Departures

1680

โดย Average Joe

30 พฤศจิกายน 2012

หลังจากวงออเคสตราประกาศยุบวงอาชีพนักเชลโลที่กำลังจะไปได้สวยของไดโงะก็พังทลายลงอย่างไม่คาดฝัน สถานการณ์บีบบังคับให้เขาและภรรยาย้ายกลับบ้านเดิมที่จังหวัดยามางาตะ ที่ที่เขาต้องเริ่มชีวิตใหม่และหางานใหม่ ไม่นานนักเขาก็ได้ไปสมัครงานที่บริษัทเล็กๆแห่งหนึ่งด้วยคิดว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวตามโฆษณาในหนังสือพิมพ์ที่บอกว่า “ให้ความช่วยเหลือในการเดินทาง” แต่เขาก็ต้องตกตะลึงเมื่อทราบว่าที่จริงแล้วนี่เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจรับจัดการนำศพลงโลง (nōkan 納棺) ต่างหาก ด้วยความจำเป็น ไดโงะจึงรับทำงานนี้แม้จะไม่เต็มใจนัก แต่จากการทำงานที่แปลกๆ เกี่ยวกับคนตายนี้เอง ทำให้ไดโงะได้เรียนรู้และค้นพบความงดงาม ความสุขสันต์และความหมายของการมีชีวิตอยู่

k79

ที่มารูป : www.shewsbury.com

Okuribito (おくりびと) หรือ Departures ภาพยนตร์รางวัลออสการ์ สาขา Best Foreign Language Film เมื่อปี 2009 พาเราไปสำรวจด้านต่างๆ ของความตายและการมีชีวิตอยู่ ด้วยมุมมองที่เป็นมิตรและเข้าใจโลก ด้วยเนื้อหาที่เป็นสากลนี่เอง ที่ทำให้หนังเรื่องนี้ก้าวผ่านพรมแดนแห่ง “ภาษาต่างประเทศ” ไปสู่ใจผู้ชมชาติอื่นๆ ได้อย่างไม่น่ากังขา

Okuribito เป็นหนังชีวิตที่มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน สามารถดูได้เพลินๆ แม้หนังจะเดินเรื่องไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่น่าเบื่อ หรือหากจะดูเพื่อตีความหรือขบคิดอย่างจริงจัง หนังก็มีประเด็นสำคัญให้ได้คิดตามอยู่หลายเรื่อง ซึ่งสามารถแยกได้เป็นสามเรื่องใหญ่ๆ ในสามระดับ ดังนี้

ประเด็นแรกในระดับกว้าง นั่นคือเรื่องชีวิตกับความตายและการมีชีวิตอยู่ ซึ่งน่าจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด เนื่องจากอาชีพของพระเอกเกี่ยวข้องกับคนตายและความตายโดยตรง เป็นที่ทราบกันดีว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดาโลกที่เกิดขึ้นกับทุกคนโดยไม่แบ่งเพศ วัย หรือฐานะ แต่สิ่งที่เราไม่อาจทราบได้ก็คือ ความตายจะเดินทางจะมาหาเราเมื่อไร ดังนั้น ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เราจึงควรใช้เวลานี้สร้างประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น สร้างสัมพันธ์อันดีกับคนรอบตัว ใช้ชีวิตให้คุ้มค่าและเป็นสุขให้มากที่สุด เพื่อว่าเราจะได้ไม่เสียดายอะไรหากเราต้องจากโลกนี้ไปจริงๆ เราใช้ความตายมาช่วยเตือนสติเรื่องการใช้ชีวิตอยู่บ่อยครั้ง เมื่อเราเห็นความตาย บางคนอาจจะกลัว บางคนอาจจะเศร้าหรือหดหู่ แต่เมื่อเราก้าวข้ามความกลัวหรือความเศร้าได้แล้ว เราน่าจะฉุกคิดได้ว่า เราจะทำอะไรกับชีวิตบ้าง ก่อนที่ความตายจะมาถึงเรา อย่างไรก็ดี ภาพความตายในหนังไม่ได้น่ากลัวหรือสยดสยอง คนตายที่เราเห็นก็ดูเหมือนคนที่นอนหลับเฉยๆ และทำให้เราเปิดใจยอมรับว่าความตายก็เป็นเพียง “การเดินทาง” ครั้งหนึ่งในชีวิตของเราเท่านั้น

ประเด็นที่สองในระดับที่แคบลงมา นั่นคือเรื่องงานหรือหน้าที่ และการให้คุณค่าของงานที่ทำ เราอาจจะเคยมองคนกวาดถนนหรือคนเก็บขยะแล้วคิดว่า “โชคไม่ดีจริงๆ ที่ต้องมาทำงานที่ไม่มีใครอยากทำเช่นนี้” แต่เราอาจจะลืมนึกไปว่า หากไม่มีใครทำงานเหล่านั้น ชีวิตเราก็คงได้ผลกระทบและลำบากแน่ๆ เช่นเดียวกับงานสัปเหร่อ หรือการเตรียมศพลงโลง หากไม่มีผู้ใดรับผิดชอบทำหน้าที่นี้ งานศพของแต่ละคนคงออกมาดูไม่จืด ในทัศนคติของคนญี่ปุ่น ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ อาชีพใดที่เกี่ยวข้องกับศพ คนตาย หรือการฆ่า (เช่นงานในโรงฆ่าสัตว์ เพชฌฆาต หรือสัปเหร่อ) ล้วนเป็นอาชีพที่ไม่มีเกียรติและเป็นที่รังเกียจของสังคม ด้วยเหตุนี้ไดโงะจึงมีท่าทีกระอักกระอ่วนในช่วงแรกที่ต้องทำงานนี้ (รวมถึงปฏิกิริยาของคนรอบข้างหลังจากรู้เรื่องงานของเขาด้วย) แต่เมื่อเขาได้เห็นการทำงานอย่างตั้งใจและใส่ใจในทุกรายละเอียดของคุณลุงเจ้าของบริษัท มุมมองของเขาต่องานก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เขาเริ่มมีสมาธิแน่วแน่ เห็นคุณค่าและเคารพงานของตัวเองมากขึ้น จนสามารถสร้าง “ผลงาน” ที่ทำให้ครอบครัวของผู้ตายพึงพอใจได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น เราจึงพึงระลึกไว้อยู่เสมอว่า คุณค่าของหน้าที่หรือการงานใดๆ หาใช่อยู่ที่ใครมาตัดสิน หากแต่อยู่ที่ตัวเราเองจะตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายออกมาให้ดี มีประสิทธิภาพเพียงใด งานนั้นก็มีจะคุณค่าและสร้างความภูมิใจให้เราได้เช่นกัน เพราะงานทุกงานต่างก็มีคุณค่าและบทบาทของตัวเองที่ต่างกัน หากขาดอาชีพใดอาชีพหนึ่งไป การดำเนินชีวิตของเราแต่ละวันอาจจะสะดุดไม่ราบรื่นก็ได้

ประเด็นที่สามอยู่ในระดับที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด นั่นคือเรื่องครอบครัวและความสัมพันธ์ จากหนังเราจะเห็นว่า อาชีพของไดโงะ หาใช่เพียงนำศพใส่โลงไม่ หากแต่ต้องตระเตรียมศพให้อยู่ในสภาพดี “มีชีวิตชีวา” ทั้งหน้าตาและการแต่งตัว ทั้งนี้เพื่อสร้างความสบายใจแก่ครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ตายคุณลุงเจ้าของบริษัทไม่ได้มองว่านี่เป็นเพียง “ลูกค้า” หากแต่ดูแลเอาใจใส่ผู้ตายและครอบครัวเหมือนเขาเป็นญาติของตัวเอง และการที่ไดโงะได้มาทำงานนี้ก็เหมือนกับได้ “ล้างบาป” ให้ตัวเองที่ไม่ได้อยู่ดูแลแม่ในวาระสุดท้าย เขามีโอกาสชดเชยปมนี้ด้วยการทำหน้าที่ดูแลผู้ตายแทนสมาชิกของหลายๆ ครอบครัว และการที่ได้เห็นทั้งน้ำตาและรอยยิ้มจากคนในครอบครัวที่มา “ส่ง” ผู้ตายไปยังอีกภพภูมิหนึ่ง ก็ถือเป็นทั้งรางวัลและการปลดเปลื้องบาปไปในขณะเดียวกัน

k80

ที่มารูป : https://en.wikipedia.org

นอกจากปมเรื่องแม่แล้ว อีกเรื่องที่ค่อนข้างชัดเจนก็คือ ปมการขาดพ่อของไดโงะ การที่เขาโตมาโดยไม่มีพ่อ ทำให้เขาไม่มี Father figure ที่พอจะเป็น role model หรือแบบอย่างในการดำเนินชีวิตของเขาได้ แต่สิ่งนั้นก็ได้ถูกทดแทนด้วยคุณลุงเจ้าของบริษัท ที่ได้สอนงานและชี้แนะแนวทางการใช้ชีวิตให้เขา ซึ่งจะว่าไปคุณลุงเองก็อาจจะมองเห็นไดโงะเป็นเหมือนลูกชายที่เขาไม่เคยมีก็ได้ เรียกได้ว่าทั้งสองต่างก็ได้เติมเต็มซึ่งกันและกันไปโดยไม่ได้ตั้งใจ นอกจากนี้ เราก็ยังเห็นความขัดแย้งหรือ irony ปรากฏอยู่ในปมการขาดพ่อของไดโงะด้วย ทั้งๆ ที่ปากบอกว่าเกลียดพ่อ ถ้าเจอหน้าพ่อจะต่อยให้คว่ำ ต่างๆ นานา แต่เราก็ยังเห็นว่า เชลโล ที่พ่อบังคับให้เขาเรียนตั้งแต่เด็ก ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเขามาโดยตลอด หรือแม้กระทั่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “จดหมายหิน” (ishibumi 石文) ที่เขาจำรายละเอียดได้ดี ทั้งหมดนี้ อาจจะเรียกได้ว่า เป็น “มรดก” ที่พ่อทิ้งไว้ให้เขาก็ได้  และนั่นหมายความว่า เขาและพ่อไม่ได้ห่างกันอย่างที่เคยคิด เพราะทุกอย่างในชีวิตเขาล้วนมี “ภาพของพ่อ” ซ้อนเหลื่อมอยู่เสมอ

อีกประเด็นเล็กๆ เกี่ยวกับครอบครัวที่อยากจะกล่าวถึงก็คือ ทัศนคติเกี่ยวกับการคืนสู่บ้านเกิด ภาษาจีนมีคำกล่าวว่า “ใบไม้ร่วงคืนสู่ราก” (luò yè guī gēn 落叶归根) กล่าวคือ คนที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างบ้านต่างถิ่น ย่อมกลับมาสู่บ้านเกิดของตัวเองด้วยกันทั้งสิ้น หนังสะท้อนให้เห็นว่า การกลับมาสู่บ้านเกิดของตัวละคร ช่วยให้เขาได้ค้นหาตัวตนที่แท้ได้ง่ายขึ้น

หนังอบอุ่นๆ เกี่ยวกับความตายเรื่องนี้ น่าจะทำให้ใครหลายคนได้เห็นมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับชีวิตและความตาย และหันกลับมาทบทวนชีวิตของเราได้บ้าง

9/10 ครับ

ปล. 1 ขอบคุณเพื่อนชูที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น และชวนไปเสวนาเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ตั้งแต่แรก

ปล. 2 ขั้นตอนหรือ “พิธีกรรม” การเตรียมศพก่อนนำใส่โลงที่เห็นในหนัง ไม่ได้เป็นประเพณีปฏิบัติของชาวญี่ปุ่นอย่างทั่วไป หนังเพียงนำเสนอภาพของอาชีพเฉพาะอาชีพหนึ่งในท้องถิ่นหนึ่งๆ เท่านั้น อย่าคิดว่างานศพของคนญี่ปุ่นต้องเป็นอย่างในหนังเสมอไป

ปล. 3 ลองสังเกตดูว่า Father figure (บางทีอาจจะเป็น Mother figure) จะปรากฏอยู่คู่กับตัวละครที่เป็นกำพร้าอยู่บ่อยๆ เช่น Batman/Bruce Wayne, Harry Potter หรือแม้กระทั่ง James Bond ทั้งนี้เพื่อ “เติมเต็ม” ชีวิตของตัวละครนั้นๆ (อาจจะด้วยความคิดที่ว่า คนเราทุกคนย่อมจำเป็นต้องมี role model ของตัวเอง)