โดย Win Malaiwong

6 มิถุนายน 2016

หนัง LGBT ที่ละทิ้งความโปกฮา เน้นชูปัญหาครอบครัว

 

thai-bl-movie-fathers-2016

ที่มารูป: https://3.bp.blogspot.com

ภาพยนตร์เรื่อง Fathers น่าจะได้รับอิทธิพลไม่มากก็น้อยจากแคมเปญ Bring Carmen Home และการถกเถียงเรื่องพ.ร.บ.คู่ชีวิตที่เป็นประเด็นร้อนเมื่อปีก่อน หนังเรื่องนี้ถ่ายทอดการต่อสู้ของคู่รักเกย์ที่ต้องดิ้นรนมากมายหลายเท่า เพียงเพื่อจะได้มีชีวิตบนบรรทัดฐานเดียวกันของสังคมเหมือนคู่ชายหญิงรักต่างเพศ ในบริบท queer cinema ของสังคมไทย นี่อาจจะเป็นสิ่งแปลกใหม่ ที่ผ่านมาถ้าภาพยนตร์เควียร์ไม่เป็นแนวตลาดเน้นตลกโปกฮา ก็จะออกมาเป็นหนังอาว็อง-การ์ดยากต่อการทำความเข้าใจ แต่หากจะเปรียบเทียบในบริบท global queer cinema หนังเรื่อง Fathers ไม่ได้มีรูปแบบฉีกแนว realism แต่อย่างใด

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังโดดเด่นคือการผูกเรื่องให้พ่อของฝุ่น (ดร.เสรี วงษ์มณฑา) ค้นพบว่าตัวเองเป็นเกย์หลังจากแต่งงานมีลูกแล้ว เป็นเหตุให้ต้องหย่าร้างในเวลาต่อมา เมื่อฝุ่น (อัษฎา พานิชกุล) เติบโตขึ้น ก็ค้นพบว่าตัวเองเป็นเกย์เช่นกัน ฝุ่นสร้างครอบครัวกับยุกต์ (ณัฐ ศักดาทร) และไปรับเด็กกำพร้ามาเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม แต่ลึกๆ แล้วฝุ่นกลัวว่าลูกจะกลายเป็นเกย์เหมือนเขา คนเขียนบทเข้าใจ twist ให้เรื่องซับซ้อน ความเป็นเกย์เป็นทั้งผู้ทำลายและผู้สร้างครอบครัวในคราวเดียวกัน แถมยังตั้งคำถามสำคัญว่าความเป็นเกย์ส่งผ่านจากการเลี้ยงดูได้หรือเปล่า

ยุกต์กล่าวว่าพ่อแม่มีหน้าที่ “เลี้ยงดู” ไม่ใช่ “เลือก” ให้ลูก แต่สภาวะแวดล้อมที่พ่อแม่เป็นเกย์จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกเพศสภาพของเด็กหรือไม่ Fathers เปิดเรื่องด้วยซีนกุ๊กกิ๊กในวันแต่งงานของฝุ่นกับยุกต์ มีพิธีทางศาสนาพระสวดมนต์ให้พรทั้งคู่ท่ามกลางหมู่มิตร แสดงให้เห็นว่าสถาบันทางศาสนา (พุทธ) มีกลไกบางอย่างที่ยอมรับความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกัน ผ่านไปหนึ่งขั้นตอน แต่พอมาถึงเรื่องสถาบันครอบครัว สังคมไทยค่อนข้าง sensitive ไม่ปล่อยผ่านง่ายๆ นักสังคมสงเคราะห์ชื่อรัตติกาล (สินจัย เปล่งพานิช) ยื่นมือเข้ามาจุ้นจ้านจิกไม่ปล่อย เพื่อให้แน่ใจว่าลูกบุญธรรมของทั้งคู่เติบโตขึ้นมาโดยไม่กลายเป็นเด็กมีปัญหา และพยายามขวนขวายหาพาแม่ที่แท้จริงมาพบหน้ากันด้วย

ที่มารูป: https://2.bp.blogspot.com

การแสดงของสินจัยยังท็อปฟอร์มไม่ต้องพูดมาก เปิดตัวมามีความ uptight นั่งหลังตรง หน้าไม่ยิ้ม มือกอดอก สร้างกำแพง แล้วจึงค่อยคลี่คลายแสดงความเข้าอกเข้าใจในตอนท้าย เธอน่าจะถูกจริตกับบทประเภทนี้ รักแห่งสยาม ก็เรื่องหนึ่งแล้ว ฉากเผชิญหน้าระหว่างแม่ตัวจริงกับฝุ่นและยุกต์ก็ตัดต่อได้ดี มีบทสนทนาแต่ไม่นั่งร่วมเฟรมเดียวกัน โต้ตอบกลับไปมาแต่ไม่สบตากัน มีอะไรบางอย่างขวางกั้นการสื่อสาร สุดท้ายรัตติกาลก็ยืนยันว่าเธอเชื่อว่าฝุ่นและยุกต์เป็นพ่อที่ดีได้ แต่เด็กควรมีโอกาสได้พบแม่ จึงจะไม่รู้สึกขาด จากข้อสังเกตของนักทฤษฎีเควียร์ Eve Sedgwick คนมักจะคิดไปเองว่า homosexuality เพียงลำพังไม่สามารถประกอบสร้าง “a healthy self” ความสมบูรณ์ของจิตใจ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจาก heterosexuality ด้วย และถึงแม้ว่าคนในสังคมจะยอมรับและอยู่ร่วมกับความแตกต่างได้มากขึ้น แต่ยังไงก็ยังกังวลลึกๆ ว่าลูกตัวเองจะโตขึ้นมาเป็นเกย์

ที่ย้อนแย้งได้เจ็บแสบมากที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ตัวฝุ่นกลัวว่าลูกจะกลายเป็นเกย์ พ่อของฝุ่นก็เชื่อว่าฝุ่นกลายเป็นเกย์จากการเลี้ยงดูของเขา จึงอยู่ห่างๆ กลัวจะเอาไปติดหลานอีกคน สุดท้ายตัวละครเกย์ทั้งสองคนก็เกลียดกลัวการเป็นคนรักเพศเดียวกัน หากเลือกได้ไม่อยากส่งต่อให้ใคร ตบกลับมาที่ประเด็นถกเถียงว่าการยอมรับจากสังคมกับการยอมรับตนเอง สิ่งไหนควรเกิดขึ้นก่อน ภาพยนตร์เรื่อง Fathers เหมือนจะสื่อว่าการเรียกร้องสิทธิและการสำรวจตนเองสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน