉันตระหนักในความจริงที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม มันมี Collateral Beauty คือมีความงามที่คู่ขนานกับสิ่งนั้นๆ อยู่
ถ้าเพียงแต่จะหาแง่งามของมันให้เจอ เราก็จะสามารถก้าวข้ามความทุกข์ และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุขได้ เช่นที่เราสมควรจะมี
สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 180