ชูเกียรติ “มะเดี่ยว” ศักดิ์วีระกุล เคยสร้างปรากฏการณ์ “ไม่ตรงปก” มาครั้งหนึ่งกับหนังเรื่อง “รักแห่งสยาม” (2550) ที่ทำให้คนดูไปเหวอในโรง เนื่องจากใบปิดและตัวอย่างหนังที่ชวนให้เข้าใจว่าเป็นหนังรักวัยรุ่นใสๆ แต่ของจริงกลับเป็น family drama แสนหนักหน่วง บวกกับฉากจูบอันลือลั่น ทำให้หลายคนถึงกับช็อกไปตามๆ กัน

12 ปีถัดมา ความไม่ตรงปกจากตัวอย่างหนังของมะเดี่ยวก็กลับมาอีกครั้งในเรื่อง “ดิว ไปด้วยกันนะ” บอกตรงๆ ว่าดูตัวอย่างแล้วนึกว่าเป็นหนังรักดรามาน้ำตาแตก บวกกับรีวิวที่หลายคนว่าซึ้งมากอย่างนั้นอย่างนี้ เราเองก็เตรียมตัวเข้าไปเสพอารมณ์ซึ้งเต็มที่ ปรากฏว่าพอดูไปสักพัก ในหัวกลับมีแต่ “อิหยังวะ” กับ “แบบนี้ก็ได้เหรอ” สลับกับการขมวดคิ้วเป็นปมอยู่เนืองๆ จบด้วยการเดินออกจากโรงมาด้วยความ “ไม่สุด” อย่างแรง

ที่มาภาพ: cjmajor.th

ดิวกับภพ เป็นนักเรียน ม.ปลายในอำเภอเล็กๆ ทางภาคเหนือ ทั้งสองรู้จักกันด้วยความบังเอิญ และพัฒนาความสัมพันธ์ตั้งแต่เป็นเพื่อนธรรมดา จนกลายเป็นมากกว่าเพื่อน ท่ามกลางสังคมที่ยังมีความเชื่อว่า พฤติกรรมใดที่อยู่นอกกรอบของชาย-หญิงตามแบบแผนเป็นสิ่งผิดปกติและต้องได้รับการ “แก้ไข” บวกกับที่ครอบครัวของภพเป็นจีนแท้ๆ (พ่อของภพเป็นคนจีนที่ไม่ยอมพูดภาษาไทยสักคำเดียว) ทำให้ทั้งสองต้องพยายามปกปิดสถานภาพของตัวเองไว้ แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ดิวกับภพต้องจากกันไป… 22 ปีต่อมา ภพในวัยหนุ่มใหญ่ (และมีภรรยาแล้ว) กลับมาเป็นครูที่โรงเรียนเดิมของเขา และได้พบกับหลิว เด็กสาวที่มีลักษณะบางอย่างคล้ายดิวมาก หลิวเป็นใคร มีความเกี่ยวข้องกับดิวอย่างไร แล้วเขาควรจะรู้สึกกับหลิวอย่างไรดี นี่เป็นโจทย์ที่ภพต้องหาคำตอบให้กับตัวเอง

เพิ่งรู้ตอนดูหนังจบนี่แหละว่า “ดิวฯ” ดัดแปลงมาจากหนังเกาหลีเรื่อง Bungee Jumping of Their Own (번지점프를 하다, 2001) กลับบ้านเลยมาหาในยูทูบดู พอดีว่ามีคนอัพหนังเต็มเรื่องไว้ เลยเปิดดูคืนนั้นทันที นอนดึกไปอี๊ก พอดูจบ อืมมมม แปลกพอกัน 555 แม้เวอร์ชันไทยจะมีรายละเอียดบางส่วนที่เปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง แต่โครงเรื่องหลักยังคงไว้เช่นเดิม ฉะนั้น หากใครดูหนังต้นฉบับมาแล้วก็อ่านได้เลยไม่ต้องกลัวสปอยล์จ้า

ปกติจะรีวิวแบบไม่สปอยล์อะไร แต่จะให้พูดถึงเรื่องนี้แบบไม่สปอยล์นี่ยากจริงๆ ฉะนั้น บรรทัดต่อจากจุดๆๆ ทั้งหลายต่อไปนี้จะเปิดเผยเนื้อหาและจุดสำคัญของเรื่องละนะ…

 

 

 

 

 

 

พล็อตกลับชาติมาเกิดชวนให้เหวอและดูโดดไปหน่อย เมื่อเทียบกับประเด็นการ(ไม่)ยอมรับ/ปฏิบัติต่อ LGBT ที่ปูมาอย่างจริงจังในตอนแรก (ที่ไปๆ มาๆ ก็ไม่ได้ลงลึกอะไรมากเท่าไร) เมื่อครึ่งแรกวางตัวเองไว้เป็นดรามาจริงจังขนาดนั้นแล้ว พอส่งเรื่องมาถึงครึ่งหลังแล้วดันเฉลยว่าเป็นเรื่องของรักแท้ข้ามชาติมาพบกัน ความแฟนตาซีตรงนี้จึงดูไม่น่าเชื่อ และส่งผลให้คนดูอย่างเราไม่อินไปด้วย แม้หนังจะพยายามบอกว่าดิวกับหลิวมีส่วนคล้ายกันมากขนาดไหน แต่ส่วนคล้ายที่ว่านั้นดูน้อยนิดมากจนดูเหมือนภพจะทึกทักไปเอง (ส่วนโปสเตอร์ศิลปินยุค 90 รวมทั้งภาพ 3 มิติในห้องหลิวก็ดูจงใจมากไปหน่อย)

ปัญหาหลักๆ ที่เราไม่รู้สึกอินเหมือนคนอื่นเขา คงอยู่ที่อารมณ์ของตัวละครที่มีความก้าวกระโดดและปุบปับไปหน่อย เหมือนแสดงอารมณ์ไปตามคิวเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่อินแล้วยังทำให้รู้สึกหยึย (cringe) อยู่เนืองๆ ด้วย

จะว่าไป หนังเกาหลีจะมีการดำเนินเรื่องและพล็อตที่ค่อนข้างเฉพาะตัวที่อาจจะเวิร์กเฉพาะในบริบทของเกาหลีเอง ทำให้เมื่อมีการรีเมคเป็นเวอร์ชันอื่น จึงต้องปรับเปลี่ยนองค์ประกอบบางอย่างให้เวิร์กในสื่อใหม่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น The Lake House (2006) ที่รีเมคมาจากหนังเกาหลีเรื่อง Il Mare (시월애, 2000) หนังทั้งสองเรื่องมีจุดดีต่างกันออกไป กล่าวคือ The Lake House มีความงงน้อยกว่า Il Mare ในขณะเดียวกัน Il Mare ก็ให้อารมณ์โรแมนติกฟุ้งๆ ที่ดีกว่า แม้จะมีความแฟนตาซี (เรื่องการเหลื่อมของเวลา) แต่อารมณ์ตัวละครที่ชัดเจนก็ทำให้เราเชื่อไปตามพล็อตแบบนี้ได้

อย่างไรก็ตาม “ดิว ไปด้วยกันนะ” ก็น่าสนใจตรงที่หนังพูดถึงประเด็นเรื่องกรอบของสังคมกับการใช้อำนาจ (authority) ทำให้เห็นว่าสังคมไทยมีการใช้อำนาจมากำหนดกรอบ (ความคิด ประเพณี ศีลธรรม) ใครก็ตามที่ไม่สามารถปฏิบัติตัวให้อยู่ในกรอบได้ก็ถูกมองว่าเป็นอื่น (otherness) และอาจเกิดความอึดอัด โดยตัวละครมีทางเลือกอยู่สองทาง คือถ้าไม่ทน (และเสแสร้ง) อยู่ต่อไปในกรอบดังกล่าว ก็ต้องหนีออกมาจากกรอบนั้นๆ

ภพเป็นตัวละครที่ต้องเผชิญกับเรื่องต้องห้ามและอื้อฉาวทั้งในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ กล่าวคือ ช่วงวัยรุ่น เขามีความสัมพันธ์กับเพื่อนผู้ชาย ส่วนในวัยผู้ใหญ่ เขาสร้างความสัมพันธ์ที่หมิ่นเหม่กับนักเรียนของตัวเอง ความสัมพันธ์ทั้งสองแบบของภพต่างท้าทายกรอบของสังคม แม้ความสัมพันธ์แบบแรกจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นแล้วในปัจจุบันก็ตาม แต่กับกรณีครูผู้ชาย (ที่มีเมียแล้ว) วัยเกือบ 40 ที่มีความสัมพันธ์กับเด็กนักเรียนหญิงอายุประมาณ 15-16 ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากอยู่ดี (พูดถึงเรื่องนี้ ในหนังต้นฉบับน่าจะหมิ่นเหม่เป็นสองเท่า เพราะพระเอกในวัยผู้ใหญ่ไม่เพียงแต่มีความสัมพันธ์กับนักเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นนักเรียนชายอีกด้วย ซึ่งถือว่าแรงมากในสังคมเกาหลี)

หากนำคู่ภพกับดิวมาเทียบกับคู่โต้งกับมิว (จาก “รักแห่งสยาม”) จะเห็นชัดว่าการหาทางออกให้กับความสัมพันธ์ของทั้งสองคู่ที่ต่างก็โดน “ตีกรอบ” มีผลลัพธ์ต่างกันอย่างสิ้นเชิง คู่โต้งกับมิวเลือกใช้เหตุผลที่แสดงถึงการเติบโตของตัวละคร แม้ทางที่เลือกนั้นจะดูประนีประนอม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ตัวตนของตัวเองเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างไร (อย่างน้อยก็ในส่วนของมิว) ในขณะที่ภพกับดิว (หรือหลิว) ดูเหมือนจะยังหมกมุ่นและวนเวียนในโลกที่มีแต่เขาสองคน การเลือก “หนี” ออกจากกรอบของทั้งคู่ในตอนท้ายจึงดูสุดโต่ง (และไม่แคร์เวิลด์) ไปหน่อย เข้าใจว่าจะจบให้เหมือนต้นฉบับ แต่จริงๆ ถ้าจะดัดแปลงให้ต่างไปจากเดิมก็น่าจะได้ คงผิดที่เราเองที่ไม่อินมาทั้งเรื่อง พอจบแบบนี้ก็เลยยัง “อิหยังวะ” อยู่จนฉากจบเรื่อง

6.5/10 ครับ

โดย Average Joe

19 พฤศจิกายน 2562

ป.ล. ครอบครัวของภพเป็นจีนที่พูดภาษาจีนกลางกันในบ้าน แล้วทำไมตอนโต ภพถึงเรียกพี่ชายตัวเองว่า “เฮีย” กันนะ ?

ป.ล. 2 น้องที่แสดงเป็นภพตอนวัยรุ่น เสียงเหมือนเวียร์ที่แสดงเป็นภพตอนโตเป๊ะเลย

ป.ล.3 มิว ดิว หลิว มะเดี่ยวชอบสระอิวเป็นพิเศษรึเปล่า ตั้งชื่อตัวละครเป็นสระนี้หลายคนละนะ เรื่องต่อไปจะมีชื่อ จิ๋ว ทิว นิว วิว ซีอิ๊ว หิว มั้ยนะ

(ขอบคุณภาพปกจาก cjmajor.th)